เรื่องของสถานการณ์ COVID-19 นอกจากจะเปลี่ยนพฤติกรรมของคนทำงานแล้ว กลุ่มนักเรียนนักศึกษาก็เรียกว่าต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเร็วมาก เพราะขณะนี้ยังไม่ได้เข้าสู่ช่วงของการปิดภาคเรียน สถาบันการศึกษาจึงยังต้องเปิดการเรียนการสอนอยู่ ดังนั้น หลายมหาวิทยาลัยจึงต้องปรับเปลี่ยนระบบการเรียนการสอนให้ทันต่อสถานการณ์ในขณะนี้
ทีมงาน Thumbsup จึงได้สัมภาษณ์พิเศษ ผศ.ดร.วิรัช เลิศไพฑูรย์พันธ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีปทุม เกี่ยวกับมาตรการรองรับ COVID-19 ของมหาวิทยาลัยศรีปทุม รวมทั้งการปรับระบบการเรียนการสอนจากแบบเปิดสอนในห้องเรียนเป็นการสอนผ่านระบบออนไลน์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ว่ามีการปรับตัวอะไรที่น่าสนใจบ้างค่ะ
COVID-19 กระตุ้นให้ต้องปรับตัวเร็วขึ้น
ด้วยทุกหลักสูตรของมหาวิทยาลัยศรีปทุม นอกจากจะมีการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนแล้ว แต่ละรายวิชาจะมีระบบเสริมการเรียนรู้ ด้วยการเรียนการสอนแบบออนไลน์โดยมีระบบ Learning Management System (LMS) คือ ระบบจัดการการเรียนการสอนออนไลน์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในการจัดห้องเรียนเสมือนให้กับนักศึกษาทุกคน เพื่อให้นักศึกษาได้ใช้ในการทบทวนและฝึกทักษะเพิ่มเติม ซึ่งเมื่อเกิดสถานการณ์วิกฤตขึ้น ระบบที่เราดำเนินการอยู่จากเดิมที่เป็นระบบเสริมช่วยสนับสนุน ก็ได้ปรับเปลี่ยนเป็นระบบหลักและใช้งานได้ทันที
ผศ.ดร.วิรัช : ผมคิดว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ทุกคนต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว ถึงแม้ว่ามหาวิทยาลัยศรีปทุมจะมีระบบการเรียนการสอนออนไลน์เป็นส่วนคู่ขนานสนับสนุนการเรียนการสอนหลักอยู่เดิมก็ตาม แต่เมื่อต้องปรับให้ส่วนสนับสนุนมาทำหน้าที่ส่วนหลัก ต้องเพิ่มการสอนสดออนไลน์ให้เสมือนกับการเรียนการสอนปกติแบบไม่มีรอยต่อ ก็เป็นเรื่องที่ต้องมีการปรับตัวอย่างรวดเร็วในหลายส่วน
เรื่องของการสอนสดผ่านระบบออนไลน์นั้น ต้องยอมรับว่ามีอาจารย์บางท่านเช่นกันที่มีความกังวลว่าจะทำออกมาได้ดีหรือไม่ เพราะบางท่านยังไม่คุ้นเคยกับการสอนสดออนไลน์ ซึ่งมหาวิทยาลัยก็เข้าใจในจุดนี้ดี จึงมีการจัดระบบอบรมอาจารย์ออนไลน์แบบตัวต่อตัวให้อาจารย์ทุกท่านคุ้นเคยกับการใช้โปรแกรมและเครื่องมือต่างๆในการจัดการเรียนการสอนสดออนไลน์ โดยอาจารย์แต่ละท่านจะได้ทดลองสอนสดออนไลน์ไปกับทีมโค้ชที่สมมติบทบาทเป็นนักศึกษา เพราะเราเข้าใจว่าการปรับตัวเข้าสู่การสอนสดแบบออนไลน์นั้น ไม่ใช่ว่าทุกคนจะทำได้ทันที เราจึงมีทีมโค้ชมาเป็นที่ปรึกษาในการเตรียมพร้อม รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นในการสอนรูปแบบใหม่ให้กับอาจารย์ นอกจากเรื่องความสามารถในการสอนออนไลน์ของอาจารย์แล้วยังมีเรื่องของเครื่องมือเช่นคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต มหาวิทยาลัยก็ได้จัดเตรียมคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตไว้ให้กับอาจารย์ที่ต้องการการสนับสนุนเพื่อให้มีความพร้อมในทุกด้าน
