Site icon Thumbsup

เจาะเบื้องลึก!! Head Hunter อาชีพนักล่า ‘คนทำงาน’ และเรื่องราวสนุกๆ ในวงการที่หลายคนไม่เคยรู้

“อยากเปลี่ยนงานแต่ยังงานหางานถูกใจไม่ได้สักที?” หรือ “อยากได้คนมานั่งตำแหน่งนี้แต่ไม่มีใครมาสมัครเลย”  สองอย่างนี้เป็นเรื่องที่องค์กรและคนทำงานทั่วไปต้องพบเจอกัน  จึงทำให้เกิดอาชีพ ‘Head Hunter’ ขึ้นมา  แต่การทำอาชีพนี้ก็ไม่ได้ง่ายเลย ทีมงาน thumbsup จึงได้ไปสัมภาษณ์ ‘Head Hunter’ มืออาชีพหลายๆ ท่านที่จะมาเปิดเบื้องลึกเบื้องหลังการทำงานให้ได้อ่านกันค่ะ

Head Hunter คืออะไร ?

อาชีพต้องไปหาผู้สมัครให้ได้ตาม requirement ของลูกค้า  ซึ่งไม่ใช่แค่ไปประกาศตำแหน่งงานว่างในเว็บไซต์หางานเพียงเท่านั้น  แต่ลูกค้าจะต้องบอกระบุรายละเอียดมา เช่น บริษัท B อยากได้บรรณาธิการจากนิตยสาร New York Time เท่านั้น  ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของ Head Hunter ที่ต้องใช้ความพยายามในการดึงคนจากตำแหน่งนี้ๆ มา

 Head Hunter เป็นการหาคนที่มีคุณสมบัติเฉพาะเจาะจงสูง

แล้ว Head Hunter ทำงานอย่างไร

จากความเจาะจงด้านบนทำให้ Head Hunter ต้องสรรหาวิธีการต่างๆ ในการติดต่อกับผู้สมัครที่เป็น ‘เป้าหมาย’   ไม่ว่าจะเป็นการไปซื้อหนังสือแม่และเด็กมาเพื่อหารายชื่อของทีมงาน  แล้วนำไปค้นหาต่อใน Facebook, Linkedin หรือโทรศัพท์สายตรงเข้าไปหา  จากนั้นจึงนำเสนอตัวเองว่าเป็น Head Hunter

โดยแจ้งว่ามีบริษัทลูกค้าในมือที่ทำธุรกิจคล้ายกันสนใจ  แต่ห้ามบอกชื่อษริษัทที่จ้างเราไปเด็ดขาด  ซึ่งหมายความว่าลูกค้าที่ว่าจ้างจะไม่ทราบว่าผู้สมัครรายนั้นคือใคร  และผู้สมัครก็จะไม่ทราบว่าลูกค้าที่ว่าจ้างคือใครเช่นกัน  เพราะมีการปิดชื่อผู้สมัครไว้  แต่มีการบอกรายเอียดแบบคร่าวๆ ว่ามีผู้สมัครรายหนึ่งที่น่าสนใจและมีโปรไฟล์แบบนี้  สำหรับการเผิดเผยข้อมูลจะทำก็ต่อเมื่อผู้สมัครจะสนใจและตกลงรับข้อเสนอเข้าทำงาน หรือลูกค้าจะสัมภาษณ์กับผู้สมัครที่หามาแล้วเท่านั้น

เคสยากในชีวิตคนเป็น Head Hunter

กูรูด้านการผลิตและจำหน่ายยาสระผม

ได้โจทย์ว่า “พี่อยากได้คนจาก Consumer Product” ที่อยู่ในแวดวงของการผลิตยาสระผม ที่ต้องมีประสบการณ์ทั้งการผลิตและขาย หมายความว่าต้องทำงานอยู่ในบริษัทที่มีโรงงานเป็นของตัวเอง  โดยลูกค้าที่ว่าจ้างให้หาคนเป็นบริษัท Startup ที่อยากผลิตสินค้าเอง  และต้องการคนที่มีประสบการณ์ในด้านนี้มาแบบเฉพาะ  ซึ่งบริษัท Startup รายนี้ไม่ได้มีเงินจำนวนมากจึงอยากจ้างผู้สมัครให้เป็นแบบ 2 ตำแหน่งรวมกัน

