กระแสอินฟลูเอนเซอร์ยังคงมาแรงขึ้นทุกปี และแบรนด์ส่วนใหญ่ก็ยังต้องการที่จะลงโฆษณากับเหล่าผู้นำความคิดเหล่านี้ให้มากขึ้น คุณบี สโรจ เลาหศิริ Chief Marketing Officer ของ Rabbit Digital Group ที่ดูแลเรื่องกลยุทธ์และการตลาด และเจ้าของเพจ สโรจขบคิดการตลาด เกี่ยวกับเทคนิคในการทำคอนเทนต์ให้โดนใจลูกค้า บนเวที iCreator Meetup ครั้งที่ 6 Content Trends 2020 โดยทีมงาน Rainmaker คอมมูนิตี้ของคนทำคอนเทนต์ ได้สรุปข้อมูลเด่นๆ ให้นำไปปรับใช้มากมายเลยค่ะ
แบรนด์ชอบใช้งาน Influencer
ปัจจุบัน Influencer กลายมาเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญในการแนะนำสินค้าและกระตุ้นให้แบรนด์ได้รับความสนใจมากขึ้น ซึ่งแบรนด์เองก็ยังต้องการทำความรู้จักคนกลุ่มนี้เพื่อวางแผนกลยุทธ์ในการทำตลาดให้ตรงจุดมากขึ้น โดย DAAT ได้สรุปมูลค่าตลาดของ Inflencer ไว้ดังนี้
จากภาพจะเห็นได้ว่า ภาพรวมการใช้จ่ายงานโฆษณายังคงมีการเติบโตขึ้นต่อเนื่อง แม้มูลค่าเม็ดเงินจะมีสัดส่วนน้อยกว่าปี 2018 ก็ตาม แต่โดยรวมยังมีมูลค่าแตะ 20,163 ล้านบาท และ Facebook ยังคงเป็นคอนเทนต์ที่มีการใช้จ่ายสูงถึง 4,084 ล้านบาท แต่ตัวเลขนี้ยังไม่รวมการจ้างงาน Influencer ที่ไม่ได้มีการลงรายละเอียดด้านเม็ดเงินการจ้างงานที่ชัดเจน เพราะรูปแบบการจ้างงานยังมีความหลากหลาย
นอกจากนี้ Tik-Tok และ Pinterest เป็นแพลตฟอร์มที่น่าจับตามอง และรูปแบบคอนเทนต์แบบ Wellness ยังคงเป็นหนึ่งในรูปแบบคอนเทนต์ที่คนสนใจมาก ทำให้แบรนด์เข้าถึงเหล่าอินฟลูเอนเซอร์โดยตรงมากกว่าจ้างผ่านเอเจนซี่
Trend ของ Content Marketing
เรื่องของการทำคอนเทนต์มาร์เก็ตติ้งนั้น ยังคงเป็นสิ่งที่แบรนด์คาดหวังจากเหล่าอินฟลูเอนเซอร์อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การทำงานร่วมกันของแบรนด์และอินฟลูเอนเซอร์ต่างฝ่ายต่างคาดหวังอะไรกันบ้าง
- แบรนด์และเอเจนซี่เริ่มมอง ROI (ลงทุนไปแล้วได้อะไร ได้เท่าไหร่ กี่บาท) ในกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์แล้ว ว่าการลงทุนนั้น ได้ Conversion (เปลี่ยนคนดูเป็นยอดขาย) กลับมามากน้อยแค่ไหน แน่นอนว่าทั้งแบรนด์และนักการตลาดอาจไม่ได้ต้องการแค่ Reach หรือ Engagement เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป การเอ่ยชื่อแบรนด์ ขึ้น logo หรือ Sponsorship ก็อาจไม่ใช่โมเดลที่เวิร์ค
- Data Proven ต้องทำได้จริงไม่ใช่แค่พูดลอยๆ ความสามารถของอินฟลูเอนเซอร์จะไม่ได้มาจากหน้าตาหรือความชอบส่วนตัว แต่ต้องมีข้อมูลเชิงลึกมาประเมินด้วย ไม่ว่าจะเป็น ยอดผู้ติดตาม (Follower) ยอดการเข้าถึง (Reach) การมีส่วนร่วม (Engagement) หากมีจำนวนที่เยอะแต่ไม่ช่วยกระตุ้นการขาย (Conversion) ได้ ก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่น่าสนใจแล้ว