ส่วนนักศึกษาต้องเรียกว่าโลกออนไลน์เป็นกิจกรรมที่พวกเขาคุ้นชินอยู่แล้ว ไม่ต้องปรับตัวมาก เด็กๆ นักศึกษาเรียนรู้ไว แค่มีระบบและช่องทางให้พร้อม พวกเขาก็สามารถใช้งานได้แล้ว ซึ่งเดิมนักศึกษาของเราทุกคนก็ต้องเข้าไปใช้ระบบ SPU e-Learning อยู่แล้วเพื่อทบทวนและทำกิจกรรมที่อาจารย์มอบหมาย ซึ่งสิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นคือการเข้าห้องสอนสดออนไลน์ ซึ่งก็เป็นเรื่องง่ายเพราะอยู่ในห้องเรียนออนไลน์ของแต่ละวิชาที่ระบบสร้างขึ้นไว้ตั้งแต่เปิดภาคเรียนอยู่แล้ว และยังมีช่องทางอื่นๆที่อาจารย์ผู้สอนจัดส่งให้กับนักศึกษาตามช่องทางการสื่อสารหลักของแต่ละวิชา
สิ่งที่มหาวิทยาลัยเตรียมให้กับทางอาจารย์และนักศึกษาคือระบบที่อาจารย์และนักศึกษาสามารถจะใช้ในการจัดการเรียนการสอนได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด นอกจาก ระบบ SPU e-Learning แล้วก็ยังมีส่วนของโปรแกรมเพื่อการสอนสดออนไลน์ เช่น Zoom, Google Meet หรือ Microsoft Teams
ซึ่งทางมหาวิทยาลัยก็พยายามที่จะฟังเสียงของทั้งทุกฝ่ายว่าเจอปัญหาอะไรหรือติดขัดในส่วนใดหรือไม่ เพื่อที่จะเข้าไปช่วยสนับสนุน ให้การเรียนการสอนไม่สะดุด ทำให้ตลอดระยะเวลาที่ต้องงดการเรียนการสอนในห้องเรียนเปลี่ยนเป็นการสอนออนไลน์ 100% นั้นไม่ได้ส่งผลเสียต่อการเรียนรู้ของนักศึกษาเลย
มุมมองของนักศึกษาและคณาจารย์กับการเรียนออนไลน์
ผศ.ดร.วิรัช : ช่วงแรกก็กังวลครับว่าจะปรับตัวกันได้ทันไหม แต่ถ้าให้ประเมิน ณ จุดนี้ให้เต็มสิบทั้งคู่เลยครับ ทั้งอาจารย์และนักศึกษาปรับตัวกันได้เร็วมาก จากที่ทางฝ่ายบริหารกังวลในช่วงแรกคือเมื่อต้องเจอภาวะปรับเปลี่ยนใหม่อย่างกระทันหัน ก็ไม่แน่ใจอยู่ว่าจะทำการเรียนการสอนกันได้ราบรื่นแค่ไหน แต่ตอนนี้เรียกได้ว่าทุกคนทำได้ดีมากครับ
นอกจากประเมินเรื่องของมาตรฐานจัดการเรียนการสอนแล้ว เราก็ดูถึงความพึงพอใจด้วยว่าทั้งอาจารย์และนักศึกษามีความพึงพอใจกับการเรียนการสอนรูปแบบออนไลน์มากน้อยแค่ไหน เราพบว่านักศึกษาส่วนใหญ่พอใจกับการเรียนการสอนในระบบนี้ โดยมีบางส่วนที่ชอบเข้าเรียนออนไลน์มากกว่าการเรียนในชั้นเรียนเสียอีก ด้วยเหตุผลที่หลากหลายตามสไตล์วัยรุ่น เช่น ทุกคนมีพื้นที่ในการแสดงความเห็นได้หลากหลายมากขึ้น รวมไปถึง การที่ไม่ต้องเดินทาง ไม่ต้องแต่งตัว มีครอบครัวมาเรียนด้วยได้ และอีกหลายๆเหตุผล
ส่วนในมุมของอาจารย์เอง จากที่ช่วงแรกกังวลว่าจะสอนสดออนไลน์ได้ดีไหม แต่จากภาพรวมที่ผ่านมาพบว่าอาจารย์ทุกท่านปรับตัวได้ดีมาก อาจารย์รู้สึกว่าตอนนี้ไม่มีนักศึกษาหลังห้องอีกต่อไป
ทุกคนอยู่ใกล้ชิดอาจารย์มากขึ้นด้วยซ้ำเพราะระบบที่เราใช้อาจารย์กับนักศึกษาเห็นหน้ากันแบบใกล้ชิด นักศึกษามีความกล้าในการแสดงออกมากขึ้น กล้าตอบและกล้าที่จะออกความเห็นมากขึ้น แม้กระทั่งวิชาภาคปฏิบัติ ที่ดูจะเป็นเรื่องยาก อาจารย์ก็สามารถจัดการได้เป็นอย่างดีเช่นกัน เช่นวิชาเกี่ยวกับการทำอาหารของ วิทยาลัยการท่องเที่ยวและการบริการ อาจารย์ก็สามารถสอนและสาธิตให้นักศึกษาดูแล้วนักศึกษาก็ทดลองทำตามและแชร์ประสบการณ์ทำอาหารส่งอาจารย์แบบออนไลน์
ซึ่งผมคิดว่าการเข้าสู่การเรียนการสอนแบบออนไลน์นั้นผ่านการทดสอบขั้นแรกแล้ว (อ่านเรื่องราวของนักศึกษาที่นี่)
ภาพรวมแล้วถือว่าเป็นสถานการณ์ที่สร้างโอกาส เพราะเรื่องของ Digital Transformation เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยมีแผนจะเดินไปอยู่แล้ว แค่จังหวะของโควิด-19 เร่งเครื่องให้การปรับตัวเร็วขึ้น และกลายเป็นไม่ว่าใครก็ต้องลงมือทำเลย ไม่ใช่ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนทีละฝ่ายทีละหน่วยงานอีกต่อไป
