การตลาดด้วยผู้มีอิทธิพลบนโลกโซเชียล หรือ อินฟลูเอนเซอร์ กลายมาเป็นเทรนด์สำคัญที่ช่วยกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของคนยุคใหม่ โดย 5 วงการที่คนติดตามมากที่สุด คือ ท่องเที่ยว อาหาร แฟชั่นและความสวยความงาม สุขภาพ การเงินและการลงทุน ซึ่งแบรนด์ขนาดเล็กต่างก็ต้องการสร้างยอดขายผ่านโลกออนไลน์เพราะวัดผลได้จริงกว่า
ทาง วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดสัมมนาการตลาด Such Seed Marketing: 2019 Influencer ครองเมือง ภายในงานชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการใช้งานอินฟลูเอนเซอร์และเลือกให้เหมาะกับแต่ละธุรกิจอย่างไรถึงจะปังและสร้างรายได้ให้แก่แบรนด์ได้สมบูรณ์แบบที่สุด
ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร หัวหน้าสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เทรนด์อินฟลูเอนเซอร์มีความนิยมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2018 พัฒนาการมาจากรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เซเลบริตี้ บล็อกเกอร์ ยูทูปเบอร์และเน็ตไอดอล จนมาถึง อินฟลูเอนเซอร์ ที่ยังแตกย่อยไปอีก เป็น 4 ประเภท ตามจำนวนผู้ติดตาม คือ
- ระดับ Mass : มีผู้ติดตามมากกว่า 1 ล้านคนขึ้นไป
- ระดับ Macro : มีผู้ติดตามหลักแสนถึงล้านคน
- ระดับ Micro : มีผู้ติดตามหลักหมื่นถึงแสนคน
- ระดับ Mini : มีผู้ติดตามหลักน้อยกว่าหมื่นคนลงมา
อินฟลูเอนเซอร์คอนเทนต์เหมือนหรือต่างกันอย่างไร
แน่นอนว่าการใช้งานสื่อหลักแบบเดิมยังคงมีการใช้งานอยู่ แต่อาจต้องเป็นธุรกิจที่ค่อนข้างมีรายได้สูง ดังนั้น ธุรกิจขนาดกลางและย่อมที่มีรายได้ไม่เกินหลัก 5 ล้านบาทต่อเดือน จะมองหาเครื่องมือออนไลน์อย่างอินฟลูเอนเซอร์เพราะค่าใช้จ่ายในการทำตลาดไม่สูงมากนัก และยังวัดผลได้อีกด้วย
ในขณะที่ แบรนด์ขนาดใหญ่ ที่สนใจกระโดดลงมาเล่นในตลาดอินฟลูเอนเซอร์ก็จะเลือกรายที่ “ซื้อ” ได้ เพราะต้องการกลุ่มที่มีผู้ติดตามสูง และไม่ได้ใส่ใจวัดผลว่าสามารถปิดการขายได้มากน้อยแค่ไหน เพียงแต่ไม่อยากตกขบวนในการทำการตลาดออนไลน์เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้ไมโครอินฟลูเอนเซอร์นั้น จะต้องมั่นใจว่า สามารถสื่อสารได้ตรงกลุ่มเป้าหมายจริงๆ
นอกจากนี้ ต้องคิดด้วยว่าเพจหรืออินฟลูเอนเซอร์ที่คุณว่าจ้างนั้น มีคาแรคเตอร์ตรงกับธุรกิจของคุณหรือเปล่า
นอกจากนี้ คอนเทนต์ที่อินฟลูเอนเซอร์ทั้งหลายสร้างสรรค์และทรงอาณุภาพได้ดีที่สุดคือ วีดีโอ รองลงมาคือ รูปภาพและข้อความ เพราะคนออนไลน์ชอบดูวีดีโอมาก
