ชาว Gen Z ถือว่าเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่แบรนด์และนักการตลาดหลายคนต้องการทำความรู้จัก เพราะพวกเขาถือว่าเป็นอนาคตของเรื่องราวต่างๆ ซึ่งทาง Instagram เองก็ได้ทำผลสำรวจเกี่ยวกับการใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์คของคนกลุ่มนี้ ว่าพวกเขาเป็นอย่างไรและค้นหาสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
ทั้งนี้ การสำรวจเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียกว่า 1,200 คน ที่มีอายุระหว่าง 13-24 ปี ทำให้ได้ข้อสรุปต่างๆ ดังนี้
- ความสวยงามแบบย้อนยุคกำลังมาแรง
เรื่องของแฟชั่น แต่ละคนยังมีรสนิยมที่หลากหลาย 50% ของคนรุ่นใหม่ มองหาเทรนด์แฟชั่นแบบ “Dark Academia”, “Goblincore” ซึ่งเป็นแนวแฟชั่นแบบย้อนยุคที่คาดว่าจะกลับมาอีกครั้ง รวมทั้งการเรียนรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์การแต่งหน้าแบบธรรมชาติที่ดูสะอาด เครื่องสำอางค์แบบดูแลผิวพรรณจากธรรมชาติ หรือเครื่องสำอางค์ที่จำนวนไม่เยอะแต่บำรุงผิวจากภายในสู่ภายนอกได้ดี กลายเป็นสิ่งที่ต้องการมากขึ้น
- สินค้ามือสองกลับมาเป็นที่ต้องการอีกครั้ง
เกือบ 1 ใน 4 ของผู้บริโภค หรือ 23% คาดว่าจะซื้อของในเว็บไซต์แฟชั่นมือสองในปี 2565 โดยผู้ตอบแบบสอบถามประมาณ 24% ของชาวเจน Z ตั้งใจที่จะช่วยให้โลกแฟชั่นกลับมาอีกครั้งเพราะมองว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
- โซเชียลมีเดียกลายเป็นเวทีการแสดงแห่งใหม่
แม้ว่า TikTok จะกลายเป็นเวทีแสดงผลงานสำหรับศิลปินในช่วงล็อกดาวน์ ทาง Instagram เองก็ยังให้ความสนใจเกี่ยวกับเพลงบนแพลตฟอร์มของตนเอง ผู้ใช้งานกว่า 24% รู้สึกดีใจที่สามารถหาเพลงประกอบที่โดนใจได้มากขึ้นและอีก 70% มีการค้นหาเพลงและศิลปินหน้าใหม่จากช่องทางนี้เช่นกัน
- ครีเอเตอร์มีอิทธิพลเทียบเท่าเซเลบริตี้
เมื่อโลกออนไลน์กลายเป็นหนทางใหม่ในการพบปะหรือเจอสิ่งใหม่ๆ ทำให้มีคนหน้าใหม่โด่งดังบนโซเชียลมีเดียมากขึ้นและครีเอเตอร์เหล่านี้ให้ความรู้สึกใกล้ชิดกับผู้ใช้โซเชียลได้ดีกว่าเหล่าศิลปิน นักร้อง นักแสดงที่ต้องหาโอกาสเจอพวกเขาตามสถานที่จัดงานต่างๆ ด้านครีเอเตอร์เองก็ตอบข้อสงสัย ใส่ใจและให้ความสำคัญกับคอมเม้นท์ของผู้ติดตามมากขึ้นเช่นกัน
- เมื่องานไม่ใช่เป้าหมายหลักของชีวิต
การระบาดใหญ่ของ Covid-19 ทำให้มุมมองเกี่ยวกับชีวิตการทำงานของพวกเขาเปลี่ยนไป 63% ของ Gen Z ยอมรับว่าพวกเขาได้กลับมาประเมินเป้าหมายในอาชีพของตนอีกครั้ง เพราะรู้สึกว่าชีวิตมีความสำคัญมากขึ้นและไม่ควรทุ่มไปกับเรื่องงานจนขาดชีวิตส่วนตัว ดังนั้น เงินเดือนจำนวนมากไม่ได้ถูกมองว่าเป็นเป้าหมายหลักในชีวิตอีกต่อไป ชาว Gen Z กว่า 71% มองหางานที่มีความหมาย แม้รายได้จะน้อยกว่าเดิมก็ตาม พวกเขาเชื่อว่าการศึกษาที่ดีที่สุดมาจากประสบการณ์ชีวิตที่ต้องออกไปพบเจอจริงๆ และเริ่มที่จะประเมินคุณค่าที่แท้จริงของการศึกษาอีกครั้ง
