Site icon Thumbsup

สัมภาษณ์พิเศษ ทีมพัฒนา Ask DOM ผู้ชนะการแข่งขัน Imagine Cup Thailand 2014

ImagineCup2

วงการแอปพลิเคชันในเมืองไทยยังถือว่ามีการเติบโตขึ้นอยู่เรื่อยๆ และคนไทยเองก็มีผลงานกันเพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่มีแค่หน้าเดิมๆ ในช่วงปีที่ผ่านมา วันนี้เรามีโอกาสได้สัมภาษณ์กับทีมผู้พัฒนาแอปพลิเคชันที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ Imagine Cup Thailand 2014 ประเภท Innovation ซึ่งทุกคนล้วนเป็นนักศึกษากันอยู่กับทีม Ask DOM แอปที่ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลบนโลกออนไลน์ว่ามีอะไรน่าสนใจเกิดขึ้นในตอนนี้

ที่ทางทีม thumbsup พูดคุยด้วยในครั้งนี้ก็คือคุณหยก นารีรัตน์ แซ่เตียว หัวหน้าทีมของทาง Ask-DOM ครับ

thumbsup: ก่อนอื่นแนะนำก่อนครับว่าในทีมมีใครบ้าง และ Ask DOM คืออะไร

ทีมของ Ask DOM มีทั้งหมด 4 ท่านค่ะ ได้แก่ นารีรัตน์ แซ่เตียว (หยก), พัชรพร เจนวิริยะกุล (พลอย), สิรภพ ณ ระนอง (ไม้เอก), เทพฤทธิ์ วงศ์แก้ว (บอย) ทุกคนจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีทั้งหมดค่ะ

ในส่วน Ask DOM เกิดจากโครงงานจบการศึกษาตอนที่เรียนปริญญาตรี โดยได้ส่งโครงการนี้ไปประกวดหลายที่ และได้รางวัลชนะเลิศ ประเภท Innovation จากงาน Imagine Cup Thailand 2014 ในชื่อโครงการ Public Eye ซึ่งเป็นแอพฯ รับเรื่องร้องทุกข์เกี่ยวกับระบบสาธารณูปโภคที่ขัดข้องหรือสูญหาย และรับเรื่องร้องทุกข์เกี่ยวกับการบริการของหน่วยงานภาครัฐ พร้อมทั้งเป็นแหล่งรวบรวมเหตุด่วนเหตุร้าย เพื่อเพิ่มความระมัดระวังในเขตนั้นๆ ค่ะ

Ask DOM ถูกแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ Front-End นั่นคือการทำแอปบนโมบายล์ ซึ่งจะเน้นเป็นส่วนของ Point of Interest หรือสถานที่ตั้งที่น่าสนใจ และอีกส่วนคือ Back-End ซึ่งเราเรียกว่า DOM (มาจาก Data Opinion Mining) โดยทั้งระบบนี้จะเป็นการประมวลผลจากข้อมูลและความคิดเห็นที่เกิดขึ้นบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter หรือแม้แต่ Pantip นำมาวิเคราะห์เพื่อที่จะนำมาใช้ประโยชน์กับแบรนด์ต่างๆ เพื่อดูเสียงว่ามีการพูดถึงในทางที่ดีหรือแย่ รวมไปถึงการนำเทรนด์มาวิเคราะห์เพิ่มเติมได้ ซึ่งแสดงผลบนหน้าจอทั้งบนโมบายล์และสมาร์ทโฟนได้อีกด้วย

thumbsup: ตอนนี้ Ask DOM มีให้ใช้บนไหนบ้างครับ

ตั้งแต่เริ่มทำมาก็จะมีอยู่บน Android และบน Windows Phone ค่ะ แต่หลังจากที่ประกวดจบไปก็มาเน้นหนักด้านบนเว็บแอปพลิเคชันมากกว่า ซึ่งในอนาคตอาจจะมีการพัฒนาแอปต่อ โดยเอามาโยงเข้ากับตัวเว็บเพื่อให้ใช้งานได้ด้วย

