“สักวันผมก็ต้องแก่ คุณก็ต้องแก่ แต่เราชอบเหมาคนแก่เป็นก้อนเดียวกัน” เป็นสิ่งที่คุณหมอตั้ม หรือ นายแพทย์ คณพล ภูมิรัตนประพิณ CEO และ Co-Founder ของ Health at Home แพลตฟอร์มหาคนดูแลผู้สูงอายุประจำบ้าน บอกกับเรา ซึ่ง Health at Home มีความเชื่อว่าบ้านคือสถานที่พักฟื้นที่ดีที่สุด และผู้สูงอายุทุกคนมีความแตกต่างกัน ลองมาดูกันว่าในการทำธุรกิจค้นหาผู้ดูแลเพื่อผู้สูงอายุจะมีความน่าสนใจอย่างไรบ้าง
เดิมคุณหมอตั้มเป็นหมอที่เรียนจบหมอ 6 ปี จากนั้นไปใช้ทุนต่างจังหวัดแล้วกลับมาเรียนอายุรกรรม ในตอนที่เรียนจบอายุรกรรมก็ต้องเลือกสาขาเฉพาะทาง ซึ่งตอนนั้นเขาได้ทุนของโรงพยาบาลกรุงเทพไปเรียนด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ แล้วได้ไปอยู่ที่ New Yoke City เป็นเวลาหนึ่งปี ซึ่งพอไปเรียนก็เลยสนใจด้านผู้สูงอายุมากขึ้น นั่นเพราะเขามองว่าทั่วโลกกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และตัวเองเป็นลูกคนเดียวเลยคิดว่าอนาคตน่าจะมีปัญหาแน่นอน
จุดเริ่มต้นของ Health at Home ?
หมอตั้ม: พอคุณพ่อ คุณแม่ของผมอายุเยอะขึ้นก็เลยมองหาวิธีการดูแลที่ดี ในตอนที่อยู่ต่างประเทศมีสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ การเรียนเกี่ยวกับโฮมแคร์ คือการที่ผู้สูงอายุแก่แล้วอยู่บ้าน คือแนวคิดเดิมเมื่อแก่ต้องไปอยู่ Nursing Home คือ ‘แก่แล้วดูแลตัวเองไม่ได้ก็ส่งเข้าบ้านพักคนชรา’ ซึ่งสิ่งนี้เป็นแนวทางที่เราคุ้นเคยกัน แต่ตอนที่เราอยู่ที่นิวยอร์กเห็นว่ามันเริ่มมีเทรนด์ที่จะอยู่ที่บ้านได้
แต่จะมีพวกบริการต่างๆ พวกโรงพยาบาลหรือบริษัทจะนำไปเสนอที่บ้านเอง คือมีการดูแลที่บ้านเราจึงเห็นภาพว่ามันมีบริการพวกนี้เพื่อผู้สูงอายุจึงสามารถอยู่ที่บ้านได้ด้วยศักดิ์ศรี และรู้สึกว่า ‘ฉันเป็นคนปกติอยู่’ ก็เลยอยากทำตรงนี้ขึ้นมาและคิดว่าน่าจะเหมาะกับบ้านเรา
เนื่องจากบ้านเราก็ค่อนข้างให้ความสำคัญกับการดูแลพ่อแม่ที่บ้านอยู่แล้ว ทำให้คิดว่าถ้ามีทางออกแบบนี้น่าจะดี ซึ่งมันจะต้องมีแพลตฟอร์มต่างๆ ที่จะทำแบบนี้ได้ และเมื่อทำงานมาสักระยะหนึ่ง ทำให้ลาออกมาลองทำอันนี้โดยใช้พวกเทคโนโลยีมาช่วยในการเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการทำให้มันเป็นไปได้ ก็เลยเริ่ม ‘Health at Home’ เมื่อสี่ปีที่แล้ว
คัดผู้ดูแลอย่างไร ถึงจะมาเป็นผู้ดูแลของ Health at home ได้ ?
