ในยุคที่การพัฒนาของเทคโนโลยีที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว ทำให้การพบรักกันเป็นเรื่องที่ง่ายกว่าในยุคก่อนๆ แต่ในทางกลับกันเมื่อความรักเกิดได้ง่าย ก็จะมีปัญหาในเรื่องของความรักก็อาจจะเกิดได้ง่ายขึ้นเช่นเดียวกัน ส่งผลให้หลายๆ คนครองตัวเป็นโสด และสนุกกับการใช้ชีวิตแบบคนโสดกันมากกว่าเดิม
วันนี้ทีมงาน thumbsup ได้ข้อมูล “#โสดFeelGood เทรนด์ใช้จ่ายคนโสด เน้นกินเที่ยว” จาก EIC ของธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งมีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย จึงนำมาสรุปให้ได้เข้าใจ เพื่อให้ปรับใช้ในด้านการตลาดกันครับ
สถิติการหย่าสูงขึ้น แต่การสมรสลดลง
แม้ในช่วงปี 2550 ถึง 2560 ประเทศไทยจะมีประชากรเพิ่มขึ้นมากถึง 3 ล้านคน แต่ในปี 2550 สถิติการสมรสของคนไทยลดลงจากประมาณ 314,000 คู่ ส่วนในปี 2560 ลดมาอยู่ที่ประมาณ 298,000 คู่ (ลดลง 5.1%)
ขณะที่สถิติการหย่าของคนไทยเพิ่มขึ้น ในปี 2550 อยู่ที่ประมาณ 102,000 คู่ ส่วนในปี 2560 เพิ่มมาอยู่ที่ 122,000 คู่ (เพิ่มขึ้น 19.7%)
การหย่าร้างเพิ่มมากขึ้นในทุกภูมิภาค
จากสถิติพบว่าการหย่าร้างมีอัตราที่สูงขึ้นอย่างมากในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะภาคกลางและภาคใต้ ในขณะที่การจดทะเบียนสมรสก็มีอัตราที่ลดลงมากพอสมควรเช่นเดียวกัน
สังเกตได้ว่าในกรุงเทพฯ และภาคกลาง แม้จะมีอัตราการจดทะเบียนสมรสมากขึ้น แต่อัตราการหย่ากลับมากกว่าการจดทะเบียนที่มากขึ้นเสียอีก ทำให้เห็นได้ชัดว่าคนโสดมีจำนวนมากยิ่งขึ้น
คนโสดใช้จ่ายเพื่อบริโภคมากกว่าคนมีครอบครัว
เมื่อเทียบกับรายได้แล้ว สัดส่วนค่าใช้จ่ายของคนโสดจะใช้จ่ายในการบริโภคมากถึง 84% ในขณะที่คนมีครอบครัวจะใช้จ่ายในการบริโภคอยู่ที่ 81%
โดยคนโสดจะมีสัดส่วนของหนี้น้อยกว่าคนที่มีครอบครัวเกือบเท่าตัว เนื่องจากคนโสดมีภาระที่ต้องแบกรับหนี้ของตนเองเท่านั้น ในขณะที่ครอบครัวมีสมาชิกมากกว่า จึงต้องแบ่งรายได้ไปใช้ชำระหนี้มากกว่า
สัดส่วนการเป็นเจ้าของบ้านและรถของคนโสด
สังเกตได้ว่าสัดส่วนคนที่เป็นเจ้าของบ้านและรถส่วนมากจะเป็นคนมีครอบครัว โดยที่คนโสดจะมีเปอร์เซนต์การครอบครองบ้านและรถน้อยกว่าคนที่มีครอบครัวในทุกช่วงอายุ แสดงให้เห็นว่าคนโสดมีหนี้สินน้อยกว่า และใช้จ่ายเพื่อบริโภคมากกว่าคนที่มีครอบครัว
เปรียบเทียบรายจ่ายในด้านต่างๆ ของคนโสด
- อาหาร – คนโสดใช้จ่ายกับอาหารมากกว่าคนมีครอบครัวถึง 12% โดยค่ารับประทานอาหารนอกบ้านของคนโสดคิดเป็น 50% ของค่าใช้จ่ายด้านอาหาร ในขณะที่คนมีครอบครัวคิดเป็น 1 ใน 3 เท่านั้น (นิยมรับประทานด้วยกันที่บ้านมากกว่า)
- ค่าน้ำมัน – คนโสดใช้จ่ายกับค่าน้ำมันมากกว่าคนมีครอบครัว 4% โดยที่มีอัตราค่าน้ำมันรวมถึงค่าเดินทางสาธารณะเฉลี่ยสูงกว่าคนมีครอบครัว
- ท่องเที่ยว – คนโสดใช้จ่ายกับการท่องเที่ยวมากกว่าคนมีครอบครัวมากถึง 40% โดยค่าใช้จ่ายกับการท่องเที่ยวทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ของคนโสดสูงกว่าคนมีครอบครัวมาก อาจเป็นเพราะอิสระที่มากกว่า
- ความบันเทิง – คนโสดใช้จ่ายกับความบันเทิงมากกว่าคนมีครอบครัว 5% ทั้งการไปดูหนัง เลี้ยงสัตว์ หรือสิ่งอื่นๆ เพื่อความบันเทิงส่วนตัว
- สุขภาพ – คนมีครอบครัวใช้จ่ายกับเรื่องสุขภาพมากกว่าคนโสดถึง 48% เนื่องจากสมาชิกที่มากกว่า ทำให้มีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงกว่ามาก
อย่างไรก็ตาม ด้วยความรวดเร็วของความรักในยุคปัจจุบัน รวมถึงสภาพสังคมยุคใหม่เปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศมากยิ่งขึ้น จึงส่งผลให้คู่รักหลายๆ คู่อาศัยอยู่ร่วมกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ซึ่งอาจทำให้สถิติที่ระบุถึง “คนโสด” ซึ่งหมายถึง “บุคคลที่ไม่ได้มีการจดทะเบียนสมรส” มีความคลาดเคลื่อนไปจากข้อมูลที่มีอยู่ก็เป็นได้
ขอบคุณข้อมูลจาก EIC ธนาคารไทยพาณิชย์