Site icon Thumbsup

ผลสำรวจและทิศทางของการตลาดอินฟลูเอนเซอร์ในปี 2568

วีโร่ (Vero) บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำด้านการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ และการตลาดดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้สำรวจความเป็นไปของอินฟลูเอนเซอร์ในยุคปัจจุบันและแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในปี 2568 หลังพบว่า การตลาดอินฟลูเอนเซอร์กลายมาเป็นกลยุทธ์สำคัญในการทำการตลาดของแบรนด์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทั้งนี้ ผลวิจัยฉบับใหม่หัวข้อ “ผลกระทบ การมีส่วนร่วม และอนาคตของการตลาดอินฟลูเอนเซอร์: มุมมองจากอินฟลูเอนเซอร์ (“Impact, Engagement, and the Future of Influencer Marketing: Insights from Influencers”)” เก็บข้อมูลจากอินฟลูเอนเซอร์เกือบ 150 คนในอินโดนีเซีย ไทย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม โดยครอบคลุมช่วงอายุ ประสบการณ์ กลุ่มเนื้อหา และฐานผู้ติดตาม

ผลสำรวจนี้เผยข้อมูลเชิงลึกที่แบรนด์ควรรู้เกี่ยวกับแรงจูงใจและความต้องการของอินฟลูเอนเซอร์ในปัจจุบัน รวมถึงวิธีการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพในปี 2568 และอนาคต

เนื่องจากการตลาดอินฟลูเอนเซอร์ยังคงเติบโตและซับซ้อนยิ่งขึ้น ด้วย 72% ของอินฟลูเอนเซอร์ที่สำรวจลงเห็นว่า ความต้องการเนื้อหาสปอนเซอร์เพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกในปีหน้า เอกสารไวท์เปเปอร์นี้จึงเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแบรนด์และอินฟลูเอนเซอร์ โดยไม่ทำลายความไว้วางใจระหว่างอินฟลูเอนเซอร์กับผู้ติดตาม

ข้อมูลสำคัญจากการสำรวจของวีโร่ มีดังนี้

โลกดิจิทัลที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน การเล่าเรื่องคือสิ่งที่ทำให้เหล่าอินฟลูเอนเซอร์โดดเด่น

เมื่อแพลตฟอร์มเหล่านี้เต็มไปด้วยผู้ใช้ที่แข่งขันกันอย่างเข้มข้น การเล่าเรื่องที่สามารถดึงดูดและเชื่อมโยงกับผู้ชมได้คือสิ่งที่ทำให้พวกเขาโดดเด่น โดย 34% ของอินฟลูเอนเซอร์เชื่อว่า การเล่าเรื่อง คือส่วนสำคัญที่สุดของงานนี้ ในขณะที่อินฟลูเอนเซอร์ไทยเน้นเนื้อหาที่ผู้ใช้สร้างขึ้น (User-Generated Content: UGC) เป็นอีกหนึ่งรูปแบบคอนเทนต์ที่สำคัญสำหรับการมีส่วนร่วมของผู้ชม

ความเป็นตัวของตัวเอง คือ แกนหลักที่สำคัญของอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่ง 58% ของอินฟลูเอนเซอร์ได้ให้ความสำคัญกับการรักษาสไตล์ส่วนตัว ในขณะที่ทำเนื้อหาตรงตามประเด็นสื่อสารหลักที่แบรนด์ต้องการนำเสนอ พวกเขาทุ่มเทเพื่อให้ทุกโพสต์ยังคงสอดคล้องกับตัวตนของพวกเขา

โดย 37% จะเลือกปฏิเสธข้อเสนอในการร่วมมือเมื่อพบว่าอุดมการณ์และค่านิยมไม่ตรงกัน และมีมากถึง 38% ที่พร้อมจะนำเสนอมุมมองใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของแบรนด์ ดังนั้นการเปิดใจและการสนทนาที่ดีสามารถช่วยให้แคมเปญแต่ละรายการได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ติดตามของอินฟลูเอนเซอร์ และรักษาความเป็นตัวของตัวเองไว้ได้

หากแบรนด์ต้องการผลงานที่ดีจากอินฟลูเอนเซอร์จึงต้องให้อิสรภาพทางความคิด หรือควรปล่อยให้พวกเขาได้ทำตามใจในการสร้างสรรค์ผลงาน เพราะการขาดอิสรภาพทางความคิดคือความท้าทายหลักที่ 29% ของอินฟลูเอนเซอร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เผชิญ

โดยยังมีอินฟลูเอนเซอร์ สูงถึง 37% ในประเทศไทย ที่ขาดอิสรภาพในการแสดงออกทางความคิด เพราะไม่ใช่แค่สิทธิในการแสดงความคิดเห็นเพราะในมุมมองของแบรนด์มองว่านี่คือสิ่งที่ดีสำหรับธุรกิจ

นอกจากนี้ ในการร่วมงานกับแบรนด์ แม้ว่าการได้รับค่าตอบแทนที่สูงขึ้นจะเป็นสิ่งที่อินฟลูเอนเซอร์ส่วนใหญ่ต้องการจากแบรนด์ก็ตาม แต่หลายคนยังให้ความสำคัญกับโอกาสในการร่วมงานระยะยาวกับแบรนด์เช่นกัน สิ่งนี้สะท้อนถึงความต้องการของอินฟลูเอนเซอร์ในการสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนกับแบรนด์