หมอตั้ม: หลักๆ จะคัดเรื่องทัศนคติเป็นอันดับแรก และประเมินเกี่ยวกับพวกประวัติอาชญากรรมว่ามีหรือไม่ ประวัติสุขภาพ คือ ไม่มีโรคติดต่อหรือโรคที่ร้ายแรง เช่น ไวรัสตับอักเสบ หรือ HIV เพราะพวกนี้เราก็จะตรวจสอบหมด ซึ่งเราก็มองเขาเหมือนเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำในโรงพยาบาล และต้องมีการสอบทฤษฎี มีการสอบปฏิบัติและมีการอบรมร่วมด้วย
‘ความเห็นอกเห็นใจ’ เป็นสิ่งสำคัญมากในงานนี้
หมอตั้ม: เรื่องสำคัญเลย คือ เรื่องความใส่ใจและ ‘ความเห็นอกเห็นใจ’ ซึ่งเป็นหัวใจหลักของบริษัทเรา เราต้องเข้าใจคนไข้และครอบครัวก่อน เพราะงานดูแลคืองานที่ต้องใช้ความเข้าใจ
ปกติแล้วเรามักจะมองจากมุมเรา แต่ถ้าเราไม่พยายามมองจากมุมเขาก็จะทำให้เกิดความไม่เข้าใจบางอย่างและรู้สึกหงุดหงิดได้ เช่น เราจะรู้สึกว่าทำไมอากงดื้อจังเลย คุณยายทำแบบนี้แกล้งเรารึเปล่านะ แต่จริงๆ แล้วทุกอย่างที่เขาทำเป็นสิ่งที่มีความหมายทั้งนั้น ถ้าเราเข้าใจเขา เราก็จะสามารถดูแลได้ดี ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก
การหาคนดูแลคนดูแลหาไม่ยาก แต่การหาคนดูแลที่ดีนั้นยาก
หมอตั้ม: ตอนนี้ยังเปิดกว้างอยู่ โดยคนที่มาสมัครก็มาจากเพื่อนแนะนำเพื่อน ซึ่งพอเราคัดแล้วก็พบว่าหายากมากที่คนจะสอบผ่าน มีอัตราการสอบผ่านและได้มาเป็นพนักงาน Health at Home เพียงแค่ 7% นั่นคือใน 100 คน จะมีคนผ่านเพียง 7 คนเท่านั้น เพราะเราจะรับคนที่มีทั้งทักษะและทัศนคติที่ดี ทำให้ตอนนี้มีพนักงานอยู่ในระบบทั้งหมดประมาณ 300 กว่าคน
มีเคสที่รู้สึกประทับใจในการดูแลคนสูงอายุไหม ?
หมอตั้ม: มีหนึ่งเคสที่จำแม่น คือคุณตาที่เป็นอัมพฤกษ์อัมพาตไม่สามารถดูแลตัวเองได้เลย และมีลูกสาวสองคนซึ่งลูกสาวก็ต้องทำงาน แล้วเขาก็เป็นห่วงคุณพ่อ เราก็เข้าไปดูแล ค่อยๆ ฟื้นฟูสภาพเขาจนแข็งแรงทำให้เดินได้ปกติ จนสามารถไปงานแต่งงานลูกสาวได้ ซึ่งลูกค้าได้ส่งรูปคุณพ่อมาว่าคุณพ่อหายแล้วนะ แล้ววันนี้คุณพ่อมาร่วมงานแต่งด้วย จากวันแรกก็คือมีการเจาะคอ แล้วอาการค่อยๆ ดีขึ้น
แต่ที่ประทับใจจริงๆ นอกจากตัวคนไข้เองคือพี่ๆ ผู้ดูแลด้วย เพราะเรารู้สึกว่าเราได้สร้างงานให้มีผู้ดูแล แต่เดิมเขาอาจจะไม่ได้มีวุฒิหรือมีโอกาสเยอะ ซึ่งเมื่อเขาเข้ามาทำงานผู้ดูแลก็สามารถเก็บตังได้ สามารถส่งลูกเรียน หรือเมื่อเขาไปงานรับปริญญาลูกแล้วส่งมาให้ดู เรารู้สึกว่าอันนี้ก็เป็นความภูมิใจของบริษัทเรา มันก็เป็นธุรกิจที่ดีที่ได้ช่วยคนก็รู้สึกดี 🙂
สิ่งที่มักเข้าใจผิดๆ ในการดูแลผู้สูงอายุ ?
