Site icon Thumbsup

คุยเฟื่องเรื่อง LINE กับ CEO คนใหม่ของ LINE ประเทศไทย

พิเชษฐ์ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท LINE ประเทศไทย

เป็นข่าวใหญ่ของเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมาสำหรับการเปิดตัว CEO คนใหม่ของ LINE ประเทศไทย ที่หลังจากคุณบี๋ อริยะ พนมยงค์ ประกาศย้ายค่ายไปจับธุรกิจสื่ออย่างเป็นทางการ หลายคนก็จับตามองว่าใครจะมานั่งในตำแหน่งนี้ และก็ได้คุณ พิเชษฐ์ ฤกษ์ปรีชา มาเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท LINE ประเทศไทย ที่แม้จะหน้าใหม่เพราะเขาไม่เคยรับหน้าที่ออกกล้องมาก่อน แต่สำหรับเรื่องฝีมือในการทำงานต้องยอมรับว่า คุณพิเชษฐ์ ไม่ใช่มือใหม่อย่างแน่นอน และทีมงาน thumbsup ก็ได้รับเกียรติสัมภาษณ์เขาเป็นรายแรกๆ และวันนี้เราจะมาทำความรู้จัก CEO คนนี้กันอย่างเป็นทางการ

จากวิศวกรสู่วงการแอพพลิเคชั่น

ก่อนหน้านี้ หลายคนไม่รู้ผมเป็นวิศวกรด้านโยธามาก่อน เคยทำงานตั้งแต่สร้างทางด่วนยันตึก และรู้สึกว่าไม่ใช่สิ่งที่อยากทำทั้งที่เรียนมา ปริญญา 2 ทำรู้สึกอยากลองทำอย่างอื่น และได้ไปทำเรื่องการออกแบบเมื่อ 20 ปีที่แล้ว บริษัท ออเรนจ์ ที่ตึกอื้อจือเหลียง เหมือนเป็น tech office สมัยนั้น

แล้วก็ออกมาทำงานบริษัทเอกชนซึ่งเป็นเทคต่างชาติอยู่ 3-4 ปี จากนั้นมาทำงานที่ไลน์ เรียกได้ว่าเป็นบริษัทที่แปลกดี ด้วยภาพลักษณ์จากคนภายนอกที่ไม่ได้อยู่เนี่ยก็คิดว่าออฟฟิศมีแต่แบบตัวการ์ตูนเหมือนไลน์เฟรนด์สโตร์ จริงๆ ก็ใช่นะเดินเข้ามาล็อบบี้ก็จะมีความน่ารักอยู่เยอะมาก แต่พอเดินเข้ามาในโซนออฟฟิศเนี่ย มันคือบริษัทเทคโนโลยีจริงๆ เมื่อเปรียบเทียบกับเทคแพลตฟอร์มอื่นๆ

ออฟฟิศในไทยไม่ได้เน้นเรื่องการพัฒนาหรือสร้างผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะ พอมาอยู่ที่นี่ก็เห็นความหลากหลายเป็นบริษัทเทคโนโลยีและใหญ่กว่าบริษัทอื่นๆ ในไทย จริงจังเรื่องการลงทุน ไม่ใช่มาขายของอย่างดี ซึ่งเป็นเรื่องดี

ผลิตภัณฑ์หลายอย่างเกิดขึ้นจากการเห็นของผู้ใช้จริงๆ หรือปัญหาจริงๆ เช่น LINE MAN ต้องถือว่าเป็นตัวชูโรงหลายคนอาจไม่เคยทราบ นึกว่าไลน์แมนเป็นผลิตภัณฑ์มีในต่างประเทศและนำมาปรับใช้ แต่ไม่ใช่นะครับ LINE MAN เกิดโดยคนไทยและทำโดยวิศวกรไทย มันถึงตอบโจทย์ได้ตรงความต้องการของผู้ใช้มากที่สุด อันนี้คือตัวอย่างของ Hyper-localization ของจริงนะครับ

