เรื่องของการเงินเป็นปัญหาสำคัญของคนทั่วโลก เพราะถือว่าเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ของชีวิตที่ทุกคนจำเป็นต้องมี เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิต แต่น่าแปลกคือคนเราเลือกที่จะนำเงินไปลงทุน นำเงินไปใช้จ่ายและเป็นส่วนหนึ่งในต้นทุนของการสร้างชีวิต แต่กลับไม่มีใครคิดถึงการ “เก็บเงิน” ที่เรียกว่าเป็นขั้นแรกของการมีเงิน
ทีมงาน thumbsup ได้สัมภาษณ์ คุณถนอม เกตุเอม หรือ “บักหนอม” เจ้าของเพจ TaxBugnoms เกี่ยวกับโลกการเงินในอนาคต รวมทั้งการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่มีไลฟ์สไตล์ลดการใช้เงินสดไปใช้เงินอนาคตมากขึ้น และนั่นเป็นเหตุผลที่คนไทยกล้าใช้ กล้าจ่าย แต่กลับไม่กล้าที่จะเก็บ และในสภาวะที่เจอวิกฤตโควิด-19 ยิ่งส่งผลกระทบในการใช้จ่ายอย่างมหาศาล
ภาพรวมการเงินการธนาคารในปี 2019 และคาดการณ์ปี 2020
ตั้งแต่ปลายปี 2019 จนมาถึงช่วงไตรมาสแรกของปี 2020 นั้น เรียกได้ว่ามีความพีคทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นการปรับตัวของสถาบันการเงินที่สู้กับบริการทางการเงินที่ไม่ใช่เงิน การทะยอยปิดสาขา รวมทั้งการเข้าสู่ช่วงตกต่ำของตลาดหุ้นไทยและทั่วโลก รวมไปถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ยังไม่รู้จะจบเมื่อไหร่
คุณถนอม : ที่ผ่านมา 2019 สาขาเล็กถูกปิดลงและจะเห็นการควบรวมของกิจการขนาดกลางเข้าด้วยกัน แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงก็อย่างที่ทราบกันดีว่าจะไปทางดิจิทัลแบงกิ้งมากขึ้น มีการใช้ธุรกรรมออนไลน์มากขึ้น คนไปแบงค์น้อยลง อันนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแน่ๆ และต่อเนื่องในอนาคตครับ ซึ่งปี 2020 ก็คงต้องเตรียมเรื่องพวกนี้เพิ่มมากขึ้น และคงสอดคล้องกับสถานการณ์ตอนนี้ด้วยก็ได้
ความผันผวนในเศรษฐกิจช่วงไตรมาสแรกของปี 2020
คุณถนอม : ถ้าพูดถึงความผันผวนทางเศรษฐกิจก็น่าจะเกิดจากภาพรวมที่เกิดขึ้นนะครับ ไวรัสเป็นปัญหาใหญ่ของทั้งเศรษฐกิจและของโลกด้วยนั่นทำให้ ซบเซาหลายเรื่อง เช่น ท่องเที่ยวกระทบแน่นอน เพราะมันลดทั้งนักท่องเที่ยวและสภาพเศรษฐกิจของคนด้วย คนจะเริ่มลดการใช้เงินเพราะไม่แน่ใจเลยว่าอะไรจะเกิดขึ้น บางทีมันก็กระทบไปถึงการทำงานด้านอื่นๆ มนุษย์เงินเดือนก็จะมีโอกาสโดนปลดออก หลายอย่างกระทบเป็นโดมิโนเอฟเฟ็กต์มาเรื่อยๆ เลยครับ
วางแผนทางการเงินในสถานการณ์โควิด19
