Site icon Thumbsup

“วัยเกษียณ-รายได้น้อย” ควรมีบ้าน กลยุทธ์ของ ‘เสนาดีเวลลอปเม้นท์’ ที่จะช่วยให้ฐานรากของประเทศแข็งแรง

ในยุคที่ที่อยู่อาศัยกลายมาเป็นส่วนสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์มากขึ้น ทั้งการอยู่ร่วมกันกับคนในครอบครัว หรือพักอาศัยคนเดียว ต่างก็ต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกที่มากขึ้น พื้นที่ส่วนตัวสำหรับใช้ในการทำงาน หรือแม้แต่ผ่อนคลายก็จำเป็นต้องมีมากขึ้น ทำให้บ้านยุคใหม่จำเป็นต้องมีพื้นที่สีเขียว หรือจัดโซนผ่อนคลายยามเหนื่อยจากการทำงาน เห็นได้จากหลายหมู่บ้านหรือคอนโดมิเนียมยุคนี้ ชูพื้นที่ส่วนกลาง สระว่ายน้ำ ฟิตเนส เพื่อดึงดูดความสนใจกระตุ้นให้อยากซื้อ

นอกจากนี้ การแข่งขันในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในยุคเฟื่องฟู ก็จะมองไปที่กลุ่มมีกำลังซื้อสูง เพราะก่อนเกิดโควิด-19 ประเทศไทยถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ชาวต่างชาติอยากเข้ามาอยู่อาศัย ซื้อเพื่อการลงทุน รวมทั้งซื้อเพื่อการพักผ่อน ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ย่านใจกลางเมืองมีราคาเริ่มต้นที่ค่อนข้างสูงและพื้นที่จำกัด รวมถึงการแข่งขันด้านนวัตกรรมที่ทันสมัย สิ่งแวดล้อมที่บริสุทธิ์ รวมทั้งมีการลดการใช้พลังงานอย่างโซล่าร์เพื่อลดการใช้ไฟฟ้าก็เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่แต่ละอีโคซิสเต็มส์พยายามช่วยกันผลักดัน

thumbsup ได้รับเกียรติสัมภาษณ์ ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด (มหาชน) เกี่ยวกับภาพรวมธุรกิจของเสนาดีเวลลอปเม้นท์ ในเรื่องการแข่งขันของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แนวทางการผลักดันที่อยู่อาศัยเพื่ออนาคต รวมทั้งกลยุทธ์ที่ “SENA” จะเดินหน้าหลังจากปัญหาการแพร่ระบาดอย่างโควิด-19 บรรเทาลง

ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด (มหาชน)

 

ภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้

ผศ.ดร.เกษรา  :  ด้วยผลกระทบจากโควิด-19 เรารู้ว่าท่องเที่ยวเจอวิกฤตแน่นอน เพราะนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาไม่ได้ พอเป็นในมุมของอสังหาเนี่ย เราไม่รู้ว่าคนจะซื้อบ้านหรือเปล่า เราได้แต่คาดคะเนว่าคนอาจจะซื้อน้อยลง เพราะว่าเศรษฐกิจไม่ดี ในปีที่แล้วเราก็มีคำถามในหัวเหมือนกันว่า เราจะขายบ้านได้ไหม ซึ่งมันก็ยังขายได้ แม้ว่าในแง่ภาพรวมอาจจะไม่ได้ขายดีหรือราคาดีแบบเดิม แต่ก็ไม่หนักแบบธุรกิจโรงแรมที่หนักถึงขั้นไม่มีใครมาเที่ยวเลย

ดังนั้น การที่ธุรกิจอสังหายังขายได้ เพราะบ้านเป็นปัจจัยหนึ่งที่คนที่ยังไม่มีที่อยู่อาศัยต้องการซื้อ ทำให้เราต้องวางแผนอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะเรื่องการเงินที่ต้องระวังมากขึ้นเพื่อประคองสถานการณ์ ซึ่งอันนี้เป็นมุมมองที่เราทำในช่วงที่เกิดปัญหาค่ะ

Q : ด้านการแข่งขันช่วงที่เกิดโควิด-19 จะเห็นว่าทุกบริษัทอสังหาออกโปรโมชั่นหนักมาก

การตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยช่วงนี้ อาจเพราะรู้สึกว่าราคาดี รู้สึกว่า good deal จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้บริโภคจะใช้ราคาเป็นตัวตัดสินใจ ในการเลือกซื้อบ้านที่ใดที่หนึ่ง ในแง่ของเราซึ่งเป็นผู้ผลิตก็ต้องคุมต้นทุนให้ดีขึ้น ถึงเราจะเล่นไปตามกลไกราคาและโปรโมชั่น เพราะไม่อย่างนั้นก็อาจเสียโอกาสและผู้ซื้อก็ไม่ตัดสินใจซื้อเรา ขณะเดียวกันการคุมต้นทุน (cost control) ก็สำคัญมากเช่นกัน

การใช้กลยุทธ์แบบนี้ ก็เป็นไปตามทฤษฎีที่เราเรียนรู้กันมา เมื่อตลาดมีการแข่งขันหลายธุรกิจก็จำเป็นต้องปรับตัวไปตามความต้องการของลูกค้า บาง Supply หากความสามารถในการตั้งราคานำหน้า ความสามารถของผู้ประกอบการก็จะลดลง

ผศ.ดร.เกษรา  :  “ปกติเราตั้งราคาต้นทุนต่ำอยู่แล้ว บวกกับกำไรที่เราต้องการ เช่น ต้นทุนบ้านหลังหนึ่ง 900,000 บวกกำไร 200,000 เป็น 1,100,000 บาท สิ่งที่จะเปลี่ยนคือ ถ้าลดต้นทุนไม่ได้สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ margin ที่ต้องยอมรับ ในอนาคต margin ที่บริษัทได้รับก็จะลดลง ในขณะที่ ราคาที่ดินไม่เคยลดลงเลย ทำให้ค่าก่อสร้างถ้าลดลงไม่ได้มาก ก็คงต้องมาลดในเรื่องของกำไรแทนถือว่าเป็นสิ่งที่เจ้าของธุรกิจก็ต้องยอมรับ”

Q : การเน้นจับกลุ่มพรีเมียม ยังเป็นโอกาสของเจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไหม

ผศ.ดร.เกษรา  :  ด้วยเป้าหมายของการคาดหวังกลุ่มพรีเมียมในธุรกิจ มันบอกอยู่แล้วว่าคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อเพราะเป็นคนมีเงิน ข้อดีของคนกลุ่มนี้คือไม่ได้ถูกปฏิเสธโดยธนาคาร บางครั้งพวกเขาทำธุรกรรมแบบไม่ต้องผ่านธนาคารเลยก็ได้ เพราะเขาไม่มีความเสี่ยงเรื่องธนาคารปฏิเสธสินเชื่อ แต่ข้อเสียคือลูกค้ากลุ่มนี้คือมีจำนวนน้อย และเจ้าของธุรกิจทุกประเภทต่างก็แย่งชิง อีกทั้งคนกลุ่มพรีเมียมเขาก็จะมีบ้านอยู่แล้ว เขาไม่ได้หาซื้อบ้านใหม่กันบ่อยๆ แต่เขาต้องการความเป็นพรีเมียมคือมีจำนวนบ้านในโครงการแบบจำกัด เพราะต้องการความเป็นส่วนตัว

Q : กลุ่มคนอยากซื้อบ้าน ที่เสนามองหา

ผศ.ดร.เกษรา  :  ยกเว้นแค่คนที่ยอมเป็น homeless นะ มนุษย์เราไม่มีคำว่าไม่มีที่อยู่อาศัย ถ้าไม่เช่า ก็อยู่กับครอบครัว อยู่กับเพื่อน แต่ไม่มีคำว่าไม่มีที่อยู่อาศัย พี่มองว่าคนที่เช่าอพาร์ทเม้นท์ ราคา 2,000-6,000 บาท เขาสามารถเอาเงินมาผ่อนบ้านแทนได้ นี่คือกลยุทธ์ของเสนาปีนี้เลย พี่มองคนที่มีกำลังจ่ายได้อยู่แล้ว ปีนี้จึงทำเซกเม้นท์นี้เป็นพิเศษ

