เราได้คุยกับ ป้อม ศิวัตร เชาวรียวงษ์ นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัลแห่งประเทศไทย Digital Advertising Association (Thailand) / DAATถึงเบื้องลึกเบื้องหลังในการออกข้อสอบ DAAT Score ซึ่งเป็นข้อสอบวัดความรู้ของคนวงการดิจิทัล ที่ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามในช่วงที่ผ่านมา
จุดเริ่มต้นของการจัดการสอบมาจากไหน
ศิวัตร : แนวความคิดแรกเกิดขึ้นเมื่อสองปีที่แล้วในการระดมสมองของเอเจนซี่ จากการหารือกันว่าควรจะทำโปรเจกต์อะไรดีนอกจากการจัดงาน DATT DAY ในตอนนั้นมีหลายสิบไอเดียเกิดขึ้นมา และ DAAT Score ก็คือหนึ่งในนั้น
จนกลายมาเป็นจุดตั้งต้นของไอเดีย และนำไปสู่การพัฒนาตั้งแต่ออกแบบโครงสร้างข้อสอบ สรรหาผู้ออกข้อสอบ เลือกระบบโครงสร้างซอฟต์แวร์ จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงทดลองสอบเมื่อเกือบครึ่งปีที่ผ่านมา
ใครเป็นผู้ออกข้อสอบ
ศิวัตร : ข้อสอบจะถูกออกโดย ‘ผู้ทรงคุณวุฒิ’ ที่ได้รับเชิญมา โดยผู้ที่ออกข้อสอบในแต่ละหมวดนั้นต้องมี 2-3 คน ซึ่งเมื่อออกแล้วจะไม่สามารถทราบได้ว่าข้อสอบข้อนั้นจะได้เข้าไปอยู่ในระบบหรือไม่ เพราะออกเสร็จแล้วจะต้องผ่านการคัดกรองจากกรรมการกลั่นกรองข้อสอบอีกครั้งหนึ่ง
กระบวนการในการออกข้อสอบ
ศิวัตร : การออกข้อสอบจะถูกออกตามแนวทางเบื้องต้นของเนื้อหาที่สมาคมฯ ได้ให้ไป โดยข้อสอบหมวดหนึ่งจะมีการออกมารวมกัน 40 ข้อ จากนั้นทั้ง 40 ข้อ จะถูกส่งไปให้กรรมการกลั่นกรองข้อสอบ ซึ่งจะไม่ทราบชื่อของผู้ออกข้อสอบที่มีมากกว่าหนึ่งคน จากนั้นจะมีการคัดเลือกให้ข้อที่ผ่านใส่เข้าไปในระบบ
และกรรมการกลั่นกรองจะเห็นข้อที่ผ่านเฉพาะหมวดที่ตัวเองได้รับมอบหมายให้ตรวจเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่มีใครคนใดจะเห็นข้อสอบทั้งหมด เพราะมีการใช้ผู้ออกข้อสอบจำนวนมาก นอกจากนั้นในแต่ะหมวดยังมีการคละกันของข้อสอบที่ง่าย ปานกลาง และยาก ปะปนกันไป
ใบรับรองที่สอบมาจะอยู่ได้นานแค่ไหน
ศิวัตร : ใบรับรองจะมีอายุหลังจากการสอบเป็นเวลา 2 ปี โดยออกมาในรูปแบบว่าผ่านการทดสอบด้วยคะแนนเท่าไร ซึ่งเมื่อจะทำการสอบต้อง Log-in แบบมี User และ Password อยู่แล้ว หลังจากนั้นเมื่อสอบเสร็จสามารถ Log-in เข้าไปดูคะแนนเก่าได้
หากมีการไปยื่นใบสมัครงานที่บริษัทโดยบอกว่าสามารถทำคะแนน DAAT Score ได้จำนวนนี้ ทางบริษัทก็สามารถขอข้อมูลกับทางสมาคมได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ เพื่อป้องกันการทำใบรับรองคะแนนปลอม
ในอนาคตจะหากมีการสอบในนามของบริษัทไหน ทางบริษัทำนั้นก็จะมีฐานข้อมูลในการตรวจสอบคะแนนของตนเองได้เช่นกัน โดย Admin สามารถ Log-in เพื่อเข้าไปดูได้ว่าพนักงานแต่ละคนในบริษัทของตัวเองมีผลการทดสอบระดับใด