คุณถนอม : ทำให้หลายคนอาจต้องเริ่มกลับมาทบทวนตัวเองก่อนว่าจะอยู่รอดอย่างไร หากเจอปัญหาวิกฤตทางการเงิน ถ้าเป็นคนทั่วไปที่เป็นพนักงานเงิน อาจต้องวางแผนให้มากหน่อย หากเกิดปัญหาเลิกจ้างหรือตกงานกะทันหัน ส่วนเจ้าของธุรกิจที่มีรายได้ ก็อาจจะเริ่มกลับมาดูว่าวันนี้เรามีค่าใช้จ่ายอย่างไร ส่วนไหนที่ประหยัดได้ก็คงต้องประหยัดหน่อย ควบคุมให้ดี
เหล่ามนุษย์เงินเดือนหลายคนกังวล แต่อาจไม่ถึงขั้นกับต้องเลิกใช้นะครับ แค่ใช้ให้พอดีและตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นอะไรพวกนี้ออกไปก่อนจะทำให้เรา มีข้อมูลตัวเองในเรื่องการใช้จ่าย ถ้าเป็นคนที่เก็บข้อมูลตัวเองมาดี เช่น ทำบัญชีรายรับรายจ่าย ก็จะเห็นค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยชัดขึ้น ก็อาจจะตัดในส่วนที่ไม่จะเป็นเหล่านี้ออก ส่วนเรื่องรายได้ อาจต้องหาช่องทางเสริมไม่ใช่แค่งานประจำ มีงานเสริมอาจจะไม่พอแล้วอาจต้องหารายได้หลายๆ ทาง
หรือภาคธุรกิจ ก็ต้องประคองธุรกิจด้วยการรักษากระแสเงินสดไว้ก่อน เราจึงเห็นปัญหาอย่างการเลิกจ้าง หรือว่าลดขั้นเงินเดือนลง เพื่อให้บริษัทสามารถพยุงธุรกิจให้อยู่รอดได้ไปก่อน เพราะทุกอย่างท่ีทำได้คือทำไปก่อนและรอเวลา เมื่อมันมีตกและก็มีขึ้น สิ่งที่ทำได้คือประคองทุกอย่างไปให้อยู่ได้นานที่สุด เมื่อวันที่มันกลับมาเราก็จะได้พร้อมและพนักงานก็จะมีทักษะในแง่มุมอื่นๆ ที่ดีขึ้นด้วยครับ
“เก็บเงิน” คำพูดง่ายๆ ที่ทำกันได้ยาก
หลายคนอยากมีเงินเยอะๆ แต่เรื่องที่คนส่วนใหญ่ไม่ยอมทำคือการเก็บเงิน ทุกคนมักมองไปที่การลงทุนในด้านต่างๆ ทั้งประกันชีวิต เงินออม ดอกเบี้ยจากหุ้น ดอกเบี้ยธนาคาร แต่กลับไม่ยอมที่จะ “เก็บเงิน” เพื่อรักษาสภาพคล่องของกระเป๋าเงิน
คุณถนอม : ถ้าให้แนะนำเก็บเงินคนส่วนใหญ่คือไม่ค่อยอยากเก็บ ดังนั้น สิ่งที่อยากให้เค้ามองคือวันนี้เราใช้จ่ายเกินตัวไปรึเปล่า อาจจะต้องเริ่มจากการใช้จ่ายก่อนนะครับ
ส่วนหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายุคนี้เป็นยุคที่คนเห็นอะไรก็ซื้อได้ง่าย เราซื้อของได้ง่ายขึ้น เพราะมีเทคโนโลยีเข้ามาอำนวยความสะดวกให้เราซื้อได้ง่ายขึ้นอยู่แล้ว ฉะนั้น เมื่อมีสินค้าที่น่าสนใจเข้ามากระตุ้นได้ง่าย ก็อยู่ที่ว่าเราจะสามารถควรคุมตัวเองเรื่องการใช้จ่ายได้ไหมว่ามากไปหรือเปล่า จะมีสัญญานมาบอกว่าบางอย่างถ้าเราไม่ได้ต้องการของสิ่งนั้นมากอย่างที่คิด หรือค่าใช้จ่ายบางอย่างมันอาจจะไม่ได้จำเป็นขนาดนั้นก็ได้ อาจจะลองกลับมาทบทวนตรงนี้ก่อนครับ
