ในครั้งก่อนที่ทีมงานมีโอกาสได้สัมภาษณ์ Angel Investor ไปแล้วนั้น สำหรับคราวนี้เรามาพบกับบทสัมภาษณ์จากนักลงทุนในรูปแบบของบริษัทกันบ้างกับ คุณสุวิดา กี่งเมืองเก่า Managing Director Expara IDM Ventures
thumbsup : ช่วยแนะนำบริษัท Expara และแนวทางการสนับสนุน Startup
สุวิดา : Expara เป็น incubator อยู่ที่สิงคโปร์ สนับสนุน Startup ที่มีไอเดีย แต่อาจยังไม่มีคนช่วยจัดการเรื่องงานหลังบ้าน เราจะให้คำแนะนำด้านกลยุทธ์ และเป็นเสมือน mentor ที่คอยให้คำแนะนำปรึกษา ในช่วงแรกของการทำธุรกิจ (Early Stage) เป็นการให้ทุนในช่วง Seed Investment
แต่ถ้าเป็น Later Stage คือใหญ่กว่านั้น แล้วธุรกิจน่าสนใจ มีรายได้เข้ามาแล้ว เราจะส่งต่อไปให้กับอีกกองทุนหนึ่งของอาจารย์ Douglas Abrams (ซึ่งเป็นอาจารย์อยู่ที่ Sasin และเป็น CEO ของ Expara) ให้ต่อไป
กลับมาที่ตัว Expara เอง เนื่องด้วยทางรัฐบาลสิงคโปร์มีความสนใจ เลยมีการสนับสนุนเงินทุนในด้านนี้เป็นจำนวนมากพอสมควร และสร้างโปรแกรมที่ชื่อว่า i.JAM เลือก Incubator ที่มีความพร้อมด้านเงินทุนมาร่วมกับเงินทุนของรัฐบาล ?โดย Incubator จะลงเงินทุนส่วนหนึ่งซึ่งน้อยกว่าของรัฐ แต่จะช่วยแนะนำ Startup ในเรื่องต่างๆ ทั้งกลยุทธ์? ช่องทาง, networking ให้ เป็นต้น และจะเป็นคนช่วยกรองดูก่อนว่า Startup นั้นมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมหรือไม่ มีแนวโน้มเติบโตหรือไม่ก่อนที่รัฐจะอนุมัติเงินทุน
โดยทาง Expara ทำงานร่วมกับรัฐบาลสิงคโปร์ในโครงการ i.JAM มาตั้งแต่ปี 2007 ?โดยเฟสแรกจบไปแล้ว เรามี Startup อยู่14 บริษัท ซึ่งมีผลงานที่ดี โดยเริ่มต้นเงินทุนที่ 55,000 เหรียญสิงคโปร์ และในเฟส 2 นี้ตัวเงินก็เริ่มสูงขึ้นเป็น 250,000 เหรียญสิงคโปร์ ซึ่งระบบคงยังคงเหมือนเดิมคือ Startup มาหา Incubator อย่างเรา นำเสนอไอเดีย ถ้าเราเห็นว่ามีศักยภาพในการเติบโตเราก็ส่งไปให้ทางรัฐบาลสิงคโปร์อนุมัติ ซึ่งทางนั้นจะมี Expert ?ประมาณ 3 รายต้องผ่านการอนุมัติทั้งหมด โดยเงินลงทุนที่ได้มาไม่ใช่เป็นก้อนใหญ่ก้อนหนึ่ง แต่จะมีเป้าว่าต้องทำให้ถึงที่กำหนดไว้ตามแผนธุรกิจ? (Business Plan) ถ้าถึงก็ค่อยเบิกไป และระหว่างนั้นก็จะจัด Networking Event ให้ด้วย และเป็นข้อบังคับด้วยว่า Event เหล่านั้น Startup ต้องเข้าร่วม ซึ่งเป็นกลไกที่ดีที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องออกไปพบเจอนักลงทุนและสร้างโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ
thumbsup : รูปแบบธุรกิจของ Startup แบบไหนที่ทาง Expara ให้ความสนใจ
สุวิดา : จะเป็นกลุ่มของ Interactive Digital Media ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจด้านออนไลน์, แอพพลิเคชั่น, อีคอมเมิร์ซ, ซอฟแวร์ และเกม เป็นต้น เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าถึงแหล่งเงินทุน นอกจากนี้เรายังมองไปที่กลุ่มของ Bio Technology ด้วยเช่นเดียวกัน
thumbsup : สนใจธุรกิจประเภท B2B ด้วยหรือไม่
สุวิดา : เราไม่ได้เจาะจงว่าต้องเป็นแค่ B2C เท่านั้น เราจะดูหลักๆ ว่านวัตกรรมของคุณคืออะไร คุณกำลังแก้ปัญหาอะไรให้กับลูกค้า เช่น ทำให้ทำงานง่ายขึ้น, ขายได้เร็วขึ้น ถ้าสามารถตอบโจทย์และแก้ปัญหาได้ แม้จะเป็น B2B เราก็สนใจ
thumbsup : ตอนนี้มีให้การสนับสนุน Startup รายไหนของไทยไปแล้วบ้าง
สุวิดา : มีค่ะ Startup ที่โตมาจากเมืองไทยเลย แต่ขออนุญาตยังไม่ออกนามในที่นี้นะคะ ถือเป็นทีมที่มีศักยภาพและเป็นดาวเด่นของเราเลยรายหนึ่ง ได้เข้ามาร่วมกับเราและเริ่มทำธุรกิจหลักที่สิงคโปร์แล้ว
thumbsup : มองรูปแบบ Exit Strategy ของ Startup ในโซนเอเชียไว้อย่างไร?