 

ความแตกต่างเรื่อง GEN ในการทำงาน

นอกเหนือจากนั้น พนักงานที่ LINE นี่จะอายุน้อยนิดนึง อายุเฉลี่ย 29-30 ปีถือว่าน้อยมาก แอบแปลกใจนิดนึง พนักงานที่นี่มีอยู่เพียง 100 คน เราก็เอ๊ะ! พนักงาน 100 คนต้องดูแลลูกค้า 40 กว่าล้านคน เทียบกับบริษัทอื่นถ้าต้องดูแลลูกค้า 40 กว่าล้านคนในไทยก็ต้องใช้คนเยอะพอสมควร 

หลังจากเข้ามาเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เราโตจาก 100 มาเป็น 500 คน ถือว่าโตแบบก้าวกระโดดและทำให้พลังงานในการทำงานที่นี่ดีมากๆ เวลาจัดงานอะไรที่ก็จะสนุก เพื่อนเยอะก็จะสนุก

พิเชษฐ์ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท LINE ประเทศไทย

 

ความกังวลหลังเปลี่ยนงานในช่วงแรก

ทีแรกก็กังวล กลัวจะพูดกับเขาไม่รู้เรื่อง และทุกวันนี้ก็ยังเรียนรู้กับเขาอยู่ตลอดเวลา วันก่อนเนี่ยเพิ่งนั่งคุยแล้วรู้สึกว่าเค้ามีคำที่เค้าฮิตกันในอินเทอร์เน็ต ซึ่งเนื้อหาที่ผมใช้เนี่ย ไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่จะเจอเนื้อหาพวกนั้นอยู่แล้ว พอไปเจอเค้าพูดกันปุ๊บก็งงๆ พอถามเค้าก็บอกมันเป็น catchphrase มากเลย ที่แม่ค้าออนไลน์ขายของเค้าต้องใช้คำนี้ ก็เลยเออแปลกดี ความจริงไม่ได้เมกเซนส์อะไรแต่เป็นคำที่ติดหู

(ยกตัวอย่างได้ไหมคะ)

ผมว่ามันจะไม่เหมาะนิดนึงนะครับ (ฮ่าๆๆ)

 

ชีวิตการทำงานแบบยุคเก่าและใหม่ต่างกันอย่างไร

ธรรมดาผมเป็นคนอ่านการ์ตูนชอบเก็บหนังสืออยู่ เคยอ่านการ์ตูนของ LINE ไหมครับ ผมนั่งอ่านการ์ตูนสยองขวัญ พอถึงตอนน่ากลัวมือถือมันสั่น เรียกว่ามันเปลี่ยน user experience ไปเลย ซึ่งถ้าผมยังทำงานอยู่ในกลุ่มคนเดียวที่ไล่เลี่ยกับผม เรื่องพวกนี้ผมจะไม่เคยเจอเลย และได้เจอกิจกรรมหลายๆ อย่าง 

ล่าสุดที่ผมได้เจอทีมคอนเทนต์ เดี๋ยวนี้คนมีวิธีเสพคอนเทนต์ที่เปลี่ยนไปและวิธีนำเสนอด้วยเทคโนโลยีทำให้คอนเทนต์สนุกมากขึ้น ผมว่าเป็นเรื่องที่ดีกับการทำงานกับคนอายุน้อยๆ และก็จะได้ไม่รู้สึกแก่ด้วย อย่างการแต่งตัวทุกๆ อย่าง จากที่ต้องเคยใส่สูทผูกไทค์ทุกวัน มาอยู่องค์กรยังงี้ก็ดีนะครับสบายๆดี เวลาขึ้นรถไฟฟ้าก็สะดวกดี

(ถือว่าพลิกการใช้ชีวิตเลยไหม)