พอทบทวนตรงส่วนนี้เสร็จปั๊บเราจะมองเห็นว่า รายได้ที่แท้จริงของเราควรได้เท่าไหร่ ถึงจะเหมาะสมกับพฤติกรรมการใช้จ่ายของเรา ถ้าเราเห็นว่ารายได้เราเยอะ เมื่อใช้จ่ายแล้วไม่กระทบกับรายได้ภาพรวมของเราอันนี้ไม่ต้องกังวล
แต่ถ้ามองแล้วค่าใช้จ่ายไม่เพียงพอ เจอปัญหารายได้กับรายจ่ายชนเดือนหรือมากกว่าด้วยเนี่ย อันนี้แปลว่ามีปัญหาแล้ว ทางแก้ก็ปกติเลยครับ หากคุณจะลดค่าใช้จ่ายลงหรือจะเพิ่มรายได้ ในระยะยาว คุณก็ต้องเพิ่มรายได้ตัวเองขึ้น แต่วันนี้ที่คุณทำได้ดีคือจำกัดรายจ่ายที่สำคัญก่อน แล้วค่อยเริ่มเก็บเงิน
เรื่องการเก็บเงินหลายคนอาจจะบอกว่า “เก็บยากจังเลย” ซึ่งถ้ามาดูสถานการณ์ตอนนี้ คนท่ีมีเงินสำรองในวันนี้ ได้ประโยชน์กว่าคนไม่มีเงินนะ ครับ วันนี้ใครที่มีเงินสำรองอยู่กับตัว เขาจะรู้ตัวเองว่าเขาจะสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้อีกกี่เดือน ใช้ชีวิตแบบไหนได้ หากไม่ทำงานหรือไม่มีรายได้จะอยู่ต่ออย่างไร
ในขณะที่คนใช้ชีวิตแบบเดือนชนเดือนจะเครียดมากแล้ว ถ้าเกิดถูกไล่ออกในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจก็ไม่ดี ส่งผลกระทบทุกกลุ่ม เริ่มงานใหม่ก็ไม่ได้ จะเริ่มมีปัญหาใหญ่แล้ว ถ้าไม่เก็บเงินตอนนี้แล้วอะไรจะเกิดขึ้น บางทีเอาความกลัวตรงนั้นมาคุยกับตัวเอง จะทำให้เรามีแรงใจมากขึ้นกว่าคำพูดเชิงบวกก็ได้ครับ
ใช้จ่ายออนไลน์ โอกาสหมดตัวสูง
พฤติกรรมของการใช้จ่ายออนไลน์ เพิ่มสูงขึ้นทุกปี แน่นอนว่าทั้งการผลักดันเรื่องของโปรโมชั่นหรือราคาสินค้าที่หั่นลงมาเพื่อดึงดูดให้คนอยากซื้อ ย่อมเป็นข้อดีของผู้ใช้งาน แต่ในระยะยาวการใช้จ่ายผ่านระบบอีวอลเลตหรืออีเพย์เมนท์ นอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกแล้ว แน่นอนว่าเพิ่มการใช้จ่ายสำหรับคนที่ไม่ระวังแน่นอน
คุณถนอม : จริงๆ ทุกวันนี้สมาร์ทโฟนเข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมคนมากทุกวันแล้วนะครับ ถ้าเราซื้อของออนไลน์ในแต่ละแพลตฟอร์มผ่านระบบ wallet ของแต่ละแพลตฟอร์ม บวกกับโปรโมชั่นที่ดึงดูดใจแล้ว ยิ่งเพิ่มโอกาสการใช้จ่ายมากขึ้น แม้ว่าข้อดีของการที่มีโปรโมชั่นมากมายคือ เราได้สินค้าราคาถูกลง และโอกาสในการปรับตัวเข้าสู่ออนไลน์ก็มากขึ้น ยิ่งมีหลายแพลตฟอร์มมากระตุ้นการใช้จ่าย ยิ่งทำให้ขาดความชั่งใจในการตัดสินใจซื้อมากขึ้น ในหนึ่งวันแค่มีมือถือเครื่องเดียวเราก็สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้แล้ว
