Site icon Thumbsup

แลกไตกับ iPad ลัทธิบริโภคนิยมที่ไร้ทางแก้?


เมื่อเช้านี้ฟังรายงานข่าวทางวิทยุว่ามีวัยรุ่นจีนคนหนึ่งอยากได้ iPad 2 มากก็เลยยอมคิดสั้นขายไตของตัวเองออกไปหนึ่งข้าง ก็แปลกใจอยู่ และสายๆ เห็นคุณศรีสุดา วินิจสุวรรณ์ tweet เรื่องนี้ออกมาอีกครั้งก็เลยเอะใจ ต้องไปสืบข่าวเพิ่มเติมดูเสียหน่อย เกิดอะไรขึ้นทำไมวัยรุ่นจีนคนหนึ่งจู่ๆ คิดสั้นได้ขนาดนั้น

เรื่องลัทธิบริโภคนิยมกินหัวครั้งนี้คือเรื่องของ Zheng? หนุ่มวัย 17 ปีจากเมืองจีนรายหนึ่ง ที่เป็นเจ้าของ iPad 2 ในจังหวัด Anhui แอบไปขายไตของตัวเองมาเพื่อให้ได้มาซึ่งของที่ตัวเองต้องการ

สื่อมวลชนอย่าง The Global Times และ Shanghi Daily รายงานข่าวนี้อย่างครึกโครมว่ามีเอเย่นต์ค้าอวัยวะมนุษย์มาติดต่อหนุ่มน้อยรายนี้ทางออนไลน์ว่าถ้าหนุ่มน้อยรายนี้สนใจยอมขายไตก็จะได้เงินไปซื้อสิ่งที่ต้องการ ก็เลยยอมเดินทางไปผ่าตัดเมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมาเพื่อแลกกับเงิน 22,000 หยวน หรือประมาณ 102,995 บาท

คุณแม่ของ Zheng เมื่อรู้เข้าก็เสียใจและพยายามแจ้งความกับตำรวจเพื่อขอไตของลูกชายเธอคืนมา และแน่นอนครับว่าจะมีเอเย่นต์ค้าอวัยวะมนุษย์และโรงพยาบาลเถื่อนที่ไหนโผล่หน้าออกมารับผิดชอบ เพราะมันผิดกฏหมายเต็มประตูอยู่แล้ว และสิ่งที่หนุ่มน้อยได้รับตอนนี้ก็คือ ร่างกายเริ่มอ่อนแอลงเพราะไตทำงานไม่เต็มที่

สิ่งที่ผมคิดก็คือเรื่องนี้มันบอกและสะท้อนอะไรกับโลกของเราวันนี้ พอมานั่งไล่คิดดู ทำไมเด็กคนหนึ่งถึงยอมเสียอวัยวะของตัวเองเพื่อแลกกับสิ่งที่ตัวเองอยากได้ อย่าง iPad 2 (รู้สึกจะซื้อ iPhone 4 มาเลยด้วย) อาจจะไม่ทันคิด หรือไร้เดียงสาเกินไป จริงๆ ไม่ต้องไปถึงเมืองจีนหรอกครับ ผมว่าผมเคยเห็นมีน้องคนไทยเรานี่แหละไปโพสต์บน Pantip ว่า “พ่อรักหนูต้องซื้อ IP4 ให้หนู สิ้นปัญญาก็อย่ามาเป็นพ่อ..” อันนี้มันเหมือนโทษใครไม่ได้เลยครับ บางคนบอกว่าเป็นที่ตัวเด็กที่ขาดความยับยั้งชั่งใจ พ่อแม่ก็ดูแลลูกไม่ดี บริษัทก็อยากขายของมากไป

แต่ท้ายสุดโทษกันไปโทษกันมา มันก็ไม่จบ สิ่งที่สำคัญคือ เราจะต้องหาทางทำอะไรสักอย่างในการป้องกันคนรุ่นใหม่ที่อาจถูกล่อลวงทางอินเทอร์เน็ตได้ จะใช้ NetNanny หรือจำกัดเวลาใช้อินเทอร์เน็ตของลูก และคอยบอกว่าอินเทอร์เน็ตนั้นมีทั้งคุณและโทษ เราต้องใช้มันให้เป็น ที่เขียนออกมา ผมเชื่อว่าเราก็ยังไม่มีทางออกอะไรที่ดีที่สุด แต่ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย แล้วคุณล่ะครับ คิดอย่างไรกับเรื่ีองนี้ ถ้าเด็กๆ น้องๆ ในครอบครัวคุณถูกมือมืดเข้าถึงทางอินเทอร์เน็ต จะป้องกันแก้ไขอย่างไร?

ที่มา: ZDNet และ ARIP
แนะนำให้อ่าน: 10 วิธีป้องกันภัยจากอินเทอร์เน็ตสำหรับเด็กและเยาวชน และ ทางแก้ลัทธิบริโภคนิยม