ชอบ – เชื่อ – ช้อป
ด้วยการตลาดแบบมินิและไมโครอินฟลูเอนเซอร์นั้น การจะสร้างกระแสให้มีผู้ติดตามจำนวนมากๆ จำเป็นต้องมีการสื่อสารด้วยคอนเทนต์ที่น่าสนใจและดึงดูดความสนใจให้แก่ผู้บริโภค
เมื่อพวกเขาเลือกที่จะติดตามแล้ว การตัดสินใจทำตามที่เหล่าอินฟลูเอนเซอร์บอกก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
ดังนั้น เหตุผลที่ลูกค้าหรือผู้ติดตามจะตัดสินใจเชื่อใครนั้น จะมาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ
- ชอบ – การติดตามนั้น จะต้องมาจากอินฟลูเอนเซอร์คนนั้นเป็นคนที่มีสิ่งดึงดูดน่าสนใจ มีจุดเด่นที่คนชื่นชอบและอยากติดตามเนื้อหาต่อเนื่อง
2. เชื่อ – หลังจากอ่านการรีวิวของอินฟลูเอนเซอร์แล้ว ผู้บริโภคจะต้องเกิดความเชื่อว่าสินค้านั้นดีและสนใจอยากซื้อแล้ว
3. ช้อป – เมื่อตัดสินใจซื้อแล้ว นั่นแสดงว่าผู้บริโภคพร้อมจะควักเงินจ่าย แต่ก็อาจจะมีตัวแปรสำคัญ อย่างพนักงานขายที่หน้าร้าน มาเปลี่ยนแปลงความสนใจของผู้ซื้อได้ ซึ่งเป็น Crisis ที่แบรนด์ไม่อาจป้องกันได้
กลยุทธ์ที่จะใช้อินฟลูเอนเซอร์ให้สำเร็จ
การที่แบรนด์จะเลือกใช้อินฟลูเอนเซอร์ที่ส่งสารได้อย่างสำเร็จนั้น ต้องเลือกให้ตรงกับทาร์เก็ตที่มองไว้ เพราะไม่ใช่ว่าอินฟลูเอนเซอร์ทุกคนจะทำงานได้หลากหลาย รวมทั้งผู้ติดตามก็จะมีความชอบที่เฉพาะด้าน พวกเขาถึงเลือกที่จะติดตาม
ดังนั้น สิ่งสำคัญที่อินฟลูเอนเซอร์ทุกประเภทควรมีให้แก่ผู้บริโภค ประกอบด้วย 4 เหตุผลหลัก คือ
- Sincere : ต้องเป็นคนที่จริงใจกับการรีวิว เป็นธรรมชาติในการถ่ายทอดข้อมูล ส่งต่อเนื้อหาด้วยความเป็นตัวของตนเอง
- Expertise : อินฟลูเอนเซอร์ควรจะต้องมีความเชี่ยวชาญในเฉพาะด้าน รู้ข้อมูลเชิงลึก หรือมีความถนัดเฉพาะทางจะเพิ่มความน่าเชื่อถือได้
- Engagement : เป็นคนกลางที่มีส่วนร่วมในการสื่อสารระหว่างแบรนด์กับผู้ใช้งาน ต้องพิสูจน์ได้ว่าเป็นสินค้าที่มีการจ้างจากบริษัทหรือแบรนด์จริง รวมทั้งให้ข้อมูลที่เป็นจริงแก่ลูกค้าได้เสมือนเป็นตัวแทนแบรนด์
- Difference : การถ่ายทอดคอนเทนต์มีความแตกต่าง โดดเด่น และเป็นเอกลักษณ์ จะช่วยเรื่องการจดจำได้
การเข้าสู่โลกของอินฟลูเอนเซอร์สำหรับคนธรรมดาไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปแล้ว เพราะในอนาคตนอกจากเฟสบุคและอินสตาแกรม ก็กำลังจะมีเครื่องมือสำหรับการปั้นอินฟลูเอนเซอร์ได้อย่างตรงจุด อย่าง ไลน์ไอดอลและอุ๊คบีเข้ามาตีตลาดและบริหารจัดการอินฟลูเอนเซอร์อย่างเป็นระบบขึ้น เชื่อว่าในอนาคตจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางรายได้ของคนรุ่นใหม่ได้เลยทีเดียว