นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยหรือเงินเฟ้อทั่วไป เดือนส.ค. 2565 เท่ากับ 107.46 ใกล้เคียงกับเดือนที่ผ่านมาซึ่งเท่ากับ 107.41 โดยมีอัตราการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาฯ เพิ่มขึ้นเพียง 0.05 %
และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของส.ค. 2565 อยู่ที่ 7.86 % ซึ่งขยายตัวใกล้เคียงกับเดือนก.ค. 2565 ซึ่งสูงขึ้น 7.61% และคาดว่าเงินเฟ้อของไทยน่าจะถึงจุดสูงสุดแล้ว เหตุผลเนื่องจากในช่วงระยะ 3 เดือนที่ผ่านมา การขึ้นของเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน หรืออย่างน้อยอัตราเงินเฟ้อ ขณะที่ภาพรวม 7 เดือนเฉลี่ย 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.) ปี 2565 สูงขึ้น 6.14 %
ปัจจัยสำคัญต่ออัตราเงินเฟ้อยังคงเป็นราคาพลังงานที่เติบโตถึง 30.50 % แม้ราคาน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์จะปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้า แต่ราคาน้ำมันดีเซล ก๊าซหุงต้ม และค่าไฟฟ้า ซึ่งเป็นต้นทุนการขนส่งและต้นทุนการผลิตที่สำคัญยังคงสูงขึ้น รวมทั้งค่าบริการ อาทิ ค่าโดยสารสาธารณะ และค่าการศึกษาที่ปรับสูงขึ้น ส่งผลให้สินค้าในหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 6.83%
สำหรับสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เติบโต 9.35% ราคาปรับสูงขึ้นเนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในหลายจังหวัด แบะราคาปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนการผลิต ราคาวัตถุดิบ และค่าขนส่ง นอกจากนี้ อุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น และฐานดัชนีราคาฯ ที่ใช้คำนวณอัตราเงินเฟ้อในเดือนเดียวกันของปีก่อนค่อนข้างต่ำ ถือเป็นการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในทางเทคนิคสำหรับเงินเฟ้อในเดือนนี้
นายรณรงค์ กล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อเดือนก.ย.2565 คาดว่าจะเริ่มปรับลดลง โดยมีปัจจัยภายนอกที่ต้องติดตาม เช่น ความตรึงเครียดในภูมิภาคต่าง ๆ การสู้รบไม่เพิ่มขึ้น ต้นทุนสินค้านำเข้าบางชนิดไม่เพิ่มขึ้น เงินบาทจะอ่อนค่าแค่ไหน จากการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ราคาพลังงานปลายปี จะเพิ่มขึ้นหรือไม่ จากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น และการส่งออกพลังงานของรัสเซียจะเป็นอย่างไร ส่วนปัจจัยภายใน ราคาสินค้าและบริการ ทยอยปรับเพิ่มขึ้น โดยผู้ผลิตยอมรับได้ ผู้บริโภคไม่กระทบเกินไป ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงต่อเนื่อง แม้ดีเซลยังไม่ลด และฐานเงินเฟ้อปีที่แล้วอยู่ในระดับสูง เงินเฟ้อตั้งแต่ต.ค.-ธ.ค.2565 น่าจะเพิ่มขึ้นไม่มาก และมาตรการช่วยลดค่าครองชีพของรัฐบาลยังมีต่อเนื่อง
ทั้งนี้ มีปัจจัยเสี่ยงที่นอกเหนือจากสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น ราคาพลังงานดีดตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล ก๊าซธรรมชาติ และค่าไฟฟ้า ส่งผลต่อต้นทุนการขนส่งและการผลิตสินค้า รวมทั้งความรุนแรงของอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้น จะทำให้ผักสดขาดแคลนและราคาเพิ่มขึ้น และการปรับขึ้นค่าแรง ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565 ที่ต้องติดตามผลกระทบว่าจะมีมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งบางบริษัทที่เป็นบริษัทต่างชาติ มีแนวโน้มจะปรับขึ้นราคาสินค้าตามบริษัทแม่ในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า
สำหรับเป้าหมายเงินเฟ้อทั้งปี 2565 ยังคงที่ประเมินไว้ใหม่ คือ 5.5-6.5% มีค่ากลาง 6% ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ และการคาดการณ์เงินเฟ้อของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของไทย โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมิน 4.2-5.5% ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 6.2% สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) 6.5% คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) 5-7% ธนาคารพาณิชย์ ประเมิน 5.2-6% และธนาคารโลก 5.2% เป็นต้น