สิ่งที่เราทำคือเป็นหนึ่งในทางเลือกให้คนกลุ่มนี้ แทนที่เขาจะต้องจ่ายเงินค่าเช่าให้เจ้าของอพาร์ทเม้นท์ 3,000-4,000 บาทต่อเดือน มาเป็นการจ่ายให้ธอส. (ธนาคารอาคารสงเคราะห์) และยังได้เป็นเจ้าของบ้านด้วย ซึ่งคนกลุ่มนี้ที่เสนามองหาไม่ใช่กลุ่มคนที่มีกำลังจ่ายหรือไม่ แต่เป็นกลุ่มคนที่เขาจ่ายค่าเช่าบ้านอยู่แล้ว ซึ่งคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเลือกซื้อคอนโดมากกว่าเพราะกู้ซื้อบ้านในเมืองที่สะดวกในการทำงานไม่ได้ ก็จะเน้นไปที่คอนโดราคาไม่แพงแต่สะดวกในการเดินทางไปทำงานแทน

Q : ภาพรวมการซื้ออสังหาริมทรัพย์ ในกลุ่มคนรุ่นใหม่

ผศ.ดร.เกษรา  : สำหรับที่อยู่อาศัยแล้ว ด้วยปัจจัยและพฤติกรรมของแต่ละคนจะมีความแตกต่างกัน สำหรับคนที่ชอบใช้ชีวิตในเมือง ทำงานกลางเมือง ยังไงก็เลือกซื้อคอนโดอยู่ด้วยงบที่จำกัด คอนโดมิเนียมสมัยนี้ มีงบ 2 ล้านบาท ซื้อคอนโดกลางเมืองได้ แต่ถ้าซื้อบ้านราคา 2 ล้านบาท อาต้องอยู่ไกลและมีรถในการเดินทาง ดังนั้น การตัดสินใจเลือกซื้อที่อยู่อาศัยของคนรุ่นใหม่ อาจจะอยู่ที่ความต้องการในการใช้ประโยชน์ของแต่ละคน และคอนโดมิเนียมในเมืองยังมีความต้องการในกลุ่มคนรุ่นใหม่สูง

อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น ทำให้เกิดความต้องการที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮ้าส์เพราะอยากได้พื้นที่ในการผ่อนคลายและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อประโยชน์ต่อการทำงานที่บ้าน นโยบาย Work from Home ของบริษัทต่างๆ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยให้คนบางกลุ่มอยากได้บ้าน อาจจะอยู่ไกลจากเมืองหน่อยก็ได้ ขอแค่ตอบโจทย์ในการใช้ชีวิตมีพื้นที่ใช้สอยเหมาะกับครอบครัวเล็กๆ หรือซื้อเพื่ออนาคตที่จะอยู่กันแบบครอบครัว

ดังนั้น ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยของคนยุคนี้จะมีความยืดหยุ่นในเรื่องของทางเลือกอยู่บ้าง คงต้องดูที่ไลฟ์สไตล์และความชอบส่วนตัวว่าอยากจะได้ที่อยู่อาศัยแบบไหน ส่วนเหตุผลที่คนยุคใหม่ยังไม่ตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยในยุคนี้นั้น อาจเป็นเพราะยังไม่แน่ใจว่าจะเลือกบ้านหรือคอนโดดี รวมทั้งอาจจะรอจังหวะที่เหมาะสมด้วย

“ตอนนี้หลายคนอาจจะคุ้นชินกับการทำงานที่บ้าน แต่ในแง่ของความเป็นมนุษย์ทำงานบางคนยังชอบที่จะออกไปข้างนอก ไปพบเจอผู้คน มีสังคมบ้าง ด้วยพื้นฐานเราเป็นสัตว์สังคมและการทำงานแบบเจอหน้ากันในบางงานมันง่ายกว่า และคนทำงานแบบนี้เขาก็อยากมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ดีกว่า รวมถึงอยากทำงานที่ไหนก็ได้ ไม่ใช่แค่ที่บ้าน

