Site icon Thumbsup

คุยกับ Youtube ในวันที่ต้องทำหน้าที่เป็นทั้งแพลตฟอร์มและผู้ดูแลจิตใจยูทูบเบอร์

แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 ในไทยจะคลี่คลายมากขึ้น แต่สำหรับบริษัทสัญชาติอเมริกายังให้พนักงานทั่วโลกทำงานแบบ Work From Home กันอยู่ เราจึงได้สัมภาษณ์พิเศษกับคุณมุพิ อนันตชัย หัวหน้าฝ่ายพันธมิตรธุรกิจ YouTube ประเทศไทย แบบออนไลน์ เกี่ยวกับภาพรวมการใช้งาน Youtube ตั้งแต่ต้นปี 2020 ที่โควิดทำให้เกิดคอนเทนต์ใหม่เยอะขึ้น รวมถึงสถานการณ์ต่างๆ ของเหล่ายูทูปเบอร์ที่ Youtube ประเทศไทย ยอมรับว่านอกจากดูแลเรื่องคอนเทนต์ให้มีคุณภาพแล้ว ยังต้องดูแลหัวใจของเหล่าครีเอเตอร์เหล่านี้ด้วย

ภาพรวมการใช้งาน Youtube การเติบโตด้านคอนเทนต์รวมถึงยอดการใช้งานเป็นอย่างไรบ้าง

คุณมุกพิม : ภาพรวมของการใช้งาน Youtube ของปี 2020 นี้ ช่วงไตรมาส 1-2 เป็นช่วงของสถานการณ์โควิด-19 ระบาด สิ่งที่พบคือยอดการใช้งานยูทูปสูงขึ้น เนื่องจากมีคนอยู่บ้านเยอะขึ้น จึงประเมินได้ว่า การเข้าใช้งานแพลตฟอร์มที่เพิ่มขึ้นนั้น มีทั้งในแง่พาร์ทเนอร์เข้ามาอัพโหลดคอนเทนต์เพิ่มขึ้น เช่น พาร์ทเนอร์ด้านสื่อมวลชน ที่ไม่สามารถเดินทางไปสถานีหรือออกไปทำข่าวนอกพื้นที่ได้

ก็จะเข้ามาลงทะเบียนใช้งานและนำข่าวสารที่เชื่อถือได้นำเสนอต่อประชาชนเพื่อให้คนไทยได้ติดตามข่าวสารที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะติดตามในช่วงเวลาไหน ก็อัพเดทสถานะของสถานการณ์ในจุดที่เหมาะสม และในแง่ของผู้ใช้งานก็มีการรับชมและกระตุ้นให้ยอดวิวในขณะนั้นพุ่งขึ้นสูงมาก

นอกจากนี้ คอนเทนต์ประเภทสุขภาพ ก็มีการค้นหาเยอะขึ้น อาจเพราะการที่มนุษย์ทำงานต้องใช้ชีวิตที่บ้านมากขึ้น ทำงานแบบ Work From Home มากขึ้น ก็เลยต้องการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและออกกำลังกายภายในบ้าน ทำให้คอนเทนต์แนวนี้ได้รับความนิยมและมียูทูบเบอร์หน้าใหม่เกิดขึ้นหลายราย

คนไทยค้นหาอะไรกันบ้าง

โดยคำว่า “เมนู” มีการค้นหาผ่านแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้น 85% จากภาพรวมเป็นคอนเทนต์จากเหล่ายูทูบเบอร์หน้าใหม่ที่คิดค้นเมนูทั้งของคาวและของหวานออกมาเรียกกระแสจากผู้ชมได้ดี รวมทั้งคำว่า “ปลูกต้นไม้” ก็มีการค้นหาเพิ่ม 140% (ย่อยการค้นหาทั้งคำว่า ปลูก พืช ผัก สวนครัว) ซึ่งการที่คนนิยมค้นหาคำเหล่านี้ ส่งผลให้เกิดคอมมูนิตี้ใหม่ โดยเป็นการแชร์เทคนิคการปลูกต้นไม้และพืชผักเอาไว้ใช้บริโภคยามจำเป็นด้วย รวมถึงการออกกำลังกายในห้องพักเพิ่มขึ้น 3 เท่า

