ผ่านมาครึ่งปี 2019 ทุกอย่างก็ดูจะเปลี่ยนไปหมด โดยเฉพาะสิ่งที่มาไวไปไวอย่าง Social Media วันนี้เราจะพาไปส่อง Insight Social Media ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในไทยในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา จะได้คิดกลยุทธิ์เพื่อสแตทที่ดีในสิ้นปี
หยาบดีมีไวรัล
อาจจะดูไม่ค่อยแฮปปี้แต่นี่คือความจริงในช่วงปีที่ผ่านมาค่ะ เพราะคนธรรมดาที่ดังขึ้นมาได้จนเป็นกระแสไปทั่วประเทศชีวิตเปลี่ยนไปจากเดิมคือ การพูดคำหยาบ บ้างก็บอกบอกว่าดูจริงใจดี บ้างก็บอกว่าเป็นเรื่องปกติของคนไทยอยู่แล้ว เพราะใครๆ ก็พูดกัน
ซึ่งสองคนที่มีบทบาทในปีนี้คือ เจ๊น้ำ ขายเสื้อผ้าออนไลน์มที่มีเทคนิคการขายของที่ไม่ธรรมดา พร้อมกับปรัชญาชีวิตภายใต้คำหยาบ ที่หากใครไม่ชอบก็ต้องมีปวดหัวกันบ้าง และล่าสุดกับ พิมรี่พายที่ดังมากับคลิปรีวิวน้ำหอมที่รีวิวชนิด พรีเซ็นเตอร์ยังต้องยอมหลีกทางให้
กระแสอยู่นานขึ้น
ปีที่แล้วกระแสมาไวไปไวจนตามไม่ทัน แต่ปีนี้สังเกตว่ากระแสมีความยาวนานขึ้นและเอฟเฟ็กต์ต่อธุรกิจมากกว่าปีที่ผ่านมาเช่น กระแสชานมไข่มุกฟีเวอร์ ที่ยาวนานร่วมเดือน จนทำให้ร้านขายน้ำทั่วไปต้องหันมามีไข่มุกในเมนูต่างๆ พร้อมธุรกิจชานมไข่มุกที่เติบโตชนิดที่ทุกการเดิน 5 ก้าวในห้างสรรพสินค้า จะต้องมีสักหนึ่งร้าน
หรือล่าสุดกับกระแสไข่เค็ม ที่แบรนด์อาหารและเครื่องดื่มต้องมีไข่เค็มในร้านสักเมนู เช่น ขนมปัง โทสต์ เครื่องดื่ม มันฝรั่งทอด และตอนนี้ก็ยังไม่ลดน้อยลงจนกว่ากระแสอื่นจะมากลบ ต้องรอดูว่าจะมีเมนูไข่เค็มอันไหนที่แปลกจนเรียกเงินจากผู้บริโภคได้แบบดีสุดๆ บ้าง
ละครมีผลต่อ Social Media
จริงๆ ประเด็นนี้เป็นเกิดขึ้นต่อเนื่องจากปีที่ผ่านๆ มา เริ่มตั้งแต่กระแสออเจ้าของละครบุพเพสันนิวาส ที่เรียกว่าฟีเวอร์ทุกส่วนในประเทศ จนละครกลายมาเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงบนโซเชียลมีเดีย ถึงแม้ว่าคนจะดูทีวีน้อยลง แต่ไม่ได้หมายความว่าดูละครน้อยลง แค่ย้ายแพลตฟอร์มเท่านั้นเอง ยิ่งเรื่องไหนมาแนวชิงรักหักสวาท มือที่สาม แย่งแฟน ที่สร้างกระแสเมนท์แอนด์เมาส์ให้โด่งดังจนติดเทรนด์ Twitter อันดับ 1 ทุกครั้งที่ออนแอร์ได้ ก็ยิ่งเพิ่มกระแสเรตติ้งให้ดีได้เช่นกัน
การเมืองระอุเกินจะต้าน
ตบท้ายด้วยกระแสการเมืองที่ระอุสุดๆ เพราะเป็นปีที่คนไทยได้กลับมาเลือกตั้งอีกครั้งหลังจากต้องเจอภาวะทางการเมืองและสังคมมาหลายปี ก่อนและหลังการเลือกตั้งจึงถือว่าเป็นช่วงปลดปล่อย ที่ให้คนในสังคมโซเชียลได้แสดงออกความคิดเห็นทางการเมืองมากขึ้น ยิ่ง Live ประกาศผลการเลือกตั้ง หรือการประชุมสภาก็มียอดรับชมกว่าสองแสนคน ยิ่งตอกย้ำว่าคนไทยสนใจเรื่องการเมืองมากกว่าที่คิด
แม้ว่าคนบนโลกออนไลน์จะมีความคิดเห็นในหลายมุมมองมากกว่า หรือจะถูกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ส่วนหนึ่งเกิดจากคนไทยมีพื้นที่แสดงความคิดเห็นมากขึ้น มีช่องทางการค้นหาหรือเสพข้อมูลมากขึ้น ฉะนั้นหากการเมืองระอุช่วงใด กระแสไหนก็ไม่สามารถสู้ได้ แบรนด์จึงควรเลี่ยงการโปรโมทการการเมืองที่จะระอุในช่วงนั้น หรือไม่นำกระแสการเมืองขึ้นมาเล่นเพื่อสร้างเรตติ้งหรือยอดขายจะดีกว่า เพื่อลดปัญหาที่อาจลุกลาม
ทั้งหมดนี้คือ ภาพรวมกระแสต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา เพราะการสร้าง Content ในยุคนี้นั้น ควรที่จะรอบรู้กระแสรอบข้างที่ส่งผลเชิงบวกและลบ ก่อนนำไปสร้างสรรค์เป็นไอเดียต่างๆ ในการทำ Creative Content เพื่อจุดกระแสหลังการโพสต์แล้วเป็นที่ติดตามและยอมรับของคนหมู่มาก ดีกว่าการสร้างคอนเทนต์ไม่ถูกจังหวะและเจอกระแสต่อต้านนะคะ
สิ่งที่เราแนะนำได้คือ สร้างคอนเทนต์อย่างมีสติ และเสพสื่ออย่างเป็นกลาง คิดเสมอว่าเราทำงานในฐานะแบรนด์ การแสดงออกเชิงความคิดเห็นไม่ว่าเรื่องใดก็ตามสิ่งที่ต้องระวังให้มากคือ ไม่ Bully บุคคลไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ไม่เหยียดคนไม่ว่าเขาจะอยู่ในสถานะใดก็ตามและที่สำคัญคือไม่เล่นเรื่องการเมืองหรือเอนเอียงว่าอยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะทั้ง 3 คำเตือนนี้ ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่อาจส่งผลให้แบรนด์ของคุณต้องปิดตัวลงเลยก็เป็นได้