ก่อนหน้านี้ผมก็อยู่บริษัท tech company อยู่แล้ว ซึ่งวัฒนธรรมก็จะคล้ายๆ กัน แต่ถ้าก่อนหน้านั้นที่ทำงานสายกึ่งๆ ราชการมาเป็นเอกชนที่เป็น tech company ตอนนั้นคือพลิกเยอะมาก บางวันนี่สามารถใส่กางเกงขาสั้นเสื้อยืดก็ได้ แต่ก็ต้องดูกาละเทศะด้วยนะครับ

แต่ถามว่าดีไม๊ ดี ชอบมาก เพราะว่าชีวิตการทำงานจะเป็น tech millennial จริงๆ เมโทรจริงๆ คือว่าไม่จำเป็นต้องยึดติดกับการขับรถ วันหนึ่งผมสามารถทำได้หลายอย่างมากผมทำงานที่ออฟฟิศได้ ไม่ต้องนั่งรอประชุมที่ออฟฟิศ ใช้ LINE Call ได้ ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปมา ผมไปถึงที่ประชุมเร็วกว่าและนั่งประชุม 10-15 นาทีและประชุมต่อ วันนึงทำได้หลายอย่างมาก

 

เวลาเยอะ แล้วทำงานหนักขึ้นไหม

ผมทำงานมาหลายบริษัท ผมว่าที่นี่มี Work Life Balance ค่อนข้างดี ถามว่ามีการตอบอีเมล์ตอนกลางคืนไม๊ ก็ตอบนะ แต่ไม่ได้ตอบเสมอไป พอเราใช้แชทแอพเป็นการสื่อสารหลักแน่นอนว่ามันก็ต้องมีกลุ่มเรื่องด่วนก็ไม่ต้องวิ่งไปตอบอีเมล์ก็ตอบกันได้ ไม่ว่าจะเที่ยงคืนหรือ 8 โมงเช้า พรุ่งนี้คุณก็ทำงานด้านอื่นต่อได้ ถามว่าเป็นการทำงาน 24 ชั่วโมงไม๊ ผมว่าก็ไม่นะ เป็นการใช้เวลาได้มีประสิทธิภาพมากกว่า

(ถ้าให้คะแนนการทำงานสมัยก่อนกับสมัยนี้)

ผมเลือกการทำงานแบบสมัยนี้ 100% เลยครับ แต่ผมว่าถ้าให้เด็กสมัยนี้ไปทำงานแบบสมัยก่อนก็ค่อนข้างยากนะ หรืออีกอย่างคือที่นี่ เราจะมีห้อง Nap pod ให้นอนแบบไม่จำกัด ดีไม่ดีนอน 20 นาทีชาร์จพลังทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพดีกว่านั่งง่วงๆ แบบไม่มี productive อะไร ถามว่าเลือกแบบนี้ไม๊ บอกได้เลยเลือกแบบนี้ 100% สบายมาก

 

เรื่องสนุกของ LINE ที่คนอื่นอาจไม่รู้

เอาเรื่องเล่าให้คนฟังได้เหรอครับ จริงๆในไลน์มีเรื่องสนุกเยอะนะครับ เอาที่เกี่ยวกับโปรดักส์แล้วกัน แบบไม่ได้ขายของนะครับ

ตอนนั้น LINEMAN เกิดขึ้นเพราะความคิดของคนไม่กี่คน ตอนเริ่มมี 3-4 คน พอ Launch จะมีการทดสอบแปลกๆ และสนุกด้วย มีอยู่วันนึงรถติดหนักมากเส้นพระราม 4 ปกติก็ติดหนักมากแต่วันนั้นคือติดที่สุด ระหว่างนั้นคนที่ต้องนั่งอยู่บนรถก็คุยกันในแชทและรู้สึกหิว พนักงานเลยสั่ง LINE โดยจุดรับตรงแยกสาทรพระรามสี่ อันนี้ไม่ได้ drag เข้าโปรดักส์นะครับ แต่คิดว่าเป็นเรื่องสนุกที่เกิดขึ้น 