ไม่ใช่แค่เรื่องของการดำรงชีพ คุณมุกพิมยังเล่าอีกว่า มีคนอีกมากมายที่ต้องการ upskill หรือ Reskill เพิ่ม โดยคาดว่าจะเป็นกลุ่มคนทำงาน คนตกงานหรือคนที่กำลังหางาน และมองว่าอยากหาความรู้ใหม่ๆ ในขณะที่ต้องอยู่บ้านเพื่อพัฒนาทักษะรองรับการหางานหรืออาชีพใหม่ๆ ในอนาคต โดยข้อมูลเกี่ยวกับการค้นหาเชิงความรู้เพิ่มขึ้นถึง 25 เท่า ทั้งเรียนภาษาอังกฤษ เรียนภาษาญี่ปุ่น เรียนออนไลน์ ทำให้ทาง Youtube ต้องพูดคุยกับเหล่ายูทูบเบอร์เหล่านี้ให้เขาอัพโหลดความรู้เร็วและบ่อยขึ้น เพื่อรองรับการค้นหาของผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

Thumbsup in Thailand Chanel

คนดังใช้สื่อสารกับแฟนคลับมากขึ้น

ยังไม่หมดแค่นั้น กลุ่มไลฟ์สตรีมมิ่งก็มีการเข้ามาใช้แพลตฟอร์มของ Youtube มากขึ้นเช่นกัน เพื่อรักษาฐานแฟนคลับของเขา หรือกลุ่มศิลปิน นักร้อง นักแสดง ก็มีการจัดไลฟ์คอนเสิร์ต แฟนมีตติ้ง เพื่อยังสานต่อกิจกรรมที่ดีๆ ร่วมกัน โดยไม่ต้องลงทุนเครื่องมือหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ เยอะ เพียงแค่มีขาต้ังกล้อง สมาร์ทโฟน หรือกล้องถ่ายรูป กล้องวีดีโอดีๆ สักตัว ก็ช่วยให้กลุ่มคนดังเหล่านี้ ยังคงรักษากลุ่มแฟนคลับและแฟนๆ ได้ดีเช่นเดิม

หรือแม้แต่หน่วยงานของรัฐ ทั้งรูปแบบองค์กรเพื่อสังคม องค์กรเอกชน หรือการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ต่างๆ ก็สามารถสื่อสารผ่าน Youtube เพื่อกระตุ้นให้คนรับรู้ข้อมูลและสื่อสารได้ดีขึ้น อย่างเช่น Unicef Thailand ที่มีการทำคอนเสิร์ตให้กับคนที่ต้องการความช่วยเหลือ ในระยะเวลาเพียง 2 ชั่วโมง ได้รับเงินทุนช่วยเหลือสังคมมากถึง 3 ล้านบาท ถือว่าเป็นเรื่องราวดีๆ ที่แบ่งกันปันในช่วงเวลาที่ยากลำบาก

รักษาเสน่ห์ของแพลตฟอร์ม เพิ่มโอกาสจดจำได้ดีกว่า

แม้ว่า Youtube จะไม่ได้มีฟีเจอร์สำหรับขายสินค้าแบบการไลฟ์ขายของบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ แต่ก็มีหลายแบรนด์ที่ใช้ Youtube เป็นแหล่งข้อมูล

คุณมุกพิม : มีพาร์ทเนอร์หลายรายเข้ามาปรึกษาเรื่องการใช้ Youtube ในการขายสินค้าบ้าง แต่เราก็ได้อธิบายให้แบรนด์ต่างๆ เข้าใจในพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายของแต่ละแพลตฟอร์มก่อนว่าผู้ใช้งานส่วนใหญ่มองและใช้งานแพลตฟอร์มของเราในแนวทางไหน ซึ่งจุดยืนของ Youtube ยังคงเป็นการใช้งานตามไลฟ์สไตล์ รับชมคอนเทนต์ยาวๆ หรือสื่อสารกันมากกว่าขายสินค้า รวมทั้งเรายังมี Policy ในเรื่องของการทำคอนเทนต์ด้วยว่า

