เรารู้ดีว่า “บังกาลอร์” ของอินเดียคือเมืองแชมเปี้ยนในเวทีเอาท์ซอร์สที่ธุรกิจทั่วโลกเลือกเป็นปลายทางในการโยนงานบางส่วนออกมาให้บริษัทอื่นทำ แต่ความน่าสนใจอยู่ที่อันดับที่ 2 ของตาราง เพราะ “มะนิลา” ของฟิลิปปินส์สามารถแซง “มุมไบ” ได้แล้ว หลังจากที่ไล่ตามมาตลอดในปี 2013
ความสำเร็จของฟิลิปปินส์ในครั้งนี้สะท้อนทิศทางการเติบโตของตลาดเอาท์ซอร์สกระบวนการทางธุรกิจหรือ business process outsourcing (BPO) ในเอเชียและทั่วโลกได้ดี ที่ผ่านมา ทั้งอินเดียและฟิลิปปินส์ต่างเป็นตลาดสำคัญของงานเอาท์ซอร์สซึ่งได้แก่งานศูนย์ช่วยเหลือทางโทรศัพท์หรือ Call Center หรืองานรับจ้างเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้คือการเทน้ำหนักไปที่ฟิลิปปินส์ที่กำลังมีการเติบโตอย่างน่าสนใจ
การสำรวจของบริษัทที่ปรึกษา Tholons พบว่า 8 ใน 100 เมืองยอดฮิตที่ธุรกิจทั่วโลกเลือกใช้บริการเอาท์ซอร์สนั้นเป็นเมืองในอินเดียและฟิลิปปินส์ โดยบังกาลอร์ครองแชมป์ในปี 2014 ไม่เปลี่ยนแปลงจากปี 2013 ที่ผ่านมา รองลงมาเป็นมะนิลาที่เคยอยู่อันดับ 3 ในปีที่แล้ว ทำให้เมืองมุมไบตกไปอยู่อันดับที่ 3 ของตารางปีนี้แทน
นอกจากมะนิลา เมืองเซบูของฟิลิปปินส์คือ 1 ใน 2 เมืองที่สามารถแทรกตัวในชาร์จ Top 8 ได้ (6 ใน 8 เมืองของตารางนี้ล้วนอยู่ในอินเดีย) รายละเอียดตารางอยู่ที่ด้านล่าง
อย่างไรก็ตาม ตลาด BPO ของอินเดียนั้นยังห่างชั้นกว่าฟิลิปปินส์อีกมาก เพราะข้อมูลปี 2012 ระบุว่าประชากรอินเดียถูกจ้างงานในธุรกิจ BPO นี้มากกว่า 2.8 ล้านคน ขณะที่ฟิลิปปินส์ถูกบันทึกสถิติไว้ที่ 750,000 คนเท่านั้น
สิ่งที่สามารถสรุปได้จากข่าวนี้คือเม็ดเงินในตลาด BPO จะหลั่งไหลเข้าสู่อินเดียและฟิลิปปินส์มากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุดนี้ข้อมูลจากสำนักงานกำกับดูแลธุรกิจสารสนเทศของอินเดียอย่าง NASSCOM พบว่าหน่วยธุรกิจนี้จะสร้างเงินให้อินเดียเกิน 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2020 ขณะที่ฟิลิปปินส์ตั้งความหวังไว้ที่ 2.74 หมื่นล้านในปี 2016 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า
หน่วยงานไทยฟังแล้วอย่าเพิ่งท้อถอยแต่ต้องหันมาเร่งมือส่งเสริมการศึกษาไทยให้มากขึ้น เนื่องจากตลาดนี้ยังเปิดกว้างรับผู้เล่นหน้าใหม่เสมอ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือจีนซึ่งถือว่าเป็นผู้เล่นรายใหม่ที่มีโอกาสเติบโตสูงมากนอกเหนือจากอินเดียและฟิลิปปินส์ โดยเมืองใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง ต้าเหลียน และเซินเจิ้นนั้นนั่งเก้าอี้อันดับที่ 11, 12, 14 และ 15 ตามลำดับ ทั้งหมดนี้ทำให้รายได้จากธุรกิจ BPO ของจีนนั้นเพิ่มขึ้นมากกว่า 10% ในปี 2013 ที่ผ่านมา
ประเทศไทยจะทำได้หรือเปล่า เพราะส่วนใหญ่เราก็พูดกันแต่ภาษาไทย ในขณะที่ประเทศที่จ้างงานเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นตะวันตก คุณมีความคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้ มาแลกเปลี่ยนกันด้วยการคุยกันด้านล่างนี้นะครับ
ที่มา: Tech in Asia