อย่างปีที่แล้วเราถูกบังคับให้ทำงานที่บ้าน ห้ามออกไปข้างนอก ห้างสรรพสินค้าห้ามเปิด ร้านค้าต่าง ๆ ห้ามเปิด ทางเลือกของคนทำงานจึงมีแค่บ้านหรือที่ทำงาน หลายบริษัทจึงมีการปรับตัวและใช้นโยบาย work from anywhere ทำให้เราเจอคนไปนั่งทำงานตามสถานที่ต่าง ๆ และตอบโจทย์การใช้ชีวิตและทำงานไปพร้อม ๆ กันได้ดีกว่าด้วย”

 

ความคาดหวังหลังโควิด-19 บรรเทา

สิ่งแรกที่เราจะเห็นด้วยตาที่เกิดขึ้นคือ หลังมีการฉีดวัคซีนได้ครบและคนเริ่มออกเดินทาง ชาวต่างชาติจะเริ่มกลับมา ก่อนเกิดโควิด-19 ไทยเป็นประเทศที่คนต่างชาติเดินทางมาไทยเยอะสุดถึง 40 ล้านคน เพราะค่าครองชีพไม่แพง มีสถานที่ท่องเที่ยวเยอะ ถ้าสถานการณ์ทุกอย่างกลับมาอยู่ในจุดปลอดภัย ไม่ใช่แค่ประเทศเราที่พร้อม ประเทศที่เข้ามาก็ต้องพร้อมด้วย นั่นอาจจะเป็นสถานการณ์ปกติในอีก 2-3 ปี

ส่วนสถานการณ์ที่มองไม่เห็นด้วยตา นั่นคือ แผลเป็นทางเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจเองเพื่อพยุงให้ตัวเองอยู่รอดในภาวะที่ชะงักงันก็ต้องกู้ธนาคารเพื่อลงทุน ฟื้นฟู และประคองสถานการณ์ต่าง ๆ เพราะรัฐประกาศให้เราหยุดทำงาน ประกาศพักหนี้แต่ไม่ได้ตัดหนี้ พอสถานการณ์กลับมาดีขึ้น ธุรกิจก็ต้องกลับมาจ่ายหนี้ที่ค้างคาอยู่ เหล่านี้จึงเป็นแผลเป็นที่เห็นไม่ชัด แต่เป็นแผลที่ทุกคนต้องเจอ ก็ได้แต่หวังว่ารัฐจะมีนโยบายช่วยให้แผลเป็นนี้ไม่ลึกนัก

ผศ.ดร.เกษรา  :  พี่คิดว่ารัฐบาลไม่จำเป็นต้องช่วยอะไรเป็นพิเศษกับธุรกิจที่ยังเอาตัวรอดได้ แต่อยากให้ช่วยผู้บริโภคมากกว่า เช่น ลดค่าธรรมเนียมในการซื้อบ้าน นั่นก็เป็นการช่วยธุรกิจอสังหารูปแบบหนึ่ง

อีกสิ่งหนึ่งที่รัฐทำอยู่และอยากให้ทำต่อไปเรื่อยๆ คือ การ subsidrive (เงินอุดหนุน) ให้ประชาชน  เช่น การทำให้เรื่องของการกู้เงินซื้อบ้านเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นผ่านธนาคาร ซึ่งรัฐไม่ได้เอาเงินมาให้ภาคธุรกิจ แต่เป็นการเอานโยบายไปอยู่ในจุดที่ทำให้กลไกตลาดทำงานได้ง่ายขึ้น

เช่น ธนาคารอาคารสงเคราะห์ปล่อยกู้ได้ง่ายขึ้นกับคนรายได้ไม่เยอะ เป็นกลุ่มคนรายได้น้อยที่อยากซื้อบ้าน การที่รัฐใช้นโยบายกระตุ้นให้ธนาคารกล้าที่จะปล่อยเงินให้ประชาชนที่มีเงินไม่มากมาซื้อบ้าน นี่ก็เป็นการช่วยรูปแบบหนึ่งที่ไม่ได้เป็นการเอาเงินมาให้ แต่เป็นการทำให้กลไกตลาดทำงาน อยากให้ช่วยเรื่องแบบนี้ดีกว่าแจกเงินไปเลย อสังหาฯ ไม่ได้ขาดเงิน แต่ขาดคนซื้อมากกว่า