ซึ่งเป็นแกนหลักสำคัญสำหรับเหล่ายูทูปเบอร์ นอกจากนี้ในเรื่องของ Core Value ที่เรายังมอบให้แก่ยูทูบเบอร์และยูสเซอร์คือ สร้างคอมมูนิตี้, Share Passion ที่มีความสนใจคล้ายกันมากกว่าเน้นการสร้างรายได้

ดังนั้น ฟีเจอร์ที่เราพัฒนาภายใต้คอมมูนิตี้ของเราคือการเป็น Youtube as a platform แม้ว่าแต่ละแพลตฟอร์มจะมีเอกลักษณ์และความโดดเด่นที่ต่างกัน ก็ยิ่งเป็นเสน่ห์ให้คนอยากใช้งาน หากทุกแพลตฟอร์มมีฟีเจอร์ที่เหมือนๆ กัน เสน่ห์ในการดึงดูดให้คนอยากเข้ามาใช้งานก็คงไม่มี เพราะฉะนั้นเราจึงต้องรักษา Core Value ของเราไว้เช่นเดิม แต่ต้องใช้งานภายในแพลตฟอร์มของเราให้ดีกว่าเดิม เพราะถ้าเปลี่ยนตามยุคสมัยทุกอย่างก็คงไร้ซึ่งเสน่ห์ของแพลตฟอร์มไป

แบรนด์ลดงบ แพลตฟอร์มรับมืออย่างไร

ช่วงของการเกิดโควิด-19 นี้ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจประเภทใด ต่างก็เจอปัญหาด้านการใช้จ่ายทุกคน ไม่ว่าจะทำการตลาดแบบออนไลน์หรือออฟไลน์ต่างก็ต้องคิดกันมากขึ้น ในมุมของแพลตฟอร์มเองก็เข้าใจผู้บริหารในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้และเราก็มองว่ายังไม่ใช่จังหวะที่จะแข่งขันอะไร

ยิ่งในจังหวะนี้ ทางเราเห็นซีอีโอของหลายบริษัทปรับตัวเข้าสู่เทคโนโลยีกันมากขึ้น ทั้งในแง่ของการพัฒนาทักษะใหม่ๆ เรียนรู้การใช้งานของแพลตฟอร์ม รวมทั้งหาความรู้ในแง่มุมใหม่ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการขาย ซึ่งในการเป็นแพลตฟอร์มเองเราก็ไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น สิ่งที่เราทำได้คือแนะนำให้ทุกฝ่ายวางแผนล่วงหน้ายาวๆ เพราะเราพบปัญหาของยูทูปเบอร์มากขึ้น

Creator well being ศูนย์รวมจิตใจเหล่าครีเอเตอร์

คุณมุกพิมเล่าถึงปัญหาของยูทูปเบอร์ในช่วงโควิดให้ฟังว่า ในช่วงที่โควิด-19 ยังระบาดและยังไม่รู้ว่าจะรักษาได้เมื่อไหร่ เหล่ายูทูบเบอร์ของเราหลายคนเจอภาวะซึมเศร้าและสภาพจิตใจหดหู่เยอะมาก เราจึงมีการเปิด creator well being  เพื่อเป็นที่ปรึกษาให้กับครีเอเตอร์ในช่วงโควิต-19

โดยทางทีม YouTube ได้จัดกิจกรรมพิเศษเฉพาะกิจเป็นแบบ Roundtable ออนไลน์เพื่อนัดพบปะพูดคุยกับบรรดาครีเอเตอร์ รวมทั้ง Multi Channel Network (MCN) ที่มีหน้าที่ในการจัดการดูแลเครือข่ายของครีเอเตอร์รายย่อยๆ อีกจำนวนมากมาพูดคุยไปพร้อม ๆ กัน