ดังนั้น ในอนาคตพฤติกรรมเหล่านี้ อาจจะเปลี่ยนเร็วมากขึ้นไปอีกก็ได้ ประกอบกับนโยบายภาครัฐเอง ที่ก็กระตุ้นให้คนใช้เงินออนไลน์ เพราะมันติดตามร่องรอยการใช้เงินได้ เห็นถึงข้อมูลภาษีได้ เห็นการใช้จ่ายได้ มันก็เป็นแนวทางที่ไปด้วยกันอะครับ สุดท้ายก็จะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนมาเป็นธุรกรรมออนไลน์มากขึ้น แต่จะเร็วแค่ไหนอยู่ที่พฤติกรรมผู้บริโภคว่าพร้อมจะเปลี่ยนเมื่อไหร่ครับ
เทรนด์การใช้จ่ายผ่านแอพและวอลเลต
คุณถนอม : ส่วนใหญ่ธนาคารก็ปรับตัวอยู่แล้วทุกอย่างพยายามลดการมาแบงค์ ลดสาขาธุรกรรมออนไลน์มากขึ้น การตรวสอบตัวตนก็จะดีขึ้นซึ่งมันก็จะตรวจสอบที่ไปที่มาการใช้ได้ดีขึ้น รวมถึงธนาคารเองก็ลดต้นทุนได้ด้วยมันก็เป็นประโยชน์ทางบวกของธนาคารทั้งหมดแล้วก็อนาคตเชื่อว่า ธนาคารจะวิ่งมาหาผู้บริโภครายย่อย สุดท้ายไม่ว่าจะเป็นอีวอลเลตหรือว่าธนาคารทุกอย่างจะเข้ามาเป็นระบบเดียวกันและแข่งขันกันแน่ๆ
ข้อดีของการมีบริการทางการเงินแบบออนไลน์ก็คือ สะดวก ทำให้ผู้บริโภคใช้ชีวิตง่ายขึ้น แถมลดโอกาสติดเชื้อไวรัสได้ถ้าเราไม่จับธนบัตรโดยตรง ซึ่งระบบออนไลน์จะมีความน่าเชื่อถือได้มากกว่าการพกเงินสด ที่มีโอกาสหายได้มากกว่าแล้วนะ แต่ในทางกลับกันพอมันสะดวกสบายเกินไป เราก็จ่ายเงินมากขึ้นเช่นกันเราจะรู้สึกว่ามันจ่ายง่ายและไม่รู้สึกว่ามันแย่
ยิ่งถ้าเป็นการใช้จ่ายออนไลน์แบบเชื่อมกับบัตรเครดิตอีก เราจะยิ่งไม่รู้สึกเลยว่าเงินหมดไวมาก ข้อเสียก็คือถ้าเราคุมตัวเองไม่ได้จะใช้เก่งขึ้น เพราะจ่ายง่ายขึ้นมากๆ หรือถ้าไม่เข้าใจเทคโนโลยีดีพอ เราอาจถูกหลอกลวงก็มี เพราะมันถูกหลอกลวงง่ายขึ้น อันนี้ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งเหมือนกัน
บริการทางการเงินแลกกับข้อมูล
คุณถนอม : ทุกอย่างที่เราใช้ออนไลน์แพลตฟอร์มทุกอย่างมันมีการเข้าถึงข้อมูลอยู่แล้วครับ ประเด็นคือเราเคยอ่านหรือเปล่าด้วย ทุกอย่างมันขอข้อมูลเราหมดนะไม่ว่าจะเป็นเฟสบุคหรือบริการท่ีเราใช้กันอยู่เนี่ยมันเข้าถึงข้อมูลของเราได้หมด เรายินดีให้ เพราะว่าเราสะดวกในการใช้งาน
แต่ถามว่าข้อมูลจะถูกเอาไปทำอะไร เราต้องดูเงื่อนไขที่เขากำหนดไว้ทำอะไร บางเรื่องอย่างเช่นธนาคารเนี่ย ถ้าจำไม่ผิดตอนเปิดใช้งานโมบายแบงกิ้งเขาก็ขอการเข้าถึงข้อมูลของเราอยู่แล้ว ขอไว้เพื่อที่จะได้ไม่ต้องขออีกในอนาคตมั้ง อันนี้ไม่แน่ใจแต่ว่าโดยรวมเป็น policy ที่ต้องขอไว้ก่อนจะใช้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ธนาคารนำข้อมูลเราไปขายได้ไหม?
