เรียกว่าเป็นยุคทองของแอพฟรีที่เน้นหารายได้จากการซื้อสินค้าหรือบริการในแอพ (In-App Purchase) อย่างแท้จริง สถิติล่าสุดพบว่ารายได้ 76% จากร้าน iPhone App Store ในสหรัฐฯช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั้นเป็นรายได้จาก In-App Purchase แถมสถิติ In-App Purchase ยังทุบสถิติสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ในเอเชีย ด้วยสัดส่วนรายได้มากกว่า 90%
เฉพาะตลาดสหรัฐฯ ตัวเลข In-App Purchase ช่วงเดือนมกราคม 2012 นั้นยังไม่เติบโตชัดเจนเช่นนี้ โดยพบว่ารายได้ของ iPhone App Store นั้นคิดเป็นรายได้จาก In-App Purchase ราว 53% ปรากฏว่าสัดส่วนนี้เพิ่มเป็น 76% เมื่อเดือนที่แล้ว
เช่นเดียวกับตลาดเอเชีย การสำรวจพบว่าในฮ่องกง ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ รายได้ของ iPhone App Store ในพื้นที่เหล่านี้คิดเป็นรายได้จาก In-App Purchase ถึง 90%
ต้องยอมรับว่าข่าวนี้สะท้อนหนทางเพิ่มรายได้ของนักพัฒนาแอพได้ดี โดยข้อมูลเหล่านี้ถูกรวบรวมโดยบริษัทวิเคราะห์การตลาด Distimo ซึ่งทำให้เห็นว่า In-App Purchase เป็นรูปแบบการทำรายได้ของนักพัฒนาแอพที่โดดเด่นมาก ในวันที่นักพัฒนาแอพมองว่าช่วงเวลานี้ยากลำบากพอสมควร เพราะจำนวนแอพบน App Store ที่มีมากกว่า 800,000 แอพ ทำให้โอกาสที่แอพของแต่ละคนจะถูกค้นหาเจอโดยผู้ใช้นั้นน้อยลง
ข้อมูลของ Distimo แสดงว่าการทำรายได้จากการขายแอพแบบเดิมนั้นมีอัตราประสบความสำเร็จน้อย เพราะผู้ใช้เลือกที่จะใช้แอพที่ไม่เสียเงิน บวกกับนโยบายของแอปเปิลที่เปิดให้ผู้ใช้สามารถทดลองใช้แอพก่อนที่จะจ่ายเงินได้
Distimo แยกรูปแบบการทำเงินของแอพบน iPhone ออกเป็น 3 รูปแบบหลัก ได้แก่ รายได้ที่เกิดขึ้นจาก In-App Purchase ในแอพฟรี (มีชื่อเรียกว่า Freemium), รายได้จากการขายแอพ และรายได้จาก In-App Purchase ในแอพที่ผู้ใช้ซื้อมา โดยรูปแบบ Freemium สามารถทำเงินได้สูงสุดถึง 71% ขณะที่แอพพลิเคชันที่ขายและทำรายได้จาก In-App Purchase สามารถทำเงินได้เพียง 5% น้อยกว่ารายได้ของแอพที่ขายแอพอย่างเดียวที่ครองสัดส่วน 24%
ที่สำคัญคือในกลุ่มแอพที่ทำรายได้มากที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์ แอพพลิเคชันราว 170 ตัว (จากจำนวนทั้งหมด 250 ตัว) ใช้รูปแบบแอพฟรีที่ทำรายได้จาก In-App Purchase
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้แอพ Freemium จะเป็นที่นิยม แต่เมื่อเทียบกับการทำเงินรูปแบบอื่นแล้ว รายได้รวมเมื่อเฉลี่ยกับจำนวนดาวน์โหลด (Average revenue per download) หรือ ARPDs ก็พบว่ารูปแบบนี้สร้างรายได้เฉลี่ยเพียง 0.93 เหรียญสหรัฐฯ?เท่านั้น เทียบกับแอพที่ขายและทำรายได้จาก IAP ที่มีค่าเฉลี่ยที่ 2.46 เหรียญสหรัฐฯ และแอพที่ขายแอพอย่างเดียวที่เฉลี่ย 2.25?เหรียญสหรัฐฯ
สรุปแล้วแต่ละรูปแบบล้วนมีข้อดีต่างกัน ดังนั้นคงจะไม่เข้าท่าถ้านักพัฒนายังยึดติดกับรูปแบบการหารายได้จากแอพแบบเก่าๆ ขอเพียงศึกษาและลองเลือกวิธีที่น่าจะใช่สำหรับคุณ ได้ผลอย่างไรอย่าลืมมาแชร์ให้เรารู้บ้างนะ
ที่มา : Techcrunch