เนื้อหาจะเน้นไปที่การให้คำปรึกษาและจัดเทรนนิ่งแก่ครีเอเตอร์ ซึ่งเทรนนิ่งจะจัดให้มีตั้งแต่การสอน และการแนะนำเนื้อหาความรู้เพื่อที่จะพวกเขาสามารถนำไปดัดแปลงสำหรับทำคอนเทนต์ในช่วงสถานการณ์ที่ต้องอยู่บ้าน  รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนแนวคิดและวิธีแก้ปัญหาต่าง ๆ เพื่อให้ทุกคนสามารถสร้รางสรรค์คอนเทนต์เพื่อมอบความสุขและประโยชน์แก่ผู้ชมในช่วงที่ทุกคนต้องกักตัวอยู่บ้านแต่ทาง Youtube ไม่มีภาพกิจกรรมสำหรับการเผยแพร่ เนื่องจากทั้งหมดเป็น Virtual Connect กับทางหลายๆ ครีเอเตอร์พร้อมๆ กัน จึงอยากให้ความเป็นส่วนตัวกับบุคคลเหล่านี้

ช่วยสนับสนุนยูทูบเบอร์ผ่าน creator on the rise

ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามีคอนเทนต์ดี ๆ ถูกอัปโหลดขึ้นบน YouTube มากขึ้นซึ่งมีรายการใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ รวมทั้งมีครีเอเตอร์และนักร้องหน้าใหม่เกิดขึ้นทุก ๆ นาที อีกทั้งจากสถิติที่มีครีเอเตอร์ที่จำนวนผู้ติดตามทะลุ 1,000 คนเพิ่มขึ้นมากกว่า 1,000 รายในแต่ละวันทั่วโลก YouTube จึงอยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงความยินดีกับครีเอเตอร์หน้าใหม่ ๆ และช่วยให้พวกเขาขยายฐานคนดูได้กว้างยิ่งขึ้น

ทาง YouTube จึงมีการไฮไลท์ครีเอเตอร์ที่กำลัง “On The Rise” หรือกำลังเป็นช่องดาวรุ่ง บนหน้า trending ของ YouTube ประเทศไทย โดยในแต่ละสัปดาห์ ครีเอเตอร์ที่ถูกเลือกจะถูกไฮไลท์และโชว์บนหน้า trending เป็นเวลาหนึ่งวัน พร้อมกับป้ายกำกับว่า “Creator on the Rise”

โดยทีม YouTube จะเลือกครีเอเตอร์ที่ถูกไฮไลท์ 1 ช่องต่อสัปดาห์ ซึ่งครีเอเตอร์จะได้รับการแจ้งเตือนจาก YouTube หากถูกคัดเลือก เพื่อที่ครีเอเตอร์จะได้นำการไฮไลท์นี้ไปแชร์ต่อกับแฟน ๆ ผู้ชม ทั้งเก่าและใหม่

ทั้งนี้ YouTube หวังว่า “Creator on the Rise” จะเป็นแรงผลักดันให้กับผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์ทุก ๆ คนในการสร้างผลงานที่ดี และช่วยให้ผู้คนทั่วโลกได้พบเจอครีเอเตอร์ที่เป็นแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ได้มากยิ่งขึ้น

สำหรับ YouTube ครีเอเตอร์ที่ได้รับการคัดเลือกจนถึงปัจจุบันมีจำนวน 5 ช่อง คือ

1. ช่อง Cactus Journey ได้รับคัดเลือกเป็น Creator on the Rise สัปดาห์แรก โดยCactus Journey เกิดจากความหลงใหลในการเดินทางผสมกับความชอบในแคคตัส สู่คอนเทนต์แบ่งปันความรู้เกี่ยวกับแค่ตัส

2. ช่อง ลองให้ ได้รับคัดเลือกเป็น Creator on the Rise ประจำสัปดาห์ที่ 2 ด้วยคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์คนชอบช้อป กับสโลแกนช่องที่ว่า “ถ้าใครอยากจะซื้ออะไร แต่ไม่อยากจะเจ็บเอง ขอให้บอกมา เพราะเราจะลองให้”

