ผ่านพ้นไตรมาสแรกไปแล้ว สำหรับปี 2020 แน่นอนว่าพอเข้าช่วงไตรมาสที่ 2 แบบนี้ หลายธุรกิจอาจจะเข้าสู่ยุคเฟื่องฟู แต่ด้วย COVID-19 ที่ส่งผลต่อธุรกิจทั่วโลกย่อมกระทบจนบางธุรกิจต้องปิดตัวแทน
ทีมงาน thumbsup ได้พูดคุยกับคุณกวีวุฒิ เต็มภูวภัทร เจ้าของ podcast ธุรกิจ แปดบรรทัดครึ่ง เกี่ยวกับชีวิตหลัง โควิด-19 ที่มนุษย์ทำงานและเจ้าของบริษัทหลายคนอาจต้องเจอกับภาวะ New Normal ที่พฤติกรรมหลายสิ่งจะเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม สะท้อนถึงความสามารถของพนักงานและฝีมือในการทำงานที่ต้องเก่งขึ้น หรือเจ้าของธุรกิจเองก็ต้องมีมุมมองและช่องทางการขายที่ทันต่อยุคสมัยมากขึ้น
หลังจบโควิด-19 เราควรปรับตัวและเตรียมพร้อมกับชีวิตใหม่อย่างไร
คุณกวีวุฒิ : ผมคิดว่าในเชิงเจ้าของธุรกิจ สิ่งแรกคือใช้เวลาในการทบทวนบทเรียนว่าช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 เจอปัญหาอะไรกันบ้าง สาเหตุเป็นเพราะอะไร เพื่อที่เราจะได้ไม่ทำซ้ำอีก ส่วนใหญ่ที่เจอปัญหากันคือเรื่องของโครงสร้างต้นทุน ที่ต้องกลับมาย้อนดูว่าอันไหนเป็นค่าใช้จ่าย ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และเป็นโอกาสทบทวนหลายๆ อย่างท่ามกลางวิกฤต บางรายอาจจะมีการวางแผนปรับปรุงบางส่วนเพิ่มเติมเพื่อให้การกลับมาหลังโควิด-19 จะดีขึ้นกว่าเดิม
เช่น เรื่องของช่องทางการขาย วันนี้ปฏิเสธไม่ได้แล้วว่าการขายของออนไลน์เป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น เพราะจากสถานการณ์หลายๆ อย่าง ส่งผลต่อพฤติกรรมของคนไทยเปลี่ยนไปเยอะมาก จากคนที่ไม่กล้าลงทุนหรือไม่กล้าใช้งานออนไลน์ ก็จะค้นพบแล้วว่า การใช้บริการออนไลน์ไม่ได้แย่อย่างที่คิด คนที่ไม่เคยใช้งานก็ปรับตัว จนอาจจะส่งผลให้พวกเขาคุ้นชินกับการใช้งานออนไลน์มากขึ้นแล้ว
ต้องยอมรับว่า แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซแต่ละรายมีการลงทุนเพื่อให้คนเข้าใช้งานช่องทางของเขามานานแล้ว หากนับกับต้นทุนที่เขาเสียไป ตอนนี้ก็เป็นโอกาส แต่จะได้กลับคืนมากน้อยแค่ไหนต้องรอดูว่าใครจะเก่งกลยุทธ์กว่ากัน
คุณกวีวุฒิ : การทำงานด้านอีคอมเมิร์ซไม่ใช่เรื่องง่ายนะครับ แม้หลายคนจะมองว่าเป็นโอกาสของพวกเขาก็ตามแต่ถ้านับแค่เรื่องเงินนั้น ไม่ได้เยอะเท่าต้นทุน สิ่งที่ธุรกิจควรทำคือฝึกฝนและเรียนรู้วิธีการทำงานกับเขา ว่ามีกระบวนการอย่างไร อย่าไปกลัวการเข้าสู่โลกออนไลน์ เพราะเราไม่รู้ว่าผู้บริโภคจะเดินไปในทางไหนบ้าง เราต้องเริ่มเรียนรู้ วางแผนต้นทุนและใช้งานเครื่องมือเหล่านี้ เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงลูกค้าอย่างตรงจุด
ส่วนเรื่องของต้นทุนในการเข้าสู่อีคอมเมิร์ซนั้น หากยังกังวลว่าเป็นเม็ดเงินสูงไหม ลองเริ่มต้นจากการร่วมแพลตฟอร์มเล็กๆ ก่อน อย่าเพิ่งลงทุนใหม่เองทั้งหมด ลองเรียนรู้เครื่องมือและกระบวนการของเขาก่อน จากนั้นก็ลองเอาข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และพัฒนาบริการของเราให้โดนใจลูกค้า เพราะโลกออนไลน์นั้น ข้อมูลเยอะมาก ถ้าทำเป็นก็จะใช้งบน้อยได้ประโยชน์มาก แต่ถ้าทำไม่เป็นก็จะสลับกันคืองบเยอะประโยชน์น้อย
