เรื่องการแยกขยะนั้น ในประเทศไทยมีการรณรงค์ทำมานานแล้ว โดยทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพหรือ สสส.ได้มีกิจกรรมต่อเนื่องโดยมุ่งหวังให้ประชาชนแยกขยะก่อนกำจัดทิ้งให้ถูกต้อง เพราะถ้าแยกขยะได้ดีจะนำไปใช้ต่อได้ และลดปริมาณขยะที่ต้องกำจัดน้อยลง ช่วยลดค่าขนส่ง ค่ากำจัดและลดแหล่งกระจายโรคได้ด้วย
ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษชี้ว่าในแต่ละปี ประเทศไทย ปี 2561 มีปริมาณขยะมูลฝอยประมาณ 27.8 ล้านตัน (เป็นพลาสติกในขยะชุมชนกว่า 2 ล้านตัน) เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.64 เมื่อเทียบกับปี 2560 ที่มีปริมาณ 27.37 ล้านตัน โดยในเขตกรุงเทพฯ มีปริมาณขยะมากถึง 4.85 ล้านตัน คิดเป็น 17% ของขยะมูลฝอยทั้งประเทศ
ทางกรมควบคุมมลพิษเอง ก็ได้มีนโยบายในการควบคุมและจัดการการนำเข้าขยะอิเลคทรอนิคส์และเศษพลาสติกที่จะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ก็ยังมีการลักลอบนำเข้ามา จนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทางกระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษในการทำโรดแมปเพื่อจัดการขยะพลาสติกในปี 2562-2670 เพื่อลดและเลิกใช้พลาสติก 7 ชนิด ภายในปี 2565
ดังนั้น จึงเป็นโอกาสของตลาดวัสดุทดแทน ที่ EIC เคยมองว่ากลุ่มผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกไทยจะคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้คนไทยใช้งานบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ โดยเฉพาะพลาสติก PET ด้วยกระบวนการ REpolymerization ที่จะทำให้ขวดน้ำพลาสติกถูกผลิตเป็นสินค้าใหม่ได้ 100 ครั้ง
นอกจากนี้ ยังมีการนำเอาวัตถุดิบมาตอบสนองการเปลี่ยนแปลงด้วย เช่น ไบโอพลาสติกที่ทำมาจากอ้อยและมันสำปะหลัง หรือผลิต Non-plastic จากกระดาษและข้าว เพื่อเจาะเข้าสู่ตลาดบรรจุภัณฑ์ด้านอาหาร ไม่ว่าจะเป็น หลอดจากข้าวหรือกระดาษ (ที่เริ่มเห็นบ้างแล้วตามร้านกาแฟทั่วไป) หรือถุงกระดาษ แต่แน่นอนว่าต้นทุนของธุรกิจร้านอาหารก็จะสูงขึ้นจากการใช้วัสดุภัณฑ์เหล่านี้
แม้ว่าขยะพลาสติกจากประเทศอุตสาหกรรมกำลังคุกคามประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากจีนมีนโยบายห้ามนำเข้าขยะพลาสติกรีไซเคิลผสมเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา ส่งผลให้กรีนพีซ พบการส่งออกขยะพลาสติกลดลงเกือบ 50% จาก 12.5 ล้านตันในปี 2559 เป็น 5.8 ล้านตัน ในปี 2561 แต่ก็ยังเป็นข้อสงสัยว่าขยะเหล่านี้หายไปไหน
เมื่อหันมองประเทศเพื่อนบ้าน พบว่า มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม กลายเป็นประเทศผู้นำเข้าขยะพลาสติกเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งมาเลเซีย นำเข้าขยะพลาสติกมากเป็นอันดับหนึ่ง ปริมาณ 872,797 ตัน รองลงมาเป็นเวียดนาม ปริมาณ 492,839 ตัน อันดับ 3 ไทย ปริมาณ 481,381 อันดับ 4 อินโดนีเซีย ปริมาณ 320,452 ตัน และอันดับ 5 เมียนมา ปริมาณ 71,050 ตัน ก่อนจะมีมาตรการควบคุมการนำเข้าและเปลี่ยนเส้นทางไปยังประเทศที่ไม่มีการควบคุมอย่างเข้มงวด คือ อินโดนีเซียและตุรกีที่กลายเป็นผู้นำรายใหม่ของโลก
ยังไม่หมดแค่นั้น เมื่อค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับขยะพลาสติกในทะเลไทยย้อนหลัง 10 ปีพบว่า ปัญหาขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกจากการบริโภคสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น พลาสติกใส่อาหาร ฝาจุกขวดพลาสติก ขวดเครื่องดื่มต่างๆ ถุงพลาสติก เป็นต้น
