การเป็นบริษัทเทคโนโลยีในยุคที่การแข่งขันดุเดือดนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะต่างก็งัดกันที่ความสามารถของเครื่องมือ นวัตกรรมที่สร้างสรรค์ ลูกค้าเข้าถึงได้ง่ายและช่วยแก้ปัญหาได้ทันท่วงที ทำให้บริษัทส่วนใหญ่ใช้ประเด็นการขับเคลื่อนเทคโนโลยีที่จะมีประโยชน์ต่อภาคธุรกิจและผู้ใช้งานทั่วไป
ไมโครซอฟท์ (Microsoft) ในฐานะผู้ให้บริกาด้านเทคโนโลยีมาอย่างยาวนานและกระแสก็เริ่มแผ่วไปตามยุคสมัยที่คนไม่ได้พึ่งพาซอฟต์แวร์ผ่านกล่องแบบเดิม ต้องปรับตัวให้เร็วขึ้น สำหรับในประเทศไทย หน้าที่นี้ตกเป็นของคุณธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ผู้บริหารที่ยืนหนึ่งเรื่องเทคโนโลยีในบริษัทชั้นนำมากมายมาอย่างยาวนาน และวันนี้เขาก็นั่งตำแหน่งสำคัญในไมโครซอฟท์มาได้ 2 ปีแล้ว และนี่คือสิ่งที่เขาและทีมเดินหน้าผลักดันให้เกิด
Tech intensity โจทย์สำคัญด้าน Digital Skill ของธุรกิจไทย
ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย เล่าถึงความท้าทายและมุมมองในการดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของบริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติชั้นนำเป็นเวลากว่า 2 ปีให้ฟังว่า
“ประเทศไทยมีความกระตือรือร้นด้านเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรมการผลิต ทั้งการนำ AI, Big Data และเทคโนโลยีอื่นๆ มาใช้อีกมากเพื่อสร้างความแตกต่างทางธุรกิจ”
อย่างไรก็ตาม เรื่องของความปลอดภัยก็ยังเป็นสิ่งสำคัญที่คนใช้เทคโนโลยีจะมองข้ามไม่ได้ ทางไมโครซอฟท์ได้เก็บข้อมูลความเสี่ยงในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมาพบว่า
Ransomware หรือไวรัสเรียกค่าไถ่ ยังคงมีการเติบโตเพิ่มขึ้น 7.5 เท่าตัว โดยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากอาชญากรรมไซเบอร์ มีมูลค่าถึง 8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ระหว่างปี 2018-2022 ซึ่งองค์กรที่เจอภัยคุกคามจนส่งผลเสียหายกว่าจะตรวจพบเจอความผิดปกติอาจใช้เวลานานถึง 99 วัน ซึ่งธุรกิจไทยใช้เวลาพบเจอภัยคุกคามนานกว่านั้น แสดงว่าความเสียหายอาจถึงขั้นรุนแรงแล้ว
รูปแบบของการโจมตีทางไซเบอร์ 99% ยังมาจากรูปแบบของการฟิชชิ่งอีเมล์ คือ อีเมล์หลอกลวงว่ามาจากสถาบันที่น่าเชื่อถือ ให้ใส่รหัสผ่านและกรอกข้อมูลส่วนตัว ซึ่งมูลค่าที่เป็นเป้าหมายการโจมตีแต่ละครั้งสูงถึง 1.6 ล้านเหรียญสหรัฐ
AI เทคโนโลยีที่ธุรกิจให้ความสำคัญ
การลงทุนด้าน AI ของธุรกิจนั้นจำเป็นต้องชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เพราะภาคธุรกิจเริ่มต่อยอดเรื่องนี้มากขึ้น ซึ่งหากพูดถึงความฉลาด AI เก่งกว่ามนุษย์ไปมากแล้วตั้งแต่ปี 2016 นั่นแสดงว่าในปี 2019 ทุกอย่างมัน Beyond ขึ้นกว่าเดิม
สิ่งที่มนุษย์ต้องเตรียมพร้อมคือเขียนโจทย์อย่างไรให้ AI เป็นเสมือนผู้ช่วยของมนุษย์มากกว่าทำลายล้าง ในต่างประเทศมีการเขียนโจทย์ให้ AI วิเคราะห์และสรุปผลเพื่อมาเป็นกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจได้แล้ว ฉะนั้น ในมุมของการพัฒนาข้อมูลด้าน Data ให้เชื่อมกับ Source ต่างๆ จำเป็นต้องใช้ให้ถูกจุดโดยมี Business และ User เป็นแกนกลาง ซึ่งในประเทศไทย จะเห็นกลุ่มธุรกิจธนาคารและโทรคมนาคม เป็นสองอุตสาหกรรมหลักที่เดินหน้าเรื่องนี้เร็วมาก