สุวิดา : ก็มีความเป็นไปได้ทั้งเปิดขาย IPO หรือโดนซื้อกิจการ (acquisition) ไป แต่ก็ยอมรับว่าโซนเอเชียเราระบบหลายๆ อย่างก็ไม่ได้พร้อมแบบที่อเมริกา แต่ก็ถือว่าเริ่มตื่นตัวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทั้งรัฐบาลจีนเอง สิงคโปร์เอง แต่ก็คงต้องใช้เวลาอีกระยะใหญ่ๆ เหมือนกันที่จะเห็น Startup หลายรายค่อยๆ เติบโตไปถึงขั้นนั้น
thumbsup : ความสามารถด้านไหนที่อยากแนะนำให้ Startup ไทยควรพัฒนาเพิ่ม
สุวิดา : จริงๆ เรื่องความสามารถในแง่เทคนิคเราไม่ได้ด้อยกว่าชาติใด แต่ยังขาดความเข้าใจในการทำธุรกิจมากกว่า เช่น ยังไม่ทราบว่ามีแหล่งเงินทุนอื่นนอกจากธนาคารหรือทุนของคนที่รู้จัก และเท่าที่สังเกต เราขาดความกล้าแสดงออก และกล้าที่จะรับคำวิจารณ์ ซึ่งจริงๆ แล้วหลายครั้งคำวิจารณ์เหล่านั้นเป็นประโยชน์ในการช่วยปรับปรุงงานของเราให้ดีขึ้น
นอกจากนี้ต้องฝึกคิดมองภาพใหญ่ มองตลาดระดับภูมิภาคซึ่ง Startup ในหลายประเทศ คิดกันระดับภูมิภาคแล้วไม่ได้คิดจำกัดอยู่แค่เพียงในตลาดบ้านเรา
thumbsup : คิดว่าทำไม Startup Ecosystem ในบ้านเรายังไม่พร้อม
สุวิดา : บ้านเรายังขาดการประสานงานระหว่างภาครัฐและเอกชน คือ ภาครัฐต้องสนับสนุนให้มากกว่านี้ อย่างเพื่อนบ้านเราหลายๆ ประเทศก็พยายามที่จะสร้างมันขึ้นมาไม่ว่าจะเป็น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น ?นอกจากนี้แล้วสถาบันการศึกษาก็มีส่วนสำคัญที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจ ควรมีการจัดการเรียนการสอนที่สนับสนุนการสร้างผู้ประกอบการ
thumbsup : ถ้า Startup มีความสนใจที่จะนำเสนอโครงการกับ Expara ต้องทำอย่างไรบ้าง
สุวิดา : ติดต่อมาที่อีเมล ?suwida@expara.com โดยสิ่งที่ต้องเตรียมคือ Power point นำเสนองาน ประกอบไปด้วย Product อะไร, ที่มาของ Product คืออะไร,? นวัตกรรมคืออะไร, กลุ่มลูกค้าของคุณคือใคร, เข้าไปแก้ปัญหาของลุกค้าในจุดไหนและอย่างไร เตรียมในส่วนข้อมูลการตลาดมาประกอบ, เงินทุนที่ต้องการอยู่ที่เท่าไหร่ และสิ่งที่สำคัญขาดไม่ได้คือ ทีมงานเป็นใคร มีประสบการณ์ด้านนี้หรือเปล่า ถ้ามองในแง่ของ การลงทุนของ VC จริงๆ แล้วก็เสมือนเราลงทุนในคน ในตัวผู้ประกอบการนั่นเอง?ส่วน Financial Projection ไปอีก 4-5 ปี ในระดับ Incubation แทบจะเรียกว่ายังไม่จำเป็นในตอนนี้ อย่างที่บอกคือแต่ละ Stage ของ VC นั้นจะดูไม่เหมือนกัน
และอีกเรื่องที่อยากฝาก Startup ไว้เพราะหลายรายมักกังวลและทางเราอยากสร้างความเข้าใจก็คือ หลายคนกลัวว่าจะเสียความเป็นเจ้าของในธุรกิจตนเองเมื่อต้องเข้ามาร่วมกับ VC ซึ่งจริงๆ แล้ว VC จะไม่มาแตะเรื่องเนื้องานต่างๆ แต่จะดูที่เป้าหมายมากกว่า มีปัญหาอะไรหรือไม่ ต้องการให้ช่วยเหลืออะไรหรือไม่ เช่น CTO ลาออก ตอนนี้มีคนที่มาแทนหรือยัง อยากได้คน Profile ประเภทไหนจะช่วยหาให้ ถ้าจะว่าไปแล้ว Startup กับ VC ก็เสมือนการเลือกคู่แต่งงานที่ต้องเลือกให้ดี ซึ่งถ้า Startup ต้องการขยายกิจการให้ใหญ่ขึ้น การมีคนมาช่วยดูแลและช่วยเหลือเพิ่มก็เป็นเรื่องปกติ