ในขณะที่อินฟลูเอนเซอร์ในเวียดนาม (28%) และสิงคโปร์ (23%) มองว่า การได้รับเชิญไปงานและทริปของแบรนด์เป็นตัวกระตุ้นสำคัญในการร่วมงาน ทั้งนี้ การส่งเสริมความสัมพันธ์ระยะยาวกับอินฟลูเอนเซอร์สามารถช่วยเสริมสร้างความเป็นตัวของตัวเองและรักษาประเด็นสื่อสารหลักแบรนด์ให้สอดคล้องกันได้ในระยะยาว

Community กับแนวทางการขายของแบบ Affiliate

อินฟลูเอนเซอร์ กำลังพัฒนาคอมมูนิตี้ เพื่อถ่ายทอดความเป็นตัวของตัวเอง และโอกาสในการขายของออนไลน์บนโลกโซเชียล และ AI ในปี 2568 การสร้างคอมมูนิตี้ที่มีแรงบันดาลใจจะถูกจัดผ่านกิจกรรมที่จัดโดยตัวของอินฟลูเอนเซอร์เองถึง 28% และการร่วมมือกับอินฟลูเอนเซอร์คนอื่นๆ จะมีถึง 23%

โดยการจัดงานแฟนมีตแบบนี้จะเป็นแนวทางสำหรับอินฟลูเอนเซอร์ในอนาคต รวมถึงการแสดงความเป็นตัวของตัวเอง (28%) การเพิ่มขึ้นของปัญญาประดิษฐ์ (36%) และการขายของออนไลน์ผ่านโลกโซเชียล (33%) จะเป็นที่จับตามองว่า สิ่งเหล่านี้จะมีผลกระทบต่อการตลาดของอินฟลูเอนเซอร์อย่างไร ซึ่งแบรนด์ในวันนี้มีโอกาสที่จะเป็นผู้นำในการกำหนดทิศทางของแนวโน้มเหล่านี้ได้ในอนาคต

ทุกความร่วมมือระหว่างอินฟลูเอนเซอร์และแบรนด์เริ่มต้นด้วยการหาคู่ที่เหมาะสม การหาคู่ที่เหมาะสมระหว่างอินฟลูเอนเซอร์และแบรนด์คือขั้นตอนแรกในการสร้าความสัมพันธ์ที่เป็นธรรมชาติและเป็นประโยชน์ร่วมกัน

และเมื่อการแข่งขันเพิ่มขึ้น การเริ่มต้นแคมเปญการตลาดของอินฟลูเอนเซอร์ให้ถูกต้องจึงมีความสำคัญมากกว่าที่เคย เพื่อให้มั่นใจว่ามีการจับคู่ที่เหมาะสม

วีโร่ได้สร้าง TrueVibe ซึ่งเป็นโซลูชันที่ใช้ข้อมูลในการทำการตลาดกับอินฟลูเอนเซอร์ โดยเป็นส่วนหนึ่งของ InFluent ซึ่งเป็นวิธีการและโซลูชันที่วีโร่สร้างขึ้นเอง โดย TrueVibe จะให้คะแนนอินฟลูเอนเซอร์ตามหกเกณฑ์ ได้แก่

  1. การเข้าถึง (Reach)
  2. ความสนใจ (Interests)
  3. การมีส่วนร่วม (Engagement)
  4. คุณภาพเนื้อหา (Content Quality)
  5. อำนาจ (Authority)
  6. ค่านิยม (Values)

คุณรฉัตร พวงเพ็ชร ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายผู้ทรงอิทธิพลทางความคิด ของวีโร่ กล่าวว่า ในประเทศไทย ผู้ใช้โซเชียลมีเดียมีการตอบสนองกับอินฟลูเอนเซอร์ที่พวกเขาชื่นชอบอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าตลาดอื่นๆ ซึ่งทำให้เกิดความนิยมของเนื้อหาที่ผู้ใช้สร้างขึ้นเป็นอย่างมาก

“สิ่งนี้ย้ำถึงคุณค่าของการสร้างเนื้อหาที่ร่วมมือกัน ซึ่งสร้างทั้งความรู้สึกเป็นส่วนตัวและการมีส่วนร่วมร่วมกัน ที่อินฟลูเอนเซอร์สามารถสร้างการสนทนาและเปลี่ยนแคมเปญให้กลายเป็นกิจกรรมที่ขับเคลื่อนโดยคอมมูนิตี้ได้อย่างแท้จริง”

เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ดิจิทัลที่รวดเร็ว แบรนด์และอินฟลูเอนเซอร์จำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นและปรับตัวต่อแนวโน้มใหม่ๆ รวมถึงมีการอัปเดตแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง

สิ่งสำคัญคือต้องยึดมั่นในค่านิยมหลักของทั้งอินฟลูเอนเซอร์และแบรนด์เพื่อให้มั่นใจในความเป็นตัวของตัวเองและความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนกับผู้ชม สามารถอ่านการศึกษาฉบับเต็มได้ที่เว็บไซต์วีโร่