- ถ้าไม่เจอคนที่ใช่ ก็สร้างขึ้นมาเองซะเลย เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่แบรนด์เริ่มนำมาปรับใช้ในการสร้างโอกาสทางการขาย เพราะอินฟลูเอนเซอร์ที่สร้างมาเองแบบนี้ ขายของได้ดีและตรงใจมากกว่า
- อินฟลูเอนเซอร์แบบ All-in-one ทำได้ทุกอย่างไม่ต้องจ้างแยก ก็เป็นอีกหนึ่งที่แบรนด์ต้องการคือ บอกแค่โจทย์ ที่เหลือเป็นขั้นตอนของอินฟลูเอนเซอร์ นั่นคือ คิดงาน เขียนโพสต์ ถ่ายรูปหรือวีดีโอ ออกงานและตัดต่อภาพออกมาได้เลย เรียกว่าทำงานได้แบบฟูลทีมในการจ้างครั้งเดียว
- จ้างตรงไม่ผ่านเอเจนซี่ เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งการซื้อโฆษณาแบบไม่ต้องดีลแบบ media buying อย่างเดียว
แพลตฟอร์มตัวกลางทำงานได้ดี
ความสัมพันธ์ระหว่าง แบรนด์ กับ อินฟลูเอนเซอร์ คือการจ้างผ่านแพลตฟอร์มอย่าง tellscore และ Revu ที่ดูแลเฉพาะกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์โดยเฉพาะก็เป็นเรื่องที่แบรนด์สนใจมากขึ้น เพราะบางครั้งแบรนด์อาจจะไม่ได้รู้จักหรือเข้าใจพฤติกรรมของอินฟลูเอนเซอร์ได้ดีนัก การมีตัวกลางจะช่วยวิเคราะห์ความเหมาะสมและเข้าถึง Local Influencer ได้ดีกว่า เพราะมีการจ้างปั้นอินฟลูเอนเซอร์แบบท้องถิ่นช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวได้ดีแบบเคส Journey D คลิปด้านล่างนี้
นอกจากนี้ แบรนด์เองก็สนใจอยากเป็น Influencer เองด้วยเช่นกัน แม้รูปแบบอาจจะไม่เหมือนกับการทำคอนเทนต์แบบแบรนด์ที่เน้นการขายและโฆษณา แต่จะเน้นการรีวิว ทำคลิปตลกสนุกสนานหรือให้ความรู้เพื่อให้คนเข้ามามีส่วนร่วมและสนุกไปกับแบรนด์มากขึ้น เล่าเรื่องเพื่อเข้าใจภาพลักษณ์ของแบรนด์มากขึ้น อย่างเช่นเคสแฟชั่นของพนักงาน MK กับ แฟชั่นดีไซเนอร์อย่าง Millin
ทั้งนี้ สิ่งที่อินฟลูเอนเซอร์ควรรู้คือ เข้าใจใน Value ของเราเองก่อนว่ามีจุดเด่นอะไร การได้มาของยอด Likes, Share, Reach และ Engagement มาจากอะไร เข้าไปดูข้อมูล Insight บนโซเชียลต่างๆ บ้างจะได้คิดมุกดีๆ ออกมานำเสนอ แก้ปัญหาสมองตันและหาแนวทางใหม่ๆ ในการทำงานกับลูกค้าเสมอ ควรเตรียมข้อมูลต่างๆ ให้พร้อม เข้าหาแบรนด์โดยตรงและรู้จักวิธีการทำงานของ Influencer Platform บ้าง เพราะช่องทางเหล่านี้จะมีเครื่องมือ ข้อมูลและเทคนิคดีๆ มาแนะนำ รวมทั้งอย่าตื่นกล้วว่าแบรนด์ที่ทำอินฟลูเอนเซอร์เองจะกลายมาเป็นคู่แข่งกับเรา หากเราเจ๋งพอและมีความสามารถ ไม่ว่าแบรนด์ไหนก็สนใจอยู่แล้ว
ที่มา : Rainmaker