คุณถนอม : มีโอกาสเอาข้อมูลไปขายไหม มันต้องดูเงื่อนไขว่าเขาระบุไว้ว่าจะให้ privacy เราหรือเปล่า บางเรื่องเขาระบุชัดเจนเลยว่าข้อมูลนี้จะไม่ถูกนำไปใช้งานเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลผู้บริโภคของเขาเท่านั้น อันนี้คือจบขายไม่ได้ ไม่งั้นผิดกฏหมาย แต่ถ้าเขาไม่ระบุก็มีสิทธิ์ผู้ใช้เอาไปทำอะไรก็ได้
การที่เขาขอข้อมูลโซเชียลมีเดียของเรามากขึ้น เพราะต้องการที่จะได้ข้อมูลที่ชัดเจนขึ้น เหมือนเขาอยากรู้ข้อมูลเชิงพฤติกรรมทุกอย่างของเราเลยอ่ะ หากมองย้อนถึงพวกบัตรเครดิตที่ชอบโทรมาให้เราสมัครบัตรเนี่ย สมัยก่อนเขาจะเช็คข้อมูลจากการโทรไปถามฝ่ายบุคคลของบริษัทเพื่อยืนยันตัวตนว่าเราทำงานที่นั่นจริงไหม ประวัติการเงินเป็นอย่างไร ซึ่งธนาคารจะได้ข้อมูลแค่ทำงานอะไร เงินเดือนเท่าไหร่
แต่ไม่ได้ในเชิงพฤติกรรม แต่ถ้าเป็นการเข้าถึงข้อมูลบนออนไลน์ เขาจะรู้เลยว่า คุณซื้อสินค้าอะไรบ้างผ่านระบบออนไลน์ คุณเป็นคนแบบไหน เป็นหนี้สินเชื่อไหม ก็จะเก็บละเอียดมากขึ้นเรื่อยๆ หรือแม้แต่พวกเฟสบุค พฤติกรรมการโพสต์ ความสนใจก็จะถูก Feed ขึ้น ข้อมูลก็จะถูกใช้มากขึ้นเช่นกัน
เราควรจะทำใจว่าข้อมูลสาธารณะเรามันเป็นเรื่องปกติ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะทำอะไรบนโลกออนไลน์เราควรจะรู้ตัวเองก่อนว่ามันเป็นสาธารณะนะถ้าเกิดไม่อยากให้รู้คือต้องไม่ทำเลยอะครับง่ายสุด ถ้าคุณไม่โพสต์ status บ่อยๆ บนเฟสบุค คุณไม่เขียนว่าชอบอะไร เขาก็เก็บข้อมูลคุณไม่ได้
เรากำลังเสียความเป็นส่วนตัวไหม ?
คุณถนอม : ข้อมูลส่วนตัวเนี่ยถ้าเราไม่บอกเขาไม่รู้อยู่แล้ว แต่ที่เราบอกเขาเพราะรู้สึกว่านี่เป็นโลกที่เราต้องให้ข้อมูล ถามว่าผิดไหมมันก็ไม่ได้ถูกไม่ได้ผิดเขาก็ต้องได้ดาต้าไม่งั้นเค้าจะทำให้เราใช้ฟรีๆ เพื่ออะไร มันก็เป็นสิ่งที่ต้องแลกอะครับ เหมือนอย่างประกันโควิดที่หลายบริษัทเขาแจกฟรีอะครับ จะเอาไหมอ่ะ ถ้าจะเอาก็ต้องแลก แล้วคิดว่าคุ้มไหมอ่ะ ถ้าไม่คุ้มฉันทำประกันอย่างอื่นก็ได้ มันไม่ใช่แค่เห็นแก่ของฟรีแล้วไง มันต้องรู้ว่าโทษของมันรับได้ป่าว บางคนคิดว่าไม่มีอะไรอยู่แล้วเอาไปเหอะ ก็แล้วแต่มุมมองของคนอะครับ ถ้าถามว่าละเมิดไหมก็ต้องถามว่าคุณเต็มใจป่าว ถ้าเต็มใจก็ไม่ละเมิดอ่ะ