เข้ามานั่งในตำแหน่ง MD ของไมโครซอฟท์ ประเทศไทยครบ 3 ปีแล้วสำหรับคุณธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ ที่ต้องเจอศึกหนักในยุคที่โควิด-19 สร้างการเปลี่ยนแปลง ทั้งในแง่ของโอกาสใหม่ทางธุรกิจและการปรับตัวในการทำงานให้ Productive มากขึ้น
แม้ว่าการเข้ามานั่งในตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) ของคุณธนวัฒน์ จะเน้นหลักๆ ในเรื่องของการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์และปรับเปลี่ยนการทำงานในหลายอย่าง แต่ด้วยภาวะวิกฤตตั้งแต่ต้นปี ทำให้ไมโครซอฟท์ ตัดสินใจเข้าไปมีส่วนร่วมในการเดินหน้าประเทศ
ด้วยปัญหา GDP ของทั่วโลกที่ลดลงอย่างมหาศาล อย่างประเทศไทยเองก็ลดลงกว่า 6.7% จากผลกระทบเรื่องการล็อกดาวน์ที่ยิ่งใช้เวลานานก็ยิ่งส่งผลกระทบในเรื่องรายได้ แรงงานและการใช้จ่ายหมุนเวียนในประเทศ โดยจะมุ่งหวังแต่จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาไทยกว่า 40 ล้านคนอย่างเดียวไม่ได้แล้ว
นอกจากนี้ ปัญหาการว่างงานก็ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลทั้งในแง่ขององค์กรที่ต้องขาดแรงงาน และศักยภาพของพนักงานเองก็ไม่สามารถเติมเต็มความต้องการของบริษัทได้ หากมองตำแหน่งที่ทุกหน่วยงานกำลังต้องการคงเน้นไปที่กลุ่มธุรกิจด้านวิเคราะห์ข้อมูล เทคโนโลยีและความปลอดภัยเป็นหลัก
“ความต้องการเรื่องตำแหน่งงานใหม่ๆ ในไทยเชื่อว่าจะมีมากถึง 3 ล้านตำแหน่งงาน โดยงานที่ตลาดงานต้องการมากที่สุดจะเป็นสายงานด้าน software development เพราะงานด้านนี้จะกลายเป็นคีย์หลักที่ทุกองค์กรต้องการซึ่งทางไมโครซอฟท์มุ่งหวังที่จะเข้าไปช่วยพัฒนาทักษะความสามารถด้านต่างๆ เพื่อส่งต่อให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่กำลังต้องการ”
หลังจากเมื่อปีที่แล้ว ไมโครซอฟท์ ได้เน้นแนวคิดเรื่อง Tech Intensity หรือการขับเคลื่อนศักยภาพในการสร้างสรรค์นวัตกรรมขององค์กร มาในปีนี้เนื่องจากสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อโลกและพฤติกรรมมนุษย์ทำให้วิถีชีวิตของพวกเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง จนเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว
ไมโครซอฟท์จึงได้ยกแนวความคิด Resiliency หรือ ความสามารถในการปรับตัวและยืนหยัดรับมือคลื่นความเปลี่ยนแปลงให้เป็นกรอบแนวคิดสำคัญ โดยสามารถแบ่งออกเป็นสามช่วงใหญ่ ๆ ได้แก่
- Response: การตอบสนองต่อเหตุการณ์และการเปลี่ยนแปลงอย่างทันท่วงที
- Recovery: แผนรับมือ ฟื้นฟูระบบงานและธุรกิจให้กลับคืนสู่สภาวะปกติ
- Reimagine: ปรับทิศทางของธุรกิจ รูปแบบผลิตภัณฑ์และบริการให้แตกต่างพร้อมรับความต้องการของโลกที่เปลี่ยนไป
ทั้งนี้ 5 เทรนด์สำคัญกับก้าวต่อไปของชีวิตในโลกดิจิทัล ประกอบด้วย
- New Way of Work and Life แนวคิดการทำงานและการใช้ชีวิตแบบใหม่
- Virtual Century ยุคที่โลกแห่งความจริงและโลกเสมือนจริงใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น
- Hyper Automation เมื่อเทคโนโลยีสามารถช่วยสนับสนุนการทำงานแบบอัตโนมัติได้ในทุกขั้นตอน
- Accelerating Digital เมื่อการปฏิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัลต้องเร่งความเร็ว เพื่อรองรับการปรับตัวขององค์กรให้เท่าทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง
- Business Model Revamp การเปลี่ยนโมเดลธุรกิจทั้งระบบ เพื่อตอบโจทย์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในบริบทใหม่ทางสังคม
ทั้ง 5 เทรนด์นี้ ต้องมีรากฐานอยู่บน Trust หรือความไว้วางใจในเทคโนโลยีโดยคำนึงถึงความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวของข้อมูลในทุกขั้นตอน ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญที่ทางไมโครซอฟท์ยึดถือมาโดยตลอด
ด้วยการปรับเปลี่ยนของเทคโนโลยีทำให้บางบริการของไมโครซอฟท์เติบโตขึ้นเกือบ 10 เท่า เพราะหลายองค์กรจำเป็นต้องทำงานแบบ Work from Home จึงต้องปรับตัวแบบไฮบริด เช่น Mictosoft Team ที่มีองค์กรทั้งลูกค้าเก่าและใหม่ลงทะเบียนใช้งานฟรีมากกว่า 2,000 องค์กร
เหนือสิ่งอื่นใด เพื่อให้การทำงานในยุคนี้เป็นไปอย่างราบรื่น ไมโครซอฟท์ให้ความสำคัญกับทีมงานในองค์กร เพราะทุกฝ่ายต้องประสานงานกัน การทำงานเป็นทีมที่ดีได้คือพนักงานจะต้องสบายใจที่อยู่กับองค์กร ดังนั้น เราจึงมีการดูแลเพิ่มขึ้นทั้งเรื่องของการทำงานร่วมกัน การรีสกิล อัพสกิลที่พนักงานต้องการ เพราะเราต้องทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์มากขึ้น
จึงมีการสร้างทีมงาน Customer Success Unit (CSU) มุ่งยกระดับความสำเร็จของลูกค้าทุกมิติในปีนี้ เพื่อยกระดับประสบการณ์ของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายหลักคือการทำงานร่วมกับลูกค้าอย่างใกล้ชิดเพื่อสร้างความพอใจสูงสุดในการใช้งานเทคโนโลยีของไมโครซอฟท์อย่างเต็มประสิทธิภาพในฐานะพันธมิตรที่ก้าวสู่ความสำเร็จไปพร้อมกัน