ด้วยหลายบริการที่เราทำเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน ไม่มี text book มานั่งบอกว่าต้องทำยังไง น้องๆ ที่ทำโปรดักส์หลายๆ คนก็คิดไม่ออก อย่าง 2-3 ปีที่แล้วเราเคยพยายามทำผลิตภัณฑ์นึงแล้วทุกคนถามว่าเอา data มาจากไหน เพราะพวกเราเป็น data driven อยู่แล้ว ไม่มี data ทำยังไงดี ก็ไปนั่งคุยกับวินมอไซต์ไล่ตั้งแต่อโศกถึงเอกมัยและทำ data survey ทุกซอย ไม่ใช่แค่ไปขอเก็บข้อมูลแล้วไป ผมว่ามันสนุกดีและมันใช่มากๆ 

 

(บริการของเดลิเวอรี่ ในอนาคตจะสะดวกไปถึงขั้นไหน)

ผมว่ามันก็เป็นการนำเสนอผลิตภัณฑ์ แต่ละบริษัทก็มีความคิดแตกต่างกันไป พยายาม customization จะถึงจุดสิ้นสุดตรงไหน ผมคิดว่าอันนั้นต้องแล้วแต่ลูกค้าเป็นผู้กำหนดอย่าง LINE MAN เอง เคยเดลิเวอรี่ของระยะสั้นสุด คือสมมุติผมอยู่ในคอนโด เรียกให้ไปซื้อของในเซเว่นอีเลฟเว่นในตึกเดียวกันก็เคยมีแล้วครับ ซึ่งเดินลงไปเองก็จบ แต่ก็เลือกให้ LINE MAN มาส่ง

อีกเรื่องนึงที่ตลกของ LINE MAN คือ ร้านอาหารผับย่านเอกมัยวันศุกร์-เสาร์คนเยอะมาก ถ้าไม่ไปนั่งจองก็หลุด บางคนก็จ้าง LINE MAN ไปจองโต๊ะ เคยไปไวรัลอยู่พักนึง

เรียนตามตรงไม่ได้อยู่ในเซอร์วิสของเรา แต่เค้าน่าจะจ้างและมีคุยกันเองว่าให้ไปนั่งจองโต๊ะอันนี้เป็นอินโนเวชั่นของผู้ใช้บริการคนไทย จะไปหยุดอยู่ตรงไหนไม่รู้จริงๆ คนไทยมีพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียและแชทแอพที่มีพลังพอสมควร จนเกิดเป็น catchphrase ว่า แอดไลน์มานะ หรือเรื่องของการฝากร้านหน้าคนนู้นคนนี้เป็นต้น อาจจะเป็นเฉพาะพฤติกรรมของคนไทยที่ unique และแปลกดี

อีกหนึ่งพฤติกรรมที่ unique มากๆ สำหรับคนไทย คือว่า เคยนั่งคุยกันกับที่ญี่ปุนพยายามตอบโจทย์ให้ได้ว่าคนไทยเนี่ยจะมีพฤติกรรมการส่งข้อความและสติกเกอร์ให้กันมากๆ เนี่ยเดือนละ 2 ครั้ง นั่งงงว่าทำไม สรุปมาตีโจทย์แตกว่าจะมีการใช้ไลน์เยอะมากวันที่ 1 และ 16 ของเดือน

นั่นคือวัฒนธรรมและรู้สึกว่าเป็นคอนเทนต์ที่คนไทยอยากรู้เราเลยจับมือกับกองสลากในการถ่ายทอดสดเพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องและไปถึงคนไทยให้เร็วที่สุดและได้รับความสนใจกับผู้บริโภคเยอะมาก ยอดวิวถือว่าดีมากๆ ยูนิคกับไทยล้วนๆ ครับ

พิเชษฐ์ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท LINE ประเทศไทย

 

(พฤติกรรมการใช้โซเชียลอะไรของคนไทยที่ต่างประเทศไม่ใช้)