thumbsup: ตอนนี้สถานะของ Ask DOM ทำอะไรกันอยู่บ้างครับ

ตอนนี้ก็เริ่ม Incubate กับทาง G-Able แล้วเพื่อทำให้ Ask DOM ขายเป็น Service ได้ ซึ่งก็ต้องบอกว่าทุนเดิมของทีมที่ทำเป็น Engineer หมด การจะมาลุยตลาดเองก็คงจะยาก เลยต้องให้ทาง G-Able เป็นคนช่วยในด้านของการทำ Commercialize ซึ่งปัจจุบันนี้ก็เริ่มมีบางรายได้ใช้บริการแล้วประมาณ 2-3 ราย

thumbsup: ผลตอบรับจากผู้ที่ได้ใช้งานเป็นอย่างไรบ้างครับ

ผลตอบรับก็โอเคนะคะ ก็มี Feedback นิดหน่อยด้าน UX UI มากกว่า

thumbsup: จุดแข็งของ Ask DOM คืออะไรครับ

ต้องบอกว่าจุดเริ่มต้นของ Ask DOM คือจากที่ทำมาพัฒนาน่าจะเป็นการใช้ข้อมูลภาษาไทยที่ได้จากการ Research ในการอ้างอิง ซึ่งข้อมูลจะมีความถูกต้องแม่นยำ และตอนนี้ที่เราได้ Incubate กับทาง G-Able อยู่ก็คือการดึงเอาเทคโนโลยีบางตัวเข้ามาใช้ด้วย เช่น เรื่องของแผนที่ประเทศไทยที่ใช้ของ Esri หรือการไปรวมกับเทคโนโลยี BI (Business Intelligence)

เรามองว่าข้อมูลที่ได้จากโซเชียลเน็ตเวิร์กไม่จำเป็นว่าจะต้องมาวิเคราะห์ในรูปแบบ Sentiment อย่างเดียว มันสามารถจะเอาไปต่อยอด ไปต่อกับระบบอื่นได้

thumbsup: นั่นก็คือเรามีทั้ง Front End และเปิด API หลังบ้านให้คนอื่นมา Plug ใช้ได้ด้วย

ใช่ค่ะ

thumbsup: แล้ว API ที่เปิดให้ใช้ สามารถเอาไปทำอะไรได้บ้างครับ

ก็อย่างเช่น ถ้าลูกค้ามีระบบ BI อยู่แล้ว ตรงนี้มันสามารถเอาข้อมูลไปประกอบกับสิ่งที่เขามีอยู่ เช่น Campaign ที่เขาปล่อยไปมียอดขายข้อมูลทุกอย่างแล้ว มี feedback จริงๆ เป็นอย่างไร ในเขตไหนบ้าง มันจะเป็นข้อมูลในเชิงความคิดเห็นเพื่อประกอบการตัดสินใจ, การวางแผน อะไรอย่างนี้อ่ะค่ะ

thumbsup: มี Next Step ของ Ask Dom อย่างไรบ้างครับนอกจากดัน Commercial เต็มตัว

สำหรับตอนนี้จะเน้นเรื่อง Commercialize อย่างเดียวเลย เพราะเรารู้สึกว่าเรา Proof มาพอสมควรแล้วว่า ไอเดียมันโอเคและเวิร์ก เลยมองไปที่ว่า ถ้ามันสามารถจะขายได้จริงๆ ก็เลย Focus ไปที่ตรงนั้นก่อน ยังไม่ได้มองว่าสมมติว่าหลังจากนี้ไปแล้วจะเป็นอย่างไรต่อ

thumbsup: จะมีทำอะไรอย่างอื่นเพิ่มเติมไหมครับ

ถ้ามี ที่คุยๆ กันไว้ ก็คงจะเป็นแนว Social Network Analytic ซึ่งก็จะเข้าในส่วนของ Big Data ล้วนๆ

thumbsup: คิดว่า Big Data จะยังคงเป็น Trend อีกในปีถัดๆ ไปไหมครับ

คิดว่าจะเป็นอีกพักใหญ่ๆ เพราะว่ามันไม่ใช่ Trend ที่มาเร็วไปเร็ว มันเป็นเรื่องของข้อมูล ที่มีอยู่เรื่อยๆ มีอยู่ทุกวันและมันก็เอาไปใช้ประโยชน์ได้จริงๆ หลายหน่วยงานเริ่มจะสนใจ เพราะใครๆ ก็พูดถึงเรื่อง Big Data

thumbsup: มาคุยถึงเรื่องเทคโนโลยีที่ใช้ในการรองรับการทำ Ask DOM นะครับ ตอนนี้ใช้อะไรอยู่ครับ Run บน Cloud หรือเปล่า