“เพราะผู้บริหารสองอุตสาหกรรมนี้ ถูกดิสรัพเร็วมาก ดังนั้นพวกเขาต้องเดินเกมส์ให้เร็วกว่า ยิ่งบุคลากรไอทีมีความสำคัญและจำเป็นมากขึ้น หากปรับตัวไม่ทันคนไอทีเหล่านี้จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง”
แม้เทคโนโลยีจะช่วยประหยัดเวลาหรือลดขั้นตอนความยุ่งยาก แต่ก็ยังช่วยได้เพียงบางส่วนเ พราะทักษะเชิงลึกยังต้องใช้บุคลากรที่เป็นมนุษย์ แต่ถ้าคนกลุ่มนี้มีน้อยเกินไปก็อาจทำให้เราเดินหน้าตามเทคโนโลยีไม่ทันและเสียมูลค่าทางธุรกิจไปอย่างมหาศาล
อย่างไรก็ตาม ไมโครซอฟท์ยังมีหลักจริยธรรมสำหรับ AI หรือ AI Ethics ไว้คอยควบคุมนักพัฒนาระบบให้ทำงานภายใต้ 6 เงื่อนไข ดังนี้
- Fairness : ระบบ AI จะต้องปฏิบัติต่อทุกคนอย่างยุติธรรม
- Inclusiveness : ระบบ AI ควรช่วยให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม
- Reliability & Safety : ระบบ AI ควรทำงานได้อย่างน่าเชื่อถือและปลอดภัย
- Transparency : ระบบ AI ควรเป็นที่เข้าใจได้
- Privacy & Security : ระบบ AI ควรมีความปลอดภัยและเคารพความเป็นส่วนตัว
- Accountability : ระบบ AI ควรมีความรับผิดชอบแบบอัลกอริธึ่ม
เพราะยังมีนักพัฒนาอีกมากที่มีแนวคิดและความเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่เป็นกลาง และเคยมีเคสเกิดขึ้นมาบ้าง เช่น เมื่อเห็นคนผิวดำระบบ AI คัดกรองว่าพวกเขามีความรุนแรงและต้องโดนลงโทษ ทั้งที่เขาไม่เคยก่อเหตุหรือเคยทำผิดร้ายแรงมาก่อน แต่เมื่อเจอคนผิวขาวระบบ AI คัดกรองว่าพวกเขาเป็นคนดีและน่าเชื่อถือทั้งที่เขาเคยติดคุกและเป็นภัยร้ายแรง
การมีกฏคัดกรองและคอยตรวจสอบก่อนปล่อยให้ใช้งานเชิงสาธารณะนั้น จะช่วยควบคุมและยับยั้งความผิดพลาดที่อาจคาดไม่ถึงในอนาคตได้
ก้าวใหญ่ปี 2020 มุ่งเน้นเรื่อง Digital Skill
แนวคิดในเรื่องของ Tech Intensity หรือความแข็งแร่งในการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้กับภาคธุรกิจ จะต้องมี 2 ส่วนประกอบสำคัญ คือ Tech Adoption (การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้งาน) และ Tech Capacity (การต่อยอดเทคโนโลยีที่มีอยู่เดิม)
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการสนับสนุนบุคลากรในประเทศไทยให้มี Digital Skill ที่มากขึ้น ด้วยการเพิ่มคนไอทีให้มากขึ้น จากเดิมที่มีอยู่เพียง 3.4 แสนคน เพิ่มขึ้นอีก 2 แสนคนภายใน 5 ปี โดยเป็นการทำงานร่วมกับ Depa รวมทั้งมีการร่วมมือด้าน AI ซึ่งไทยเป็นที่สองรองจากสิงคโปร์ที่ไมโครซอฟท์จะเข้าไปสนับสนุนด้านนี้
ทั้งนี้ ไมโครซอฟท์เตรียมส่งแพลตฟอร์มอย่าง Microsoft Power Platform เพื่อตอบโจทย์เทคโนโลยีเพื่อภาคธุรกิจ ดังนี้
- Power BI : ช่วยให้เข้าถึงข้อมูลได้ง่ายต่อยอดสู่การทำพรีเซนเทชั่น สร้างมุมมองในการเข้าถึงและวิเคราะห์ข้อมูล
- Power Apps : ช่วยให้ธุรกิจสร้างแอพเพื่อการจัดเก็บและข้อมูลภายในได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องจ้างหรือซื้อจากบุคคลภายนอก
- Microsoft Flow : เชื่อมต่อข้อมูลเอกสารและบริการผ่านระบบอัตโนมัติได้โดยไม่ต้องเขียนโค้ด
การเดินหน้าธุรกิจด้วยเทคโนโลยีอย่างจริงจังของไมโครซอฟท์ในครั้งนี้อาจจะไม่ได้ดูยิ่งใหญ่มากแบบในอดีต แต่เรียกว่าเป็นการก้าวแบบค่อยเป็นค่อยไป ด้วยการใช้เทคโนโลยีมานำทางซึ่งอาจจะดีกว่าและมั่นคงกว่าการลงทุนใหญ่และไปไม่รอด แบบหลายบริษัทเทคโนโลยีที่ถอนทัพจากไปแล้ว