นอกจากนี้ หากมองไปในอนาคตไกลๆ ปัญหาใหญ่ของประเทศที่เราจะเจอคือ Aging Society หรือสังคมผู้สูงอายุ ที่เราจะมีจำนวนประชากรในกลุ่มนี้เยอะขึ้น ขณะที่อายุในการทำงานของเราลดลง เห็นจากบริษัทบางรายเริ่มลดอายุของคนทำงานจาก 60 ปีมาเหลือ 55 ปีบ้างแล้ว ซึ่งคนกลุ่มนี้ถ้าไม่วางแผนในอนาคตให้ดีจะมีจำนวนที่เยอะขึ้นและส่งผลต่อภาพรวมของประชากรทั้งหมด

ดังนั้น ในแง่ภาพรวมของประเทศ อยู่ที่ว่าเราปลูกฝังเรื่องการซื้อบ้านได้ดีแค่ไหน พูดแบบนี้อาจฟังดู Bias เพื่อให้คนหันมาซื้อบ้านแต่เรื่องนี้ช่วยแก้ปัญหาสังคมใหญ่ๆ ได้เรื่องหนึ่งเลยนะ หากเราสร้างความรู้เกี่ยวกับการซื้อบ้านในกลุ่มคนที่เด็กลงและวางแผนระยะยาวในการซื้อและผ่อนได้นานขึ้น รวมทั้งเลือกมีหนี้จากการซื้อบ้านก่อนมีหนี้จากสิ่งอื่นๆ

“ลองจินตนาการดูว่า หากเราถึงวัยเกษียณไม่มีเงินรายได้แต่ยังต้องผ่อนค่าเช่าเดือนละ 4,000 – 5,000 บาทต่อเดือนจะไหวไหม อย่าลืมว่ายิ่งอายุมากขึ้นความสามารถในการขอกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยก็จะลดลง ยกเว้นว่ารายได้จะโตกว่าระยะเวลาที่ลดลงนั้น ดังนั้น ในแง่ภาพรวมของประเทศ อยู่ที่ว่าเราได้ทำความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องนี้ดีแค่ไหน”

เรื่องการผลักดันให้คนฐานรากมีบ้านอยู่ ถือว่าเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลักที่เราเน้นมากในระยะแผนงานที่ไกลขึ้น รวมทั้งสร้างบ้านให้เหมาะกับการขายแก่คนกลุ่มนี้มากขึ้นด้วย

 

การลงทุนด้านพลังงาน เพื่อภาพรวมของธุรกิจในอนาคต

หนึ่งในทางออกที่เราเห็นกลุ่มธุรกิจอสังหาลงมาเล่นมากขึ้น คือการทำธุรกิจ co-working space ทั้งในรูปแบบของการพัฒนาพื้นที่เอง และร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ แต่การลงทุนในธุรกิจนี้จะยั่งยืนและสร้างโอกาสเพื่ออนาคตได้จริงหรือไม่ หรือการเดินหน้าเรื่องเทคโนโลยีใหม่อย่างโซล่าร์เซลล์ จะต้องลงทุนอีโคซิสเต็มส์อย่างไรให้คุ้มค่า

ผศ.ดร.เกษรา  : ธุรกิจโคเวิร์กกิ้งสเปซนั้น ต้องมีมากกว่าแค่นั่งทำงานตามร้านกาแฟ โคเวิร์กกิ้งสเปซควรมีอีโคซิสเต็มที่คนทำงานต้องการ เช่น อำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจแล้ว ต้องมีคอนเนคชั่นในการช่วยต่อยอดธุรกิจ ไปจนถึงมีพื้นที่ใช้สอยในการทำอีเว้นท์เพื่อช่วยสร้างโอกาสให้แก่คนที่เดินทางไปใช้พื้นที่

เราต้องคิดก่อนว่า ด้วยรูปแบบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เอง สามารถอยู่รอดได้โดยไม่ต้องมีธุรกิจอื่นมาเสริม ไม่อย่างนั้นคือการเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจแล้ว ถ้าในฐานะผู้บริหาร เราคิดว่าธุรกิจที่เรากำลังทำอยู่นั้น กำลังจะถูก disrupt ไม่ต่างจากธุรกิจโทรทัศน์หรือวิทยุในอดีต เราคงต้อง exit ธุรกิจนี้แล้ว”