เปิดเทอมใหม่ยังใช้การเรียนออนไลน์อยู่
ผศ.ดร.วิรัช : สำหรับการเรียนการสอนในเทอมใหม่นั้น ผมคิดว่าคงเกิดความเปลี่ยนแปลงในกลุ่มผู้เรียนอย่างแน่นอน พวกเขาจะมีประสบการณ์แบบใหม่ มุมมองใหม่ในการเรียน ถ้ากลุ่มนักศึกษาสามารถปรับตัวเองได้อย่างเต็มที่ แน่นอนว่าหลักสูตรที่จะเป็นออนไลน์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์คงมีตามออกมาจำนวนมาก
ด้วยกลยุทธ์ของมหาวิทยาลัยศรีปทุมคือจัดกระบวนการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับผู้เรียน ต้องพยายามที่จะผสมผสานการเรียนการสอนให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้เรียนให้มากที่สุด การเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์นั้นจะเติบโตขึ้นแน่นอนหลังวิกฤตนี้ แต่เราก็ต้องการให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและสังคมด้วย จึงยังต้องรักษาการมีส่วนร่วมผ่านกิจกรรมรูปแบบต่างๆ เพื่อให้นักศึกษามีทั้งทักษะวิชาชีพและทักษะทางสังคมอย่างรอบด้าน
สำหรับภาคฤดูร้อนที่จะถึงนี้ การเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยศรีปทุมจะเป็นระบบออนไลน์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งมหาวิทาลัยก็ได้จัดแผนปรับรายวิชาให้มีความเหมาะสมกับการเรียนออนไลน์มากขึ้น และเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆไว้เพื่อรองรับการจัดการเรียนการสอนออนไลน์เต็มรูปแบบ
ส่วนภาคการศึกษาถัดไปหลังจากภาคฤดูร้อนซึ่งจะเปิดในช่วงเดือนสิงหาคมนั้น เราก็ยังคงต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้ง ว่าจะกลับเข้าสู่ระบบการเรียนแบบเดิมหรือยังต้องเรียนผ่านระบบออนไลน์อยู่ ซึ่งอาจใช้การเรียนแบบผสมผสานสร้างประสบการณ์รูปแบบใหม่ เพราะเราคำนึงถึงความปลอดภัยของนักศึกษาเป็นสำคัญ
หากปัญหาเรื่อง COVID-19 ยังคงยืดเยื้อ สิ่งที่มหาวิทยาลัยศรีปทุม วางเป้าหมายไว้คือการเตรียมระบบการเรียนการสอนแบบออนไลน์ให้พร้อมมากขึ้น จากที่เมื่อก่อนหลายคนเคยกังวลว่าระบบการศึกษาของไทยเมื่อขึ้นไปอยู่บนช่องทางออนไลน์แล้ว จะสำเร็จไหม
สถานการณ์ต่างๆ ในวันนี้น่าจะชี้ให้เห็นแล้วว่า การเรียนการสอนแบบออนไลน์มันเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน และในอนาคตหลังสถานการณ์วิกฤตนี้ยุติลงกลับสู่ภาวะปกติ เชื่อว่า เด็กรุ่นใหม่ยังคงอยากเรียนในรูปแบบออนไลน์นี้มากขึ้น ทางมหาวิทยาลัยจึงเตรียมรับมือกับรูปแบบการเรียนยุคใหม่ที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ของนักศึกษาเป็นสำคัญ
เดินหน้าระบบพร้อมสู่การเรียนแบบออนไลน์แล้ว
การจัดการเรียนการสอนออนไลน์เต็มรูปแบบอย่างมีคุณภาพจำเป็นต้องมีความพร้อมในหลายด้าน เช่น ระบบการจัดการเรียนการสอน ระบบบริการ ทักษะและความพร้อมของอาจารย์ เจ้าหน้าที่ รวมไปถึงความพร้อมของผู้เรียน
ด้วยระบบและบุคคลากรของมหาวิทยาลัยศรีปทุมมีอยู่เรามีความพร้อมที่จะจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์อย่างมีคุณภาพ และจากเหตุการณ์ครั้งนี้ยิ่งทำให้เรามีความพร้อมมากขึ้น และเดินหน้าเต็มที่สู่การจัดการเรียนการสอนออนไลน์อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพเพื่อตอบโจทย์การเรียนรู้ในอนาคต