ดังนั้น หากเรามีคนในองค์กรที่สามารถเข้าสู่โลกออนไลน์ได้ ควรเอาเขามาช่วยงานและเจ้าของธุรกิจเองก็ควรเรียนรู้ด้วย ทักษะเหล่านี้ไม่ได้ยาก และเครื่องมือที่ดีช่วยอำนวยความสะดวกก็มีเยอะ ผมอย่างให้กำลังใจว่า เราทำได้ ตอนนี้หากมีเวลาเริ่มเรียนรู้และเสริมทักษะด้านต่างๆ ไว้เลยครับ ในอนาคตอาจเป็นช่องทางการขายหลักก็ได้
หากดูจากข้อมูลหลายอย่างคนมักจะบอกว่าไม่ต้องรีบ ออนไลน์กว่าจะเข้ามาดิสรัพเราก็ 5-10 ปี แต่พอ COVID-19 เข้ามาปุ๊บ ตอนนี้ทุกอย่างเรียกว่าหักมุมทันทีเลย ทำให้เรารู้ว่าโลกอนาคตมาเร็วขึ้น ถ้าเราประเมินแล้วว่าธุรกิจของเราจะอยู่รอดได้ ถ้าไม่เข้าโลกออนไลน์ก็ไม่เป็นไรครับ ค่อยๆ ทำไป แต่ถ้าหลังจบ COVID-19 แล้วลูกค้าติดพฤติกรรมออนไลน์ ถึงตอนนี้ลูกค้าประจำเหล่านี้ละครับ ที่จะเป็นคนบอกเราเองว่าถึงเวลาปรับตัวหรือยัง
New normal พฤติกรรมคนจะเปลี่ยนไปจริงหรือไม่
คุณกวีวุฒิ : ผมคิดว่า New normal คือการที่ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง และหลายคนก็คาดการณ์ว่ามันจะเปลี่ยนธุรกิจของเราด้วย ซึ่งผมมองว่าการเดินหน้าธุรกิจหลัง COVID-19 จะเปลี่ยนหรือไม่นั้น ต้องดูพฤติกรรมของลูกค้าประจำเราก่อนว่าเปลี่ยนหรือเปล่า ถ้าเขาไม่ได้ปรับเปลี่ยนอะไร เราก็ทำธุรกิจแบบเดิมได้ คือยังไม่ต้องถึงขั้นกังวลและปรับเปลี่ยนอะไรทันทีก็ได้ ค่อยๆ ดูกันไป
เพราะถ้าเราเปลี่ยนใหม่หมดทุกอย่างแต่ลูกค้าประจำของเราไม่ได้เปลี่ยนไปด้วย ไม่ก็ไร้ประโยชน์ ฉะนั้น คุณต้องคุยกับลูกค้าหลักก่อน ลองย้อนกลับไปมองว่า เราคุยกับเขาบ่อยแค่ไหน ตอนนี้เขาเป็นอย่างไรบ้าง ควรสื่อสารกับเขาและเปลี่ยนให้เหมาะกับพวกเขา
การทำธุรกิจที่ดีที่สุด คือการใกล้ชิดกับลูกค้า เข้าใจเขาให้เร็วและตอบโจทย์ความต้องการของเขา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ควรทำอยู่ตลอดไม่ใช่ว่ามาทำเพราะเจอ COVID-19 นะครับ รวมทั้งต้องดูความสามารถของเราด้วยว่าทำได้แค่ไหน อย่างเช่น ธุรกิจร้านอาหารที่แต่เดิมขายในร้านเล็กๆ ของเราก็อยู่ได้ แต่ตอนนี้ทุกคนไม่ออกจากบ้าน ก็คงต้องปรับเป็นเดลิเวอรี่ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงของลูกค้าให้มากขึ้น
หรือการไลฟ์ขายของใครจะไปคาดคิดว่าเป็นเรื่องที่คนนิยม ผมคิดว่าการทดลองอะไรให้หลากหลาย หาโอกาสให้ตัวเอง จะได้รู้ว่าสิ่งที่เราทำนั้นเวิร์คไหม จากนั้นค่อยเอาข้อมูลมาวิเคราะห์และปรับตัวก็ไม่สาย
หลัง COVID ควรเดินหน้าอย่างไร ให้อยู่รอด
คุณกวีวุฒิ : ช่วงครึ่งปีหลัง อาจไม่ได้ซับซ้อนอย่างที่คิด ลองคิดถึงตัวเองก่อนว่าเราจะพร้อมจ่ายเงินกับอะไร เช่น ร้านอาหารถ้ากลับมาเปิดได้อีกครั้ง น่าจะมีหลายคนที่เค้ารอไปใช้บริการอยู่ แต่ถ้าอยากเดินทางไกลเลยเนี่ย อันนี้ผมไม่แน่ใจว่าในกลุ่มท่องเที่ยวนี้ คนจะเต็มที่หรือยัง ทั้งโรงแรม สายการบิน ต่างๆ ส่วนหนึ่งต้องประเมินจากรายได้ของคนทำงานด้วย ว่าเขายังมีรายได้เท่าเดิมไหม ช่วงที่ปิดไปมีการลดเงินเดือน หรือสวัสดิการอะไรหรือเปล่า