หมอตั้ม: ผมมองว่าบางครั้งเราชอบมองผู้สูงอายุทุกคนว่าเหมือนกันหมด คือ ต้องคนแก่ ต้องรำไทยเก๊ก โดยเรามองเขาเป็น Stereotype แบบแก่อะไรแบบนี้ ซึ่งผมมองว่ามันไม่จริง ผมมองว่าคนแก่ก็คือพวกเราที่อายุมากขึ้น เราฟังเพลงกันคนละแนว มีความชอบไม่เหมือนกัน ดังนั้นคนแก่แต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน มันเป็น Presonal life อย่างปกติเวลาคนคิดวิธีรับมือเมื่อคนแก่ก็จะคิดว่าคนแก่ต้องเป็นแบบนี้สิ ฟังเพลงลูกทุ่ง มีไลฟ์สไตล์แบบนี้
ซึ่งผมคิดว่ามันไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้น อาจจะมองภาพง่ายๆ คือ ผมก็ต้องแก่ คุณก็ต้องแก่ แล้วเราก็จะมีไลฟ์สไตล์เฉพาะตัว แต่เราชอบเหมาคนแก่เป็นก้อนเดียวกัน ซึ่งผมคิดว่าอันนี้เป็นความเข้าใจที่ผิด ที่เรามักห็นกันในปัจจุบัน
รับมืออย่างไรดี ในวันที่ประเทศเราเริ่มเป็นสังคมผู้สูงอายุ ?
หมอตั้ม: ผมว่าอย่างแรกต้องคุยกับคุณพ่อคุณแม่เรา เกี่ยวกับในวันที่เขาดูแลตัวเองไม่ได้หรือในวันที่เขาเปลี่ยนแปลงไปไม่ได้แข็งแรงแบบนี้ เราจะวางแผนกันอย่างไรดี จะอยู่ที่ไหน อยู่บ้านหรืออยู่ Nursing Home อยากเจาะคอไหม? อยากให้ดูแลแบบไหน? ซึ่งผมมองว่ามันเป็นเรื่องที่คนไทยไม่ค่อยได้คุยกัน พอมันเกิดเหตุปุบปับทำให้มันเป็นปัญหาได้
ดังนั้นผมมองว่าจะต้องวางแผนและคุณพ่อ คุณแม่ ก็ต้องวางแผนเหมือนกันพอไม่คุยกันแล้วคิดว่าลูกจะดูแล ซึ่งลูกก็อาจมีภาระเยอะ คือต้องคุยกันและส่งเสริมให้คุยกัน เราต้องวางแผนกันตั้งแต่ต้น เพราะยังไงวันนั้นต้องมาถึง ซึ่งผมมองว่าคนรุ่นเราต้องคุยกันในเรื่องนี้
สุดท้ายคุณหมอฝากไว้ว่า หากกำลังอ่านบทความนี้ก็ต้องลองคิดดู ว่าถ้าวันหนึ่งที่เราต้องการ วันที่พ่อแม่เราไม่สบาย เราวางแผนวันนั้นอย่างไร ก็คือการวางแผน และทุกๆ คนมีโอกาสที่จะอยู่ถึงวันนั้น วันที่เราแก่ตัวลง แต่ที่สำคัญคือ เราได้วางแผนสำหรับวันนั้นแล้วหรือยัง ?