สัดส่วนของ ownership ratio ในกลุ่มคนกรุงเทพและปริมณฑล ยังมีโอกาสให้เราเข้าไป expand อยู่ นอกจากนั้นแล้ว ยุคนี้คนไทยซื้อบ้านมากกว่า 1 ครั้ง และอายุของคนที่ซื้อบ้านก็เด็กลง ด้วยข้อเท็จจริงนี้ทำให้พี่เชื่อว่าธุรกิจบ้านยังมีโอกาสขยายได้อยู่ เพียงแต่กราฟไม่ได้ เติบโตขึ้นสูงมาก ก็ขรุขระไปตามเรื่องตามราว เหมือนที่เกิดขึ้นตอนนี้

ตอนปี 2018 มีการเติบโตที่ดีมาก จากนั้นก็ค่อยๆ ลดลงและปีนี้ก็ลดลงไปอีก แต่ไม่ได้หมายความว่าความต้องการซื้อบ้านแบบ organic นั้นไม่มี แค่สภาพเศรษฐกิจอาจจะไม่ได้เอื้อให้ซื้อในตอนนี้ สิ่งที่เราต้องทำคือ ทำสินค้าให้เหมาะสม ในปริมาณที่เหมาะสมกับสภาวะในตอนนี้ เพื่อรอเวลาตลาดฟื้นกลับมา ได้อีกครั้งในอนาคต

ไม่ว่าจะทำธุรกิจเสริมอะไร นั่นก็คือธุรกิจเสริม เราต้องเดินหน้าธุรกิจหลักให้อยู่รอดได้ก่อน ไม่งั้นจะกลายเป็นเรา exit ธุรกิจตัวเองแล้วไปหาธุรกิจใหม่ ซึ่งเราไม่ได้คิดแบบนั้น เราคิดว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังไปได้อยู่ แค่ต้องหาเซกเมนต์ที่เหมาะสม ทำการตลาดให้ดี และหาโลเคชั่นที่ยังมีความต้องการซื้ออยู่

Q : การลงทุนใหม่ เพื่อสังคมที่จะเปลี่ยนแปลงในอนาคต

ผศ.ดร.เกษรา  :  ส่วนเรื่องที่เราเดินหน้าทำเรื่องโซล่าร์เซลล์ คือเอามาติดกับบ้านที่ขายและโครงการคอนโด ซึ่งเราจะเข้าไปลงทุนเรื่องอีโคซิสเต็มส์ของโซล่าร์เซลล์ไปทำกับบ้านที่ขายมากขึ้น ซึ่งเราพยายามทำแผนธุรกิจกับมันอยู่ ไม่ใช่แค่ติดตั้ง แต่ต้องเป็นการบำรุงรักษาได้ตลอดเวลา รวมทั้งการใช้ประโยชน์ของโซล่าร์เซลล์เนี่ย จะใช้ประโยชน์ได้สูงสุดคืออีโคซิสเต็มต้องเชื่อมโยงกันได้พร้อม เช่น กลุ่มธุรกิจรถยนต์มีการนำเข้ารถยนต์อีวีเข้ามามากขึ้น ซึ่งคนที่ซื้อรถประเภทนี้ก็ต้องการที่ชาร์จรถยนต์และควบคุมค่าไฟได้ด้วย จึงมีการติดตั้งที่ชาร์จไว้ในโครงการ เป็นต้น การที่เราผลักดันเรื่องโซล่าร์เซลล์ เราเองก็ต้องมองหาธุรกิจที่สอดคล้องและเดินหน้าไปกับธุรกิจของเราได้ด้วย นั่นถึงเป็นโอกาสที่จะยั่งยืนเพื่อธุรกิจในอนาคต

 

การทำธุรกิจยุคใหม่นี้ ไม่ใช่แค่รักษาการเติบโตของรายได้เดิม แต่ต้องมองหาธุรกิจที่สอดคล้อง นั่นถึงจะเรียกว่าเป็นการเดินหน้าธุรกิจที่ยั่งยืนเพื่ออนาคต และการรักษาภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่ดีก็ต้องมีนโยบายในการดูแลรักษาสภาพแวดล้อมให้แก่โลกของเราไปพร้อมกันด้วย