สิ่งที่ Head Hunter ทำคือไปหาข้อมูลว่าในประเทศไทยในบริษัทไหนที่จำหน่ายสินค้าประเภทนี้และผลิตเองด้วย  เพราะบางบริษัทเป็นเพียงผู้จัดจำหน่าย  และไม่ได้อยู่ในกระบวนผลิต  ก็จะไม่ทราบว่าส่วนผสมของสินค้าคืออะไร ทำให้ผู้บริหารจากบริษัทใหญ่ๆ ไม่ใช่ทางเลือกของเคสนี้  เพราะจากแบรนด์ดังจะมีการแยกส่วนงานในส่วนผลิต  และส่วนของการขาย  จนเกิดเป็นการไปไล่สินค้าดูตาม ร้านขายยา ห้างสรรพสินค้า  ว่ามีอันไหนเป็นแชมพูที่ไม่ใช่ยี่ห้อดังๆ เพราะเราต้องการ Startup เล็กๆ อย่างแชมพูสมุนไพร

แฝงตัวเข้าไปในกลุ่มนักการเงิน

ลูกค้าที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับกองทุน บอกว่าอยากหาคนมาทำตำแหน่ง ‘Financial Controller’ จากธนาคาร  แล้วบอกมาว่าอยากได้จากธนาคารยักษ์ใหญ่สีนี้ๆ เท่านั้น  สิ่งที่เราทำคือการเข้าไปเจาะกลุ่มจากการเข้าไปในประชุมของกลุ่มโบรกเกอร์  ซึ่งจัดขึ้นเพื่ออัปเดทข่าวสารเรื่องกองทุน ภาษี การเงิน ฯลฯ  แล้วลงทุนไปทำนามบัตรมาแลกกับคนในงาน  จากนั้นก็ติดต่อกลุ่มคนนั้นที่ได้จากการแลกนามบัตรกันในงานไป  ซึ่งไม่ได้ใช้เวลาแค่วันเดียวถึงจะเจาะเข้าหาผู้สมัครได้  เพราะเป็นผู้สมัครที่มีตำแหน่งสูงๆ

ลูกชายโรงงานหินแกรนิต

อีกเคสหนึ่งคือลูกค้าเป็นบริษัทจากประเทศเกาหลีที่ทำสินค้าแบบเฉพาะทางมากๆ  แล้วต้องการเซลล์ที่ดูแลเกี่ยวกับหินแกรนิตโดยเฉพาะ  และมีประสบการณ์ในด้านนั้น  ซึ่ง Head Hunter ต้องลงทุนบินไปโรงงานแกรนิต เซรามิค หลายๆ ที่

ซึ่งเคสนี้การที่หาเจอได้นั้นไม่ง่ายแต่ต้องอาศัยโชคด้วย  เพราะได้ผู้สมัครมาจากการไปซื้อของในร้านเซรามิคแล้วพูดคุยว่ามีที่หนึ่งเป็นโรงงานมาก่อน  แต่ปัจจุบันเหลือเพียงหน้าร้านที่ขายสินค้า  เราจึงไปที่ร้านแล้วสอบถามเจ้าของร้านว่ามีลูกกำลังหางานอยู่ไหม  จึงได้เบอร์ลูกชายมาจากคุณพ่อ  โดยผู้สมัครรายนี้เติบโตมากับหินแกรนิตอย่างแน่นอน  แล้วปัจจุบันก็มีการช่วยธุรกิจนำเข้าส่งออกหินแกรนิตกับทางบ้านอยู่  จนเขากลายมาเป็นผู้สมัครของเราในที่สุด

สิ่งที่ Head Hunter ต้องปรับกลยุทธ์

Head Hunter ที่เราได้ร่วมพูดคุยเล่าให้ฟังถึงอีกหนึ่งความยากในอาชีพ  ว่ายากตรงที่วันนี้จะคิด Story แบบไหนดีเพื่อเข้าไปติดต่อกับผู้สมัครที่เป็นเป้าหมาย  เพราะในสมัยนี้บริษัทต่างๆ ก็รู้แล้วว่ามีอาชีพ ‘Head Huntet’ อยู่  ดังนั้นการจะไปเจาะให้เข้าถึงเป้าหมายก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแบบในสมัยก่อน  ที่สมมติว่าถ้าอยากติดต่อ Business Developper ก็เพียงแค่บอกว่ามีสินค้าอยากไปนำเสนอก็สามารถคุยกับคนในตำแหน่งนั้นๆ ได้แล้ว

แต่ปัจจุบันเมื่อติดต่อไปอาจต้องส่งอีเมลเข้ามาเป็นอีเมลกลาง (ไม่ยอมให้อีเมลส่วนตัวของพนักงาน)  เพราะกลัวมาพนักงานจะโดน Hunt! นั่นเอง