ซึ่งถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งครองอันดับหนึ่งของขยะพลาสติกที่ลอยอยู่ในทะเลต่อเนื่องหลายปีและมีปริมาณเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว จากปี 2560 ที่มี 11,578 ชิ้น ในปี 2561 เพิ่มขึ้นกว่า 70,940 ชิ้น เรียกว่าเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดมาก
แม้รัฐบาลจะมีนโยบายบริหารจัดการขยะพลาสติกในภาพรวมของประเทศออกมากระตุ้นจิตสำนึกประชาชนแล้ว พฤติกรรมของคนไทยที่รณรงค์กันเองทำให้เห็นภาพคนไทยเริ่มตื่นตัว หันมาใช้งานถุงผ้า แก้ว พกกล่องอาหารติดตัว ทำให้เกิดการใช้ซ้ำและลดจำนวนพลาสติกได้ดีขึ้น
ด้านสถานการณ์ขยะทะเลพบว่า มีปริมาณขยะมูลฝอยในจังหวัดชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด เกิดขึ้น 11.47 ล้านตัน กําจัดอย่างถูกต้อง 6.89 ล้านต้น นําไปใช้ประโยชน์ 3.02 ล้านต้น และกําจัดไม่ถูกต้อง 1.55 ล้านตัน ส่วนสาเหตุหลัก ๆ ของขยะทะเลส่วนใหญ่เกิดจากการทิ้งขยะจากชุมชน นักท่องเที่ยว การประกอบอาชีพทางทะเล และโรงงานอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ ยังพบว่าขยะที่พบมากที่สุดในทะเล 5 อันดับแรก คือ ถุงพลาสติก ขวดน้ำดื่ม โฟม หลอด และเศษเชือก
จากข้อมูลกรมควบคุมมลพิษระบุว่า ปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วในประเทศไทยมีมากถึง 45,000 ล้านใบต่อปี แบ่งที่มาของถุงพลาสติกหูหิ้ว 3 แห่งด้วยกันคือ ร้อยละ 40 มาจากตลาดสดเทศบาล เอกชน และแผงลอย จำนวน 18,000 ล้านใบต่อปี ร้อยละ 30 มาจากร้านขายของชำ จำนวน 13,500 ล้านใบต่อปี และร้อยละ 30 มาจากห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ จำนวน 13,500 ล้านใบต่อปี
นอกจากนี้ ยังพบอีกว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ มีการใช้ถุงพลาสติกเฉลี่ย คนละ 8 ใบต่อวัน ทำให้มีขยะพลาสติกมากถึง 80 ล้านใบต่อวัน
แนวทางการลดขยะ ระดับครัวเรือน สามารถจัดการขยะอย่างเหมาะสมด้วยแนวทาง 3R ได้แก่ ลดการใช้ (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) และรีไซเคิล (Recycle) เพื่อใช้ประโยชน์จากขยะให้ได้สูงสุดและลดปริมาณขยะในชุมชนลง
ลดการใช้ (Reduce) ได้แก่
- ลดการขนขยะเข้าบ้าน ไม่ว่าจะเป็นถุงพลาสติก ถุงกระดาษ ขวดพลาสติก เป็นต้น
- ลดปริมาณขยะมูลฝอยอันตรายในบ้าน หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีภายในบ้าน เช่น น้ำยาทำความสะอาดต่างๆ แล้วไปใช้วิธีทางธรรมชาติ เช่น ใช้ผลมะนาวดับกลิ่นภายในห้องน้ำ เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการใช้โฟมและพลาสติกซึ่งกำจัดยาก เปลี่ยนเป็นใช้ถุงผ้า ซื้อของ ปิ่นโตใส่อาหาร
ใช้ซ้ำ (Reuse) ได้แก่
- นำสิ่งของที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ เช่น ถุงพลาสติกไม่เปื้อนใส่ของอีกครั้ง หรือใช้เป็นถุงใส่ขยะในบ้าน เป็นต้น
- นำขยะกลับมาใช้ใหม่และประดิษฐ์ของใช้ เช่น เชิงเทียน หมวก ขวดน้ำยาใส่ชีวภาพ
- นำขยะเปียก/อินทรีย์ มาทำเป็นปุ๋ย น้ำหมักชีวภาพ หรือสารไล่แมลงเพื่อการเกษตรในสวนผักและผลไม้
รีไซเคิล (Recycle) ได้แก่
- นำวัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้มาแปรรูปด้วยกรรมวิธีต่างๆ ได้แก่ คัดแยกขยะรีไซเคิลแต่ละประเภท ได้แก่ แก้ว กระดาษ พลาสติก โลหะ
- นำไปขายเพื่อจัดทำกองทุนช่วยเหลือชุมชนหรือบริจาคเข้าธนาคารขยะ
การที่ภาครัฐและเอกชนออกมาผลักดันเรื่องการลดปริมาณขยะนั้น เป็นเพราะสารพิษจากขยะเปรียบเสมือน “ยาพิษ” ที่ทำลายสุขภาพของคนเราอย่างช้าๆ หากไม่เร่งป้องกันให้ทันท่วงที ยิ่งมีโอกาสที่สุขภาพของคนไทย หรือเด็กไทยในอนาคตย่อมเลวร้ายรุนแรงไปมากกว่าแค่ภาวะฝุ่นควัน PM2.5 หรือไวรัสโควิท-19 ก็เป็นได้
ที่มา : Thaihealth , Onep, BLT, กรุงเทพธุรกิจ, Onlinenewstime, กรมควบคุมมลพิษ, MangoZero, Seub, dmcr