3. ช่อง Dr. sidney ที่ได้รับคัดเลือกเป็น Creator on the Rise ประจำสัปดาห์ที่ 3 กับคอนเทนต์ที่ สร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อแชร์เคล็ดลับและประสบการณ์การใช้ชีวิต การทำธุรกิจ และการต่อยอดโอกาสการลงทุนผ่านมุมมองของนักธุรกิจมืออาชีพ

4. ช่อง อาม่าซัวเถา Creator on the Rise ประจำสัปดาห์ที่ 4 โดยในแต่ละคลิปอาม่าจะสอนทำอาหารจีนและของว่างหลากหลายชนิดของคนจีน จีนแต้จิ๋ว และจีนฮกเกี้ยนที่หาทานได้ยากในไทย เช่น ฉือคักก้วย ก๋วยเน็ก กอก้วย หมี่เชงก้วย และผ่างเปี๊ยะ

5. ช่อง Wichuda’s Garden เป็น Creator on the Rise สัปดาห์ที่ 5 ด้วยคอนเทนต์ที่แบ่งปันเทคนิคดีๆ ในการเลี้ยงและเพาะชำแคคตัสและไม้อวบน้ำหลายสายพันธุ์ เช่น วิธีเลี้ยงแคคตัสแมนขนแกะให้สวยกลม วิธีดูแลแคคตัสหน้าฝน สูตรดินปลูกตอแคคตัส

โดยจะมีการประกาศครีเอเตอร์หน้าใหม่ทุกวันพุธ แล้วครีเตอร์คนไหนมีโอกาสที่จะถูกเลือกบ้าง? จะมีการคัดเลือกจากหลาย ๆ ตัวแปร ที่ไม่ได้จำกัดแค่เพียงยอดวิว ชั่วโมงในการดู หรือการเติบโตของยอดผู้ติดตามเท่านั้น ทางทีม YouTube เองก็จะมีส่วนร่วมในการคัดเลือกช่องที่ผ่านเกณฑ์ต่าง ๆ เข้ามาด้วยเช่นกัน ซึ่งโครงการนี้เพิ่งเปิดตัวไปเพียง 5 สัปดาห์เท่านั้น

เรียกได้ว่าหากคุณมีคอนเทนต์ที่น่าสนใจ และอยากให้คนเข้ามาดูแชนแนลของคุณก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปแล้ว

ส่วนแฟนคลับของยูทูปเบอร์รายได้ที่ต้องการสนับสนุน Channel Memberships ที่เปิดตัวไปเมื่อเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมานั้น จะเป็นการสนับสนุนรายเดือนที่ทางเจ้าของช่องจะเป็นผู้กำหนดราคา เงื่อนไข และสิทธิพิเศษต่าง ๆ เช่น สิทธิ์ในการดูวิดีโอก่อนใคร หรือ สามารถรับชมวิดีโอเนื้อหาพิเศษสำหรับสมาชิกเท่านั้น Channel Memberships เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ติดตาม Support ครีเอเตอร์ที่ชื่นชอบ เริ่มต้นเดือนละ 30 บาท เป็นการช่วยสนับสนุนให้ยูทูปเบอร์สามารถทำคอนเทนต์ต่อไปได้ เป็นการแบ่งสิทธิประโยชน์ให้ครีเอเตอร์ที่สนับสนุน  ทำให้ยูทูปเบอร์สามารถวางกลยุทธ์ในการนำเสนอคนดูไม่ใช่เน้นแค่การสร้างรายได้ แต่เปิดโอกาสให้ซัพพอร์ตกันมากขึ้น

ยังไม่สายเกินไป หากคนที่มีคอนเทนต์ดีๆ ในมือจะอยากสร้างสรรค์คอนเทนต์ให้คนทั่วโลกได้ดูเรื่องราวของคุณและแชร์ประสบการณ์ไปพร้อมกัน