ผมว่าการใช้แชทในการทำงานหลายๆเรื่อง คนไทยสามารถหาวิธีไปซอฟต์ได้ ผมเคยคุยกับบริษัทๆ นึงเค้าเคยถามผมว่าเราสามารถขายแชทให้เค้าใช้เป็น internal used ได้ไหมให้เป็นโซลูชั่นนึง ซึ่งผมก็ถามเค้าไปว่าแล้วทุกวันนี้เค้าใช้ยังไงอยู่เชื่อไหม เค้า breakdown เป็น layer เลยนะครับในกลุ่มแชท group เป็นต้น 

แต่พอไปคุยกับหน่วยงานราชการในกทม จะมีกรุ๊ปแชทต่างหากก็จะมีหน่วยงานตามสำนัก เช่น สำนักเทศกิจ โยธาและสั่งงานที่ยิงตรงจากปลัดหรือรองผู้ว่า ซึ่งไม่ต้องออกจดหมายซึ่งกว่าจะเวียนจดหมายถึง สามารถสั่งตรงถึงผอ.เขตได้เลยและถ้า พัฒนา api หลังบ้านได้เลยและยูนิคกับไทยแต่คงไม่ใช่ทั้งหมด เพราะญี่ปุ่นและไต้หวันยูนิคมาก

 

(คนจะไม่กล้าใช้งานไม๊ ดูลุกล้ำความเป็นส่วนตัว)

ผมว่าไม่นะ เพราะถ้าไม่ใช้ช่องทางนี้ก็ต้องใช้ช่องทางอื่นๆ อีกอยู่ดี ทั้งอีเมล์ จดหมายเวียน หรือแม้แต่การบอกต่อ ผมว่าองค์กรคงอยากได้ความเป็นส่วนตัวและปลอดภัยด้านข้อมูลอีกระดับนึง อีกอย่างพนักงานในองค์กรยุคนี้ คงไม่มีใครไม่เคยใช้งาน LINE

 

ทิศทางของ LINE ในอนาคต

ทิศทางของงานคงต้องเอามาจากยานแม่ที่ญี่ปุ่นอยู่แล้ว ซึ่งมันจะวนเวียนกับการใช้เครื่องมือ 3 อย่างคือ online ผสม offline, AI, Fintech ถามว่าเราตั้งเป้าจะเป็นซูเปอร์แอพไหม เรามองข้ามไปแล้วว่าต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตตั้งแต่ตื่นนอน และต้องมีตีโจทย์ว่าแต่ละวันเค้าใช้อะไรบ้าง

LINE ถือว่าได้สัดส่วนมากกว่า 90% ในการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือเราจึงต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้คนอยู่กับเรามากขึ้นเป็นโจทย์ที่สำคัญ 

อย่างบริการที่เราเพิ่งมีการเปิดตัวไปเมื่อ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา คือ บริการที่ชื่อว่า LINE Melody เพื่อเอาใจคนที่ต้องรอสายระหว่างโทรแบบสมัยก่อน ซึ่งบริการแบบนี้เป็นที่ต้องการของกลุ่มคนผู้ใหญ่หน่อย ที่ต้องการโทรผ่าน LINE CALL ซึ่งคนยุคนี้โทรผ่านสายโทรศัพท์น้อยลง แต่โทรผ่าน LINE CALL มากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายผลิตภัณฑ์ที่จะตามมาเรื่อยๆ แต่คงไม่ใหม่ทุกวัน แต่เราจะเลือกโปรดักส์ที่น่าสนใจในต่างประเทศและหยิบมาใช้ได้ เพราะไม่ใช่ทุกผลิตภัณฑ์ที่เวิร์คในต่างประเทศ เอามาใช้ในไทยแล้วประสบความสำเร็จนะครับ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่มีการสร้างและทดลองใช้งานในไทยแล้วประสบความสำเร็จก็ส่งออกไปให้ต่างประเทศลองใช้งานบ้าง

