พอเรารายงานเรื่องวิกิพีเดียไปได้ไม่นานก็มีข่าวแนวนี้เพิ่มขึ้นมา คราวนี้เป็นเรื่องระหว่างไอซีทีที่รักของเรากับวิกิพีเดีย
มีการรายงานข่าวจากสื่อกระแสหลักวานนี้ว่า กระทรวงไอซีทีทุ่มงบประมาณ 10.7 ล้านบาท จัดจ้างบริษัท “เอเชียออนไลน์” แปล “วิกิพีเดีย” สารานุกรมเสรีเป็นภาษาไทย ด้วยระบบอัตโนมัติของตนเอง ทั้งนี้เพื่อเพิ่มอัตราการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน ควบคู่ไปกับการทำโครงการบรอดแบนด์แห่งชาติ
เหตุที่ไอซีทีลงทุนในเรื่องนี้เป็นเพราะ ปัจจุบันเนื้อหาในโลกอินเทอร์เน็ตมีน้อย ยิ่งเฉพาะส่วนที่เป็นความรู้ยิ่งน้อยใหญ่ ไอซีทีจึงเล็งมาที่วิกิพีเดีย ซึ่งเป็นแหล่งความรู้ที่มีภาษาไทยอยู่มาก แต่กระนั้นก็มีแค่ 63,000 บทความ หรือ 1.8% เท่านั้น ไอซีทีจึงตั้งเป้าจะเพิ่มบทความในหน้าเว็บภาษาไทยให้เป็น 100 ล้านหน้าใน 2 ปีข้างหน้า ซึ่งก็ดูเป็นแนวคิดที่น่าสนใจดี
อย่างไรก็ตามในฐานะ “watch dog” พอเกิดเรื่องนี้ขึ้น thumbsup จึงได้พยายามสืบสาวราวเรื่องว่ามันมีที่มาที่ไปอย่างไร เพราะประชาชนมีสิทธิ์ที่จะตรวจสอบความเคลื่อนไหวในการทำงานของรัฐบาลอยู่แล้ว ปรากฏว่าก็มีเสียงคัดค้านเล็กๆ เรื่งอนี้อยู่บ้างใน Pantip โดยคุณ Blinding และมีการพูดคุยกันใน Blognone อย่างออกรส โดยเฉพาะประเด็นต่อไปนี้
1. การควบคุมคุณภาพของเนื้อหาที่จะแปลผ่านเครื่องมืออัตโนมัติ
2. การจัดเก็บข้อมูลที่ไม่ได้เก็บไว้บนวิกิพีเีดีย
หลายคนอาจจะเห็นว่า จะไปแคร์อะไร? มันก็แค่ความเห็นของคนๆ หนึ่งในเว็บบอร์ด แต่เรากลับมองว่านี่เป็นประเด็นที่น่าขบคิด เพราะการลงเงินไป 10.7 ล้านบาท แล้วทำไมเราไม่จัดเก็บเนื้อหาเอาไว้ในวิกิพีเดียเพื่อให้คนไทยเข้าไป “ร่วมสร้าง” และ “ต่อยอด” ได้ถูกต้องต่อไป ทำไมต้องเอาไปเก็บไว้ที่เว็บไซต์เอเชียออนไลน์ ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจได้ว่าเขาจะแปลภาษาอังกฤษเป็นไทยออกมาได้มีคุณภาพแค่ไหน
แล้วคุณล่ะ คิดอย่างไร?