วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) เผยผลสำรวจล่าสุด ณ เดือนมกราคม ปี 2566 ระบุว่า ตลาดธุรกิจสัตว์เลี้ยงในไทย เติบโตสวนกระแสโควิดเป็นอย่างมาก
โดย 49% ของกลุ่มตัวอย่างกลุ่ม มักจะเลี้ยงสัตว์เป็นลูก (Pet Parent) โดยมีค่าใช้จ่ายในการดูแลสัตว์เลี้ยงเฉลี่ยอยู่ที่ 14,200 บาทต่อตัวต่อปี
ผศ.ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร หัวหน้าสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) กล่าวว่า ตลาดธุรกิจสัตว์เลี้ยงมีการเติบโตสวนกระแสโควิด-19 เป็นอย่างมาก
ขณะที่ “ยูโรมอนิเตอร์” หน่วยงามเก็บข้อมูลสถิติระดับโลกคาดการณ์ว่า
ในปี 2026 “ตลาดสัตว์เลี้ยง” ทั่วโลก จะมีมูลค่าสูงถึง 217,615 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 7.2% ซึ่งตลาดสัตว์เลี้ยงในไทยก็เติบโตสอดคล้องไปกับตลาดโลกเช่นกัน
อีกทั้งพบข้อมูลการขึ้นทะเบียนสุนัข-แมวในปัจจุบันระบุว่า เจ้าของพา หมาแมว มาขึ้นทะเบียนจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากในทุกปี แต่ในทางกลับกัน อัตราการเกิดของเด็กในไทยตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา กลับลดลงอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนให้เห็นถึงครอบครัวจำนวนมากที่นิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเพื่อเข้ามาเติมเต็มครอบครัว
จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมในปัจจุบันมีธุรกิจหลากหลายแบรนด์ เลือกที่จะทำการตลาดแนว “Pet Marketing” มากขึ้น เพื่อสื่อสารแบรนด์ถึงกลุ่มคนเลี้ยงสัตว์ นั่นเป็นเพราะว่าไลฟ์สไตล์ของคนยุคนี้ที่นิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงแทนลูก และการที่ผู้บริโภคเห็นภาพโฆษณาที่มีทั้งสัตว์และสินค้าอยู่ในโฆษณาสินค้าใดๆ ก็ตาม ก็จะส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้านั้นๆ มากถึง 43.82% เนื่องจากสัตว์เลี้ยงช่วยดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคยุคนี้ได้อย่างดี
ขณะที่ พัชรพันธุ์ เทียนศิริ นักศึกษาปริญญาโท CMMU ในฐานะหัวหน้าทีมวิจัยชิ้นนี้ กล่าวว่า ทีมวิจัยได้สำรวจเกี่ยวกับ “การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเป็นลูกของคนยุคใหม่” จากกลุ่มตัวอย่างคนไทยจำนวน 1,046 คน โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนเจนเนอเรชันวาย อายุระหว่าง 24 – 41 ปี โดยจากการสำรวจพบว่า เหตุผลที่คนไทยนิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงในปัจจุบัน คือ
- 49% ของกลุ่มตัวอย่าง ต้องการเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นลูก (Pet Parent)
- 34% ของกลุ่มตัวอย่าง ต้องการเลี้ยงสัตว์เพื่อสถานะทางสังคม (Pet Prestige)
- 18% ของกลุ่มตัวอย่าง ต้องการเลี้ยงสัตว์เพื่อช่วยเหลือและบำบัดรักษา (Pet Healing)
อีกทั้งยังพบข้อมูลเกี่ยวกับประเภทสัตว์เลี้ยงที่คนไทยในกลุ่มคนรุ่นใหม่นิยมเลี้ยงมากที่สุด เรียงจากมากไปน้อย โดยผลสำรวจชี้ว่า
- อันดับ 1 คนไทยเลี้ยงสุนัขมากที่สุด คิดเป็น 40.4%
- อันดับ 2 คนไทยเลี้ยงแมวรองลงมา คิดเป็น 37.1%
- อันดับ 3 คนไทยเลี้ยงสัตว์เอ็กโซติกน้อยที่สุด คิดเป็น 22.6%
ขณะที่ผลสำรวจเกี่ยวกับ “ค่าใช้จ่าย” ในการเลี้ยงสัตว์แบบทั่วๆ ไป พบว่า 39.3% ของกลุ่มตัวอย่าง ระบุว่ามีค่าใช้จ่ายอาหารสัตว์ต่อเดือนอยู่ที่ 1,001 – 2,000 บาท แต่ถ้าในกลุ่มเจ้าของที่ “เลี้ยงสัตว์เป็นลูก” จะยิ่งยอมจ่ายค่าดูแลสัตว์เลี้ยงมากขึ้น โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 14,200 บาทต่อตัวต่อปี
โดยบริการยอดฮิตที่เหล่าทาสเลือกใช้งานมากที่สุด คือ อาบน้ำตัดขนที่มีสัดส่วนสูงถึง 61% ของบริการเกี่ยวกับสัตว์ทั้งหมด
จากข้อมูลสถิติข้างต้น ทีมวิจัยได้นำมาพัฒนาเป็นกลยุทธ์ที่เรียกว่า “PETSUMER” เพื่อเป็นข้อแนะนำให้ผู้ประกอบการในสายธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง ได้นำไปปรับใช้ในการดึงดูดลูกค้ากลุ่มนิยมเลี้ยงสัตว์เป็นลูกได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น
- การมีสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะด้านของผู้บริโภค (Personalization)
- สินค้าต้องเข้าถึงง่าย (Easy Access)
- สินค้าต้องมีคุณภาพ น่าเชื่อถือ น่าไว้วางใจ (Trustworthiness)
- สินค้าต้องมีความโดดเด่นและเป็นที่จดจำ (Uniqueness) เป็นต้น
เรียกว่าเป็นข้อมูลที่น่าสนใจไม่น้อย และน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจหน้าใหม่ ที่เพิ่งจะหันมาจับธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง โดยสามารถนำข้อมูลเชิงลึกจากผลวิจัยชิ้นนี้ไปปรับสร้างกลยุทธ์เพื่อต่อยอดให้ธุรกิจเติบโตและก้าวหน้าได้มากขึ้น