ทางด้านของโปรดักส์ยอดนิยมในตอนนี้ถ้าไม่รวมแชทนะครับ ถ้าเป็นลูกค้าธุรกิจเนี่ย โปรดักส์ยอดนิยมก็ต้องเป็นออฟฟิเชียลแอคเคาท์ของเรา ดิสเพลย์แอดบนไลน์ทีวีและไลน์ทีวี ถ้ายูสเซอร์ของเราคงไม่พ้น ไลน์ทีวี ไลน์ทูเดย์และไลน์แมน อันนี้เป็นที่นิยมมาก

 

ทำไมแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซถึงยอมมาอยู่บน LINE

แม้ว่าอีคอมเมิร์ซในไทยจะบูมอยู่แล้ว แต่การที่รายใหญ่อย่าง LAZADA, SHOPEE ยอมเข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์มของเรานั้น ต้องยกเครดิตให้กับทีมไลน์ช้อปปิ้งเราเต็มๆเลย เราได้คนที่เก่งมากๆ มาทำตรงนี้ทั้งทีมเลยที่ไปคุยกับลูกค้าและทำให้เค้ารู้สึีกว่าการอยู่กับแพลตฟอร์มของไลน์เนี่ยมัน win-win sittuation

แล้วก็เวลาหนึ่งแพลตฟอร์มในการเรียกคนเข้ามาช่องทางมากกว่าแค่หนึ่งแพลตฟอร์ม ผมว่ามันเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย การทำแอพเมื่อ 4-5 ปีก่อนอาจเป็นเรื่องยาก แต่ตอนนี้ไม่ใช่เรื่องยากแล้วสิ่งที่ยากกว่าคือทำยังไงให้คนดาวน์โหลดแอพเราไปแล้ว และใช้งานทุกวัน อันนี้เป็นจุดที่ยากผมคิดว่ามาร์เก็ตเพลสที่มาอยู่กับเราเค้าไม่ต้องไปแก้ปัญหาตรงนั้นแล้ว เพราะในแต่ละวันเรามีทราฟิกในการเข้าใช้งานที่ค่อนข้างสูง

พิเชษฐ์ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท LINE ประเทศไทย

การรับไม้ต่อ กดดันหรือไม่

กดดันไม๊ ผมว่ามันท้าทายมากกว่ากดดันเพราะเราอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันกันสูงมาก และคนที่เราต้องแย่งตลาดเดียวกันนี่ไม่ได้มาจากธุรกิจเดียว เพราะเรามีคู่แข่งทางธุรกิจเยอะมาก บางเจ้าเป็นยักษ์ใหญ่ระดับโลก มองว่าท้าทายมากๆ ผมไม่รู้สึกกดดัน เพราะต้องยอมรับว่าเรามีทีมที่ดีไม่ได้ใหม่ทั้งที ผมอยู่ไลน์มา 3 ปีกว่าแล้วไม่ต้องเรียนรู้ใหม่ ทำให้มันตื่นเต้นด้วย

จากที่เราไม่เคยมองในมุมมองนี้ ตั้งแต่รับตำแหน่งมาไม่ถึงเดือน ไอเดียพรั่งพรูมากมายเดียว กดดันไม๊ไม่นะ แต่ท้าทายมีสิ่งที่เราต้องแข่งขันเยอะมากมันก็จะทำให้มีหมากให้เล่นหลายตัวก็สนุกดี น้องๆ สนุก ที่นี่เป็นบริษัทที่ทำมา 20 กว่าปีที่นี่คือหนึ่งในบริษัทที่วัฒนธรรมการทำงานดีมากๆ นะครับ

(วางแผน LINE ในอีก 3-5 ปีอย่างไรบ้าง) 

ผมเชื่อว่าไลน์ประเทศไทยในอีก 3 ปีข้างหน้าจะตอบโจทย์ได้เยอะมากและในฐานะคนไทยคนนึงเนี่ยผมยังมองเห็นด้วยซ้ำว่า อยากให้ผลิตภัณฑ์ย่อยของไลน์หลายๆ อย่างเนี่ยเติบโตแล้วก็ยังคงเป็นบริษัทของไทยตลอดไปเรื่อยๆ ก็คงจะดี