ในอนาคตสมาคมฯ จะมีการเปิดติวไหม
ศิวัตร : หากทางสมาคมจัดการอบรมก็คงจะทำได้ไม่ทันกับจำนวนผู้เข้าอบรม และในตอนนี้มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่สอนกันเป็นจำนวนมากแล้ว แต่ปัญหาที่พบคือการไม่ทราบว่าเมื่อสอนแล้วเป็นอย่างไร จึงมองว่าบทบาทที่ดีกว่าของสมาคมคือการ ‘วัดผล’ มากกว่า
มีการร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยอย่างไรบ้าง
ศิวัตร : เพราะการได้คะแนนสูงๆ สำหรับสมาคมคือ “การได้คะแนนตามสิ่งที่วงการดิจิทัลไทยต้องการ” ซึ่งความสำคัญคือสมาคมฯ คืออาจจะเป็นบริษัทที่จ้างงานเด็กๆ ในอนาคต
หากมหาวิทยาลัยหนึ่งนำเด็กมาสอบแล้วได้คะแนนน้อยทางมหาวิทยาลัยก็ต้องทราบแล้วว่าสิ่งที่สอนอยู่นี้ไม่ตอบอยู่ในทิศทางของสมาคม ซึ่งอาจจะไม่ได้สอนนั้นไม่ดีเพียงแต่ทิศทางไม่ตรงกัน จึงเป็นสาเหตุที่ต้องคุยกับมหาวิทยาลัยให้มาเข้าร่วมการทดสอบ
ในปัจจุบันมีการคุยกับมหาวิทยาลัยที่สอบไปแล้วคือ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ. ส่วนที่กำลังจะเข้าร่วมการสอบในอนาคต คือมหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และวางแผนที่จะให้หลายๆ มหาวิทยาลัยเข้าร่วมการทดสอยด้วย โดยไม่มีการกำหนดคณะที่เรียนของนักศึกษาที่อยากเข้าร่วมการทดสอบ
ซึ่งอีกสิ่งที่สมาคมฯ สามารถช่วยเหลือได้หากทางมหาวิทยาลัยต้องการ คือการให้คำปรึกษาเรื่องการออกแบบหลักสูตรให้ตอบรับกับวงการดิจิทัล
ข้อสอบจะมีการอัปเดตมากน้อยแค่ไหน
ศิวัตร : ข้อสอบจะมีการออกใหม่ในทุกๆ ไตรมาส โดยเป็นระบบฐานข้อมูลข้อสอบที่ทุกๆ ไตรมาสที่มีข้อสอบใหม่เติมเข้าไปในระบบ และมีการดึงข้อสอบที่หมดอายุออกจากระบบ (ข้อสอบที่ความรู้เดิมล้าสมัยไปแล้ว) ซึ่งกรรมการกลั่นกรองจะเป็นผู้คอยคัดกรองเนื้อหาเหล่านี้ในหมวดที่ตัวเองรับผิดชอบ
หากเอเจนซี่อื่นๆ สนใจอยากมีส่วนร่วมในการออกข้อสอบ
ศิวัตร : หากมีเอเจนซี่ใดสนใจจะร่วมออกข้อสอบ แต่ไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคมก็สามารถเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกได้ เพราะสมาคมฯ ไม่ได้มีการปิดกั้น โดยถ้าผ่านการเลือกตั้งเข้ามาเป็นหนึ่งในสมาชิกของกรรมการสมาคม ซึ่งมีการเลือกตั้งทุกๆ 2 ปี จากนั้นกรรมการสมาคมจะสรรหาว่าใครจะเป็นผู้ออกข้อสอบในส่วนถัดมา
นับเป็นอีกการสอบที่น่าสนใจ เพราะถ้าในอนาคตเมื่อมีผุ้สอบจำนวนมาก ก็จะเป็นฐานข้อมูลที่ทำให้เราเห็นค่าเฉลี่ยของทั้วงวงการ ว่าสำหรับวงการดิจิทัลไทยมีเรื่องไหนที่คะแนนน้อย และควรเสริมความรู้ในด้านนี้ให้กับคนทำงานกันเพิ่มเติมกันอีกบ้าง