Site icon Thumbsup

กระแสยอด Like ปลอม กำลังกลับมา! เหล่านักการตลาดและแบรนด์เตรียมเช็คให้ดี

ธุรกิจหลายรายยอมจ่ายเงินให้กลยุทธ์การบอกต่อ ทำให้มีจำนวนของเหล่าอินฟลูเอนเซอร์เพิ่มขึ้นแบบน่าสนใจ เช่นเดียวกับเหล่าอินฟลูเอนเซอร์เอง ก็ยอมจ่ายเงินเพื่อเพิ่มยอดผู้ติดตามให้สูงขึ้น หวังให้มีงานเข้ามาเยอะๆ กลายเป็นเม็ดเงินในวงการใต้ดินที่สะพัดเพิ่มขึ้นกว่า 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐกันเลย

กระแสการตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์บนโซเชียลมีเดียชั้นนำอย่าง Instagram, YouTube และ Snapchat ยังคงร้อนแรงต่อเนื่อง ทำให้อินฟลูเอนเซอร์ ยอมจ่ายเงินเพิ่มเพื่อซื้อผู้ติดตามปลอม โดยคาดว่าจะมีเหล่าคน(อยาก)ดังยอมจ่ายเงินเพิ่ม แม้นาโนอินฟลูเอนเซอร์ที่เพิ่งเริ่มต้นและมีผู้ติดตามเพียง 500 หรือ 1,000 คน ก็ยอมทุ่มเงินเพื่อให้มีรายได้จากการรับโปรโมทสินค้าเข้ามามากๆ หวังเพื่อให้แบรนด์หรือนักการตลาดมั่นใจ ว่าการโปรโมทผ่านพวกเขาเหล่านั้นจะมีคนเห็นเพิ่มอย่างแน่นอน แต่อาจกลายเป็นว่านักการตลาดจะต้องเสียเงินไปฟรีๆ เสียแล้ว

 

เงินสะพัดเพิ่มอย่างน่าสนใจ

เหมือนเรื่องเก่าๆ ย้อนกลับมาอีกครั้งเลยใช่ไหมคะ หากสมัยก่อนความกังวลของแบรนด์คือการได้ยอดไลก์ยอดแชร์เพิ่มจากการปั่น มาครั้งนี้แม้แต่ 3 โซเชียลมีเดียอย่าง Instagram, Snapchat หรือ YouTube ก็กลับมาอีกครั้ง โดย Cheq บริษัทด้านความปลอดภัยไซเบอร์ บอกว่า จะมีการปั่นยอดเพิ่มเติม เป็นเม็ดเงินสะพัดในปีนี้กว่า 8,500 ล้านเหรียญสหรัฐในกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ระดับโลก 

แม้ว่าในกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ระดับโลกนั้น จะสร้างผลกำไรได้ดีแต่ก็มีตัวเลขของการจ่ายเงินเพื่อปั่นยอดเพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจ แม้ว่าอินฟลูเอนเซอร์รายเล็กที่มีผู้ติดตามหลัก 10,000 คนจะสร้างรายได้ 250 เหรียญต่อโพสต์นั้น หากคุณมีผู้ติดตามเพิ่มขึ้นจะสร้างรายได้กว่า 250,000 เหรียญสหรัฐต่อการโพสต์ในแต่ละครั้งเลย หรือถ้าคุณจะมีผู้ติดตามเพียง 500 คนก็ไม่ต้องกังวล เพราะในการโพสต์แต่ละครั้งไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องยอดขายเลย ยกตัวอย่าง Arianna Renee ที่มีผู้ติดตามสูงถึง 2.6 ล้านคน แต่เมื่อเธอเปิดตัวแบรนด์เสื้อผ้าของตัวเอง กลับสร้างยอดขายได้น้อยมาก 

ทำไมเหล่าอินฟลูเอนเซอร์หน้าใหม่ อยากได้ยอดไลค์ยอดแชร์เพิ่ม แน่นอนว่าเพราะคุณไม่ใช่ Kim Kardashian หรือ Kylie Jenner ไงที่จะมีคนติดตามจำนวนมากๆ แบบไม่มีเงื่อนไขและอยากเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมหรือผลิตภัณฑ์ของคุณ (ตอนนี้ต้องเพิ่มน้อง Lisa Blackpink ไปด้วยละนะ) 

ดังนั้น การที่แบรนด์จะเลือกใช้กลยุทธ์อินฟลูเอนเซอร์ ก็ควรลงทุนใช้โปรแกรมตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ติดตามอินฟลูเอนเซอร์เหล่านี้ เป็นคนจริงๆ และมีผู้ติดตามที่มีตัวตนไม่ใช่บอท ซึ่งการเช็คก็เป็นเรื่องที่ง่ายมากๆ

หากอินฟลูเอนเซอร์คนนั้นมีผู้ติดตามกว่า 70,000 คน แต่มียอดไลค์ในแต่ละโพสต์เพียง 1-100 ไลค์ และไม่มีการแสดงความคิดเห็นใดๆ ในโพสต์นั้น ก็มีความเป็นไปได้ว่าเป็นผู้ติดตามปลอม

แม้ว่าผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเตรียมเปลี่ยนวิธีการแสดงผล อย่าง Instagram เอง ก็เตรียมซ่อนยอด LIKE ซึ่งแน่นอนว่าอาจทำให้ตรวจสอบยากขึ้น แต่การลงทุนในแต่ละกลยุทธ์ของแบรนด์อาจต้องเลือกจากคนดังที่อยู่ในกระแสหรือคนที่พวกเขาชอบแทนการดูยอดผู้ติดตามก็เป็นได้

ที่มา : CNBC