จากที่ thumbsup เคยรายงานไปว่ากระทรวง ICT ได้ลงเงินถึง 10.7 ล้านบาทเพื่อแปลบทความภาษาอังกฤษมาลงวิกิพีเดียไทย ซึ่งปัจจุบันมีบทความไทยอยู่ราว? 65,000 บทความด้วยน้ำพักน้ำแรงของอาสาสมัครคนไทยที่เรียกตัวเองว่า “วิกิพีเดียน” แต่กระนั้นพลังของเราก็ยังไม่ถึง เพราะหลังจากมาตรวจสอบจำนวนบทความของประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างเวียดนาม และอินโดนีเซียก็แซงไปมากแล้วด้วยจำนวนเกินกว่า 200,000 บทความ เราจึงเสียเปรียบในแง่ที่ว่าคนไทยจะมีช่องทางในการเข้าถึงความรู้ต่างๆ ทางกระทรวง ICT เลยยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือด้วยการทุ่มงบประมาณกว่า 10.7 ล้านบาทเพื่อขจัดอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เป็นความรู้บนวิกิพีเดีย
ดูอย่างนี้แล้วก็น่าจะเป็นความตั้งใจดีของกระทรวง ICT ที่จะให้เมืองไทยมีบทความเพิ่มอีก 30 ล้านบทความ (ข่าวจากประชาชาติธุรกิจ) แต่ประเด็นที่น่าสนใจและชวนให้คิดก็คือ ทำไมกระทรวง ICT ถึงให้ข้อมูลต่างๆ ที่แปลด้วยเครื่องแบบเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้างนั้นขึ้นไปอยู่ในเว็บไซต์ AsiaOnline? ซึ่งหมายความว่า อาสาสมัคร “วิกิพีเดียน” ไม่สามารถนำความรู้นี้ไปต่อยอดได้ในทันที แต่ทาง AsiaOnline (ยังไม่ต้องพูดถึงประเด็นสัญชาติบริษัท) กลับเป็นผู้นำการแปลนี้เสียเอง ภาพด้านล่างนี้คือขั้นตอนการแปลบน AsiaOnline
thumbsup พยายามเข้าไปสังเกตดูการทำงานของ AsiaOnline กับกระทรวง ICT ที่ใช้เงินภาษีของเราๆ ท่านๆ กว่า 10.7 ล้านบาทเพื่อโครงการเพื่อสังคม โดยลองเสิร์ชคำว่า “Harry Potter” ก็พบเพียงบทความที่แปลมาจากเครื่องที่อ่านเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง http://th.asiaonline.com/article?article=Harry_potter และทั้งหมดนี้ไม่มีการติดตามจากสื่อกระแสหลักเลยว่าตอนนี้ AsiaOnline ทำงานอย่างไร กระทรวง ICT มีการติดตามผลงานตรงนี้ไหม?
และอีกจุดที่น่าสนใจคือ นอกจาก “วิกิพีเดียน” จะต่อยอดไม่ได้แล้ว AsiaOnline ยังสามารถขายโฆษณาบนเว็บไซต์ได้ด้วย
ในฐานะคนใช้อินเทอร์เน็ต ความรู้เหล่านี้ควรจะเป็นความรู้ที่เก็บอยู่บนวิกิพีเดียเพื่อให้คนไทยได้ต่อยอดทางความรู้ ไม่ใช่อยู่บนแพลตฟอร์มเพื่อการค้า ที่คนทั่วไปเข้าไปช่วยแปลด้วยจุดประสงค์อะไร เพื่อการกุศลอย่างวิกิพีเดียก็ไม่ใช่ แล้วคุณล่ะคิดอย่างไร?