เนื่องจากเป็นแฟนคลับแบรนด์ IKEA เราจึงอดไม่ได้ที่จะตกใจเมื่อเห็นโพสต์แบบนี้จากแบรนด์ที่เราชื่นชม ใครจะไปคิดว่าอยู่ดีๆ ก็มีฟอนต์ Tahoma สีขาวขอบสีดำอยู่บนรูปภาพที่ถูกโพสต์ในนามเพจ IKEA Thailand
หลังจากเอามือทาบอกไปแล้ว 8 รอบ เราก็พบว่า มันเป็นความตั้งใจของ IKEA ที่อยากสร้างกิจกรรมให้แฟนเพจเข้ามาร่วมสนุก และมีส่วนร่วมในการสร้างคอนเทนต์ที่เราเรียกกันว่า User-generated content โดยนำเสนอในรูปแบบของ meme หรือภาพล้อเลียนที่เป็นกระแสอยู่ในโลกโซเชียล
กิจกรรมดังกล่าวมีชื่อว่า “ถามสนุกทุกเรื่องครัว” กติกาไม่มีอะไรซับซ้อน เพียงแค่ให้แฟนเพจถามอะไรก็ได้เกี่ยวกับเรื่องครัว แล้ว IKEA จะตอบด้วย meme แบบคอมเมนต์ต่อคอมเมนต์ คำถามของใครสร้างสรรค์และสนุกที่สุด จะได้รับรางวัล
สำหรับใครที่เป็นคนทำคอนเทนต์ คำถามแรกที่มักจะผุดขึ้นมาเสมอในตอนที่เราวางแผนทำคอนเทนต์ก็คือ กลุ่มเป้าหมายของเราอยากรู้อะไร? หรือคอนเทนต์ของเราจะช่วยให้ชีวิตของพวกเขาง่ายขึ้นได้ไหม? และหลายต่อหลายครั้งที่เราอยากพูดไปตรงๆ ว่า “อ่ะ คุณอยากรู้อะไรกันบ้าง ช่วยบอกพวกเรามาเถอะ เราจะเอามันมาสร้างคอนเทนต์ให้คุณได้เสพกัน”
แต่เราก็ทำแบบนั้นไม่ได้ จะให้ทำโฟกัสกรุ๊ป สร้างแบบสอบถาม หรือสัมภาษณ์อย่างเป็นเรื่องเป็นราว เราก็มักจะถูกจำกัดด้วยงบประมาณและระยะเวลาในการทำงาน จนบางครั้งการทำ content strategy ก็ไม่ต่างอะไรจากการเดาสุ่ม เราอาจเกิดความลังเลว่ากลุยุทธ์ของเราคมพอหรือไม่ แต่เราก็ต้องลุย
กิจกรรมนี้ของ Ikea จึงตอบโจทย์คนทำคอนเทนต์เองด้วยเช่นกัน อยากรู้อะไรก็ถามตรงๆ เสร็จแล้วก็เอาคำถามมาเปลี่ยนเป็นคอนเทนต์ที่สื่อสารกลับไปหาแฟนเพจแบบเฉพาะตัว เป็นคอนเทนต์ที่ผ่านการปรับแต่ง หรือ customize มาแล้ว สำหรับคนๆ นั้นโดยเฉพาะ
แล้วแบรนด์จะได้อะไรจากกิจกรรมแบบนี้ หรือแนวทางการสร้างคอนเทนต์แบบนี้? ไม่นับเรื่อง Engagement บนโซเชียลมีเดีย สิ่งที่ Ikea จะได้ก็คือข้อมูลอินไซท์ที่แฟนเพจทุกคนพร้อมใจกันส่งเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นเพราะมีของรางวัลล่อใจ อยากดูว่าแอดมินจะตอบกลับอย่างไร หรือจะเป็นเรื่องที่อยากรู้คำตอบจริงๆ ก็ตาม
แต่สิ่งที่ Ikea ทำทั้งหมดนั่นก็คือการได้ข้อมูลจากกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งมีค่ามหาศาลในทางการตลาด เพราะไม่ว่าอย่างไร ธุรกิจจะต้องถูกขับเคลื่อนด้วยความต้องการของลูกค้า และกลุ่มคนที่มีแนวโน้มจะเป็นลูกค้าอยู่เสมอ
แม้ในเนื้อหาบางอันจะดูสองแง่สองง่ามไปบ้าง กิจกรรมนี้มันก็ยังมีความน่าสนใจอยู่ดี ด้วยรูปภาพแบบอิเกียสไตล์กับประโยคขำๆ ที่ผ่านการคิดมาแล้วว่ามันจะไปกันได้กับแต่ละคำถาม และถึงแม้จะไม่มีคำถาม มันก็ยังเป็นการโฆษณาสินค้าของ Ikea ได้ด้วยตัวมันเอง
ยิ่งมาประกอบกับฟอนต์ Tahoma แบบนี้ ที่เห็นแล้วรู้เลยว่าเป็น meme ตั้งแต่ระยะ 100 เมตร เราจึงอดไม่ได้ที่จะตั้งใจมองมัน เพราะสมองของเราเรียนรู้มาว่า องค์ประกอบแบบนี้คือที่มาของความขำ เพราะ meme ส่วนมากใช้แนวทางการนำเสนอแบบนี้ โดยเฉพาะของฝรั่งที่ใครใช้ Facebook ก็น่าจะคุ้นๆ ตาในสไตล์นี้บ้าง
ทั้งหมดนี้เป็นความเห็นส่วนตัวในฐานะคนทำคอนเทนต์คนหนึ่ง ใครอ่านแล้วมีความคิดเห็นอย่างไร ลองมาแลกเปลี่ยนกันดูนะคะ