ตอนนี้ 100% Hosted บน Windows Azure ทั้งหมด แต่ถ้าลงรายละเอียดไปอีกก็จะมีการใช้พวก Open Source, 3rd party ด้วย

thumbsup: แล้วการใช้ Windows Azure เป็นอย่างไรบ้างครับ

จริงๆ ต้องบอกว่า ก่อนที่เราจะเริ่ม Commercialize เราก็มอง Cloud หลายๆ เจ้าว่าเราจะไปใช้ของอะไรดี สิ่งที่เจอก็คือว่า บน Azure เราสามารถที่จะ Configure อะไรได้หลายอย่างมากกว่า รวมไปถึงการ Support 3rd Party ซึ่งสามารถรองรับได้แทบจะทั้งหมด

และจากที่แข่ง Imagine Cup ชนะมาเลยได้ Package BizSpark มาใช้ ก็เลยได้ใช้ Azure ด้วย ซึ่งก็ต้องบอกว่าทาง G-Able ก็ได้เสนอเจ้าอื่นๆ มาเหมือนกัน แต่พอมานึกถึงเรื่องการ Migrate ดูแล้วจะยุ่งยาก และที่ใช้มาก็รู้สึกว่าตัวนี้แหละโอเคสุดแล้วสำหรับโปรเจคของเราค่ะ

thumbsup: ถามเรื่องตลาดของ Social Listening ในเมืองไทยเมื่อเทียบกับเมืองนอก หรือดูแค่แถบภูมิภาคเอเชีย มองแล้วเป็นอย่างไรบ้างครับ เหมือนหรือต่างกันขนาดไหน

จริงๆ ถ้ามองเมืองไทย รวมไปถึงในแถบประเทศเพื่อนบ้านเรา APAC หรือ เอเชีย เทรนด์ในการเลือกเรื่องที่พูดบนโซเชียลเน็ตเวิร์กก็จะคล้ายๆ กัน ซึ่งก็จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการท่องเที่ยว, ร้านอาหาร ไม่ใช่เรื่องที่จริงจังเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับต่างประเทศเขาจะพูดกันแทบทุกเรื่อง เช่น การจราจร, รัฐบาล

thumbsup: ตอนนี้ตั้งเป็นบริษัทหรือยังครับ

ยังค่ะ ต้องขอดูว่าใน 6-12 เดือน ตัว Product มันโอเค มีเสียงตอบรับที่ดี Run เป็นธุรกิจได้ ก็น่าจะมีการตั้งบริษัทขึ้น โดยที่ G-Able จะเป็นคนลงทุนให้

thumbsup: ของถามมุมมองของโมบายล์ในไทยบ้างนะครับ มองเรื่องการโตของโมบายล์แอปเป็นอย่างไรครับ จะโตขึ้นไหม

คิดว่ามันจะโตขึ้นไปเรื่อยๆ นะ ตราบใดที่เทคโนโลยี โมบายล์แอปพลิเคชันมันยังไปได้เรื่อยๆ คนก็ยังตามอยู่เรื่อยๆ จนกว่าจะมีอุปกรณ์และเทคโนโลยีแปลกๆ ขึ้นมาที่คนจะสนใจ มองว่าโมบายล์คืออวัยวะที่ 33 ที่ทุกคนต้องมี ยังไงก็โตค่ะ

thumbsup: คิดว่า Big Data บนโมบายล์จะมาไหมครับ

คิดว่ามานะคะ แต่ว่าคงยังไม่ใช่เร็วๆ นี้ เพราะด้วย Limitation ของ Hardware ในการประมวลผลที่อาจจะยังไม่สามารถทำได้คะ

ใครที่สนใจก็สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ask-dom.com ครับ

บทความนี้เป็น advertorial