- การทำอาหารไม่ใช่แค่ประทังชีวิตแต่เป็นทักษะใหม่
หลายคนค้นพบว่าตนเองมีความสามารถในการทำอาหารและเรียนรู้ทักษะนี้จากคลิปบนโซเชียลมีเดียมากขึ้น ทำให้ แฮชแท็ก #Food กลายเป็นแฮชแท็กยอดนิยม และพวกเขาเริ่มมองหาเมนูที่ซับซ้อนมากขึ้นเพื่อพัฒนาทักษะในการทำอาหาร และพยายามจะผสมผสานกับเทคนิคที่เรียนรู้มาจากครอบครัว หรือค้นหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อเป็นต้นแบบในการสร้างสรรค์เมนูอาหาร และส่วนผสมต่างๆ
- เรื่องสุขภาพยังคงมาแรง ไม่ใช่แค่กายแต่ต้องรู้สึกดีทางใจด้วย
ในช่วงที่การออกจากบ้านไปสปา ฟิตเนสหรือสถานที่ออกกำลังกายสาธารณะยังคงติดปัญหาเรื่องความปลอดภัย การออกกำลังการในบ้าน ผ่านการรับชมคลิปสอนออกกำลังกายบนโซเชียลมีเดียจึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็น 48% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไปสถานที่จริงที่ลดลงถึง 34% นอกจากการออกกำลังกายแล้ว กิจกรรมที่สร้างการฟื้นฟูจิตใจให้ผ่อนคลายอย่าง วาดภาพ ระบายสี กิจกรรมทางศิลปะ ก็ทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกดีทั้งทางร่างกายและจิตใจ และยังรวมถึงการสร้างบ้านที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
- การสตรีมสดของชาวเกมเมอร์เป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องการ
โลกของเกมบนโซเชียลมีเดีย ยังคงเป็นเทรนด์ที่ช่วยดึงดูดผู้ติดตามใหม่ๆ อยู่เช่นเคย การมาของ AR, AVATARS, Metaverse ก็ยังเป็นที่สนใจในกลุ่มคนที่ไม่ใช่นักเล่นเกมส์ แต่พวกเขาสนใจในสิ่งที่เชื่อมโยงกันมาอย่างแฟชั่น หรือสร้างแบรนด์บนช่องทางดิจิทัลมากขึ้น
- Meme ยังสร้างการแชร์ได้ดี
พลังของมีมยังคงสร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้แก่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตได้ ภาพตัดต่อที่ส่งกันจนเป็นไวรัลเหล่านี้ ช่วยให้คนรุ่นใหม่สนใจมีมหรือภาพล้อเลียนที่เกี่ยวข้องกับตลาดหุ้นและโหราศาสตร์มากขึ้นแบบน่าสนใจ
- เรื่องการเมืองต้องคุยได้บนโซเชียลมีเดีย
เพราะทุกคนต้องการความเท่าเทียมในการแสดงออกและบอกให้โลกทราบว่าพวกเขาเป็นพลเมืองที่มีสิทธิ์มีเสียงในเรื่องของการเลือกตั้งทั้งระดับท้องถิ่น รัฐ และระดับชาติ รวมทั้งการช่วยเหลือสังคม 52% ของผู้ใช้โซเชียลมีเดียมองว่าพวกเขาต้องการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความยุติธรรมทางสังคม 37% เต็มใจที่จะช่วยเหลือสังคมผ่านการบริจาคเพื่อการกุศล ขอแค่เป็นการช่วยเหลือที่เป็นความจริงและไม่ใช่เรื่องหลอกลวง