ถ้ารายได้ยังเหมือนเดิมเขาก็อาจจะกล้าใช้จ่ายเช่นเดิม แต่ถ้าคนที่โดนลดรายได้ครึ่งนึงก็อาจจะชะลอการจับจ่ายก่อน คิดว่าธุรกิจอาหารน่าจะเป็นอย่างแรกที่ฟื้นกลับมาเหมือนปกติได้ เพราะทุกคนก็ต้องใช้ชีวิต ต้องกินอาหาร คือการใช้จ่ายกับวิถีชีวิตทุกอย่างมันเชื่อมโยงกันหมด ถ้าผู้ประกอบการอยู่รอดได้ยาก ทุกอย่างก็คงไม่ฟื้นกลับมาง่ายๆ ทันที
ดังนั้น การที่เราจะคาดหวังอะไรช่วงครึ่งปีหลังนั้น อาจต้องวางแผนยาวไปถึงปีหน้าเลย พวกการใช้สอยสิ่งใหญ่ๆ เช่น บ้าน รถ คอนโด อะไรพวกนี้ อาจจะต้องรอปีหน้ากันเลย แต่เจ้าของธุรกิจก็ไม่ควรหยุดชะงักนะครับ ในกลุ่มธุรกิจที่รอการใช้จ่ายใหญ่ๆ ก็ต้องลงทุนบางอย่างเพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับมาก่อน เช่น ต้องเห็นนวัตกรรมอะไรที่มันคุ้มค่ากับเงินที่จะเสียไปจริงๆ และต้องสื่อสารกับลูกค้าต่อเนื่อง ใกล้ชิดลูกค้าให้เยอะๆ คุยกับลูกค้าเยอะๆ เราจะได้นำมุมมองเหล่านั้นกลับมาปรับปรุงบริการให้ดีขึ้น
จบ COVID แล้ว ยังมีงานให้ทำอีกไหม
คุณกวีวุฒิ : สำหรับพนักงานบริษัทนะครับ ถ้าเขายังจ้างคุณอยู่และให้เงินเดือนคุณเท่าเดิม แสดงว่าคุณโชคดีมากนะครับ และคุณต้องชื่นชมเจ้าของบริษัทที่เขายังสามารถจ้างงานเราต่อได้ แต่พอเรายังมีงานทำก็อย่ามองแค่ว่าทำงานแบบเช้าชามเย็นชามแบบเดิมได้นะครับ เพราะเจ้านายเขาเจอวิกฤตครั้งใหญ่มาแล้ว ก็จะเริ่มประเมินแล้วว่า คุณยังมีความสามารถเพียงพอกับการทำงานต่อหรือเปล่า
นั่นหมายถึงว่า คุณต้องพัฒนาความสามารถของคุณให้มากขึ้น หากไม่ใช่ทักษะใหม่ ก็ต้องฉายประกายความสามารถที่ล้ำลึกกว่าเดิมให้ได้นะครับ เพื่อให้เจ้านาย เพื่อนร่วมงาน พาร์ทเนอร์ อยากพาเราเดินหน้าไปต่อด้วย รวมทั้งเปลี่ยนทัศนคติทำงานของเราให้เสร็จเป็นวันๆ ทิ้งไปซะและทำงานร่วมกับเพื่อนให้มากขึ้น
สำหรับทักษะในอนาคตที่เจ้านายต้องการ ก็คงหนีไม่พ้นเกี่ยวกับเรื่องออนไลน์ว่าคุณทำอะไรเป็นบ้าง หรือมีความสามารถอะไรที่มากกว่าเดิมไหม เช่น ถ้าคุณเป็นมาร์เก็ตติ้งที่ต้องวางแผนโฆษณา คุณจะสามารถคุยกับพาร์ทเนอร์หรือใช้เครื่องมือบางอย่างเพื่อให้งานราบรื่นขึ้นได้ไหม หรือมีข้อมูลอะไรที่เชิงลึกกว่าเดิมและตอบสนองลูกค้าได้รอบด้านมากขึ้นกว่าเดิม
ถ้าไม่พร้อมปรับตัวก็ต้องดูว่าความสามารถของเราด้านอื่นๆ มีไหม ย้ายไปทำสิ่งที่เราถนัดและเชี่ยวชาญ นั่นถึงจะเรียกว่าเอาทักษะมาเสริมเป็นจุดแข็งและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพครับ
เรื่องราวหลังจบ COVID-19 จะสิ้นสุดเมื่อไรคงยังไม่มีใครทราบ แต่สิ่งที่รู้และควรเดินหน้าทำต่อไปคือ รักษาสุขภาพให้ดี มองหาทักษะใหม่ๆ เพื่อว่าหลังจากจบวิกฤตใหญ่ครั้งนี้แล้ว พวกเราทุกคนจะเป็นคนใหม่ที่เก่งขึ้นกว่าเดิมแน่นอนค่ะ