ในบางครั้งต้องมีการสร้างเรื่องราวเข้าไปเพื่อหาทางคุยกับคนที่อยู่ในตำแหน่งนั้น เช่น โทรไปรีเช็คกับ HR Manager ในเรื่องว่ามีพนักงานเข้าไปฟ้องกรมแรงงาน  แล้วพอได้คอนแทคของ HR Manager คนที่สนใจก็ต้องดัดเสียงแล้วติดต่อกลับไปใหม่อีกรอบ  หรือมีการซื้อซิมโทรศัพท์ใช้งานหลายๆ เบอร์บ้าง  เรียกได้ว่าทางหนีทีไล่มาเต็ม  ในบางครั้งก็มีคำขอจากลูกค้าว่าไม่อยากได้รูปผู้สมัครที่เป็นทางการใน resume  แต่อยากเห็นภาพจริงในชีวิตว่าแต่งตัวแบบไหน  เพื่อให้เห็นตัวตนจริงๆ

คุณสมบัติที่ควรมีสำหรับคนที่สนใจอาชีพนี้

จริงๆ แล้วเด็กจบใหม่เองก็สามารถประกอบอาชีพนี้ได้  ขอเพียงตั้งใจและมีไหวพริบ ทักษะในการพูดที่ดีติดตัวมา  เพราะแน่นอนว่าตำแหน่งที่ Head Hunter ไปล่ามานั้นจะเป็นตำแหน่งระดับสูง เช่น MD (Managing Directer), CEO (Chief Executive Officer) เพราะฉะนั้นคนเหล่านี้อาจไม่ได้มองหางานอยู่แล้ว  แต่ไม่ปิดโอกาสที่จะพิจารณาสิ่งมที่เข้ามา  ดังนั้นการเข้าไปของเราจะต้องมีความถูกกาละเทศะ

ค่าใช้จ่ายและรายได้ในการ Hunt!

เวลา Hunt ก็จะมีการกันงบประมาณไว้ส่วนหนึ่งไว้สำหรับค่า refer ที่หากมีคนแนะนำผู้สมัครที่มีคุณสมบัติตรงมาให้เราก็จะมีค่าตอบแทน  โดยเป็น Gift Vocher เล็กๆ น้อยๆ เพราะสามารถส่งไปได้ตามที่อยู่เลย

ส่วนเรื่องของค่าตอบแทนที่ Head Hunter ได้นั้นจากคิดจากรายได้ทั้งปีที่ตัวผู้สมัครได้ทั้งปี  รวมทั้งผลประโยชน์ทุกอย่างทั้งค่าตำแหน่ง รถประจำตำแหน่ง (ตีเป็นมูลค่าเงินตามเรท) รวมไปถึงเงินโบนัส  โดย Head Hunter จะได้รับจากส่วนนี้ในขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 20% ส่วนถ้าตำแหน่งสูงๆ ก็คิดเป็นสัดส่วนขึ้นไปอีก

โดยคนที่จะต้องจ่ายเงินส่วนนี้ไม่ใช่ผู้สมัครแต่เป็นตัวบริษัทที่จ้าง Head Hunter ซึ่งมักจะมีสัญญาใจกับผู้สมัครว่าอย่างน้อยต้องอยู่หนึ่งปี  และต้องมีข้อมูลพื้นฐานว่าสายอาชีพนี้ๆ มีฐานเงินเดือนอยู่ที่เท่าไร

ถ้าอยากโดน Head Hunter จีบบ้างต้องทำอย่างไร

Head Hunter แอบกระซิบมาว่าถ้าคุณอยากเปลี่ยนงานแล้วอยากโดน hunt บ้างล่ะก็  การใช้ Linkedin ก็เป็นสิ่งที่ช่วยได้  และเรื่องของ resume ที่ทิ้งไว้ในโลกออนไลน์  ซึ่งที่อยู่ก็เป็นปัจจัยสำคัญในการดูผู้สมัคร  รวมไปถึง Skill งานทั้งหมด  แค่สรุปใจความหลักๆ ว่ามีอะไรบ้าง หรือทำเซลล์มานานก็สรุป Key Account หลักๆ เท่านั้นก็พอ

ถ้ายากเปลี่ยนสายงานอีกหนึ่งสิ่งที่ช่วยได้นั้นคือ “Cover Letter” ที่เป็นประวัติสั้นๆ ของเรา  โดยให้มองตัวเองเป็น ‘สินค้า’ อย่างหนึ่งที่ถ้าเราจะนำออกมาขายแล้วจะต้องเขียนโปรไฟล์ตัวเองอย่างไรให้ดูน่าสนใจที่สุด

เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ต้องใช้ใจรักและไหวพริบกันพอสมควร  ซึ่ง Head Hunter ที่เรามีโอกาสได้ร่วมพูดคุยบอกว่าอาชีพนี้ไม่ได้จบอยู่ที่การหาคนได้ เท่านั้น  แต่ยังต้องติดตามให้คำแนะนำด้วยว่าผู้สมัครของเราทำงานอยู่ในบริษัทได้อย่างมีความสุขด้วยหรือไม่