ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับเกาหลีเหนือจะมีทางออกอย่างไรยังไม่มีใครทราบ แต่ตลาด e-Commerce ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นถูกมองว่าเป็นสมรภูมิแห่งใหม่ด้านสงคราม e-Commerce ไปแล้วเรียบร้อย เมื่อยักษ์ใหญ่ด้าน e-Commerce จากประเทศสหรัฐอเมริกาอย่าง Amazon ตัดสินใจเข้ามาเปิดตลาดในประเทศสิงคโปร์ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ นั่นจึงทำให้ไม่เพียงร้านค้า e-Commerce ในประเทศสิงคโปร์เท่านั้นที่จะต้องเตรียมรับมือกับการเข้ามาของ Amazon แต่ประเทศอื่น ๆ ก็จะต้องเตรียมรับมือต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นนี้เช่นกัน
โดยทางบริษัท iPrice ซึ่งเป็นบริษัทด้าน e-Commerce ที่ทำตลาดอยู่ใน 7 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ทำการศึกษาร้านค้า e-Commerce ที่ทำตลาดอยู่ในประเทศไทย และได้จัดทำเป็น Interactive Content ภายใต้ชื่อ The Map of E-Commerce หรือ สงครามอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย โดยคอนเทนต์ชิ้นนี้จะให้ผู้อ่านเลือกฟิลเตอร์ร้านค้าได้หลายตัวเลือก เช่น จำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์ (วัดค่าจาก Similarweb), จำนวนการดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน (Google Play) และจำนวนผู้ติดตามในโลก Social Media ซึ่ง iPrice ได้เก็บข้อมูลตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2560 และพบผลการศึกษาที่น่าสนใจ 5 ข้อดังต่อไปนี้
1.ราชาแห่ง e-Commerce ของประเทศไทย
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าราชาในตลาด e-Commerce คงจะหนีไม่พ้นยักษ์ใหญ่อย่าง Lazada ที่ทำตลาดในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 โดย Lazada มีจำนวนผู้เข้าชมเว็บและผู้ติดตามบน Social Media มากที่สุดในประเทศไทย ดังข้อมูลต่อไปนี้
1. จำนวนผู้เข้าชมสูงสุดในประเทศไทย (41,680,000 ครั้ง)
2. จำนวนการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันสูงสุด (50,000,000 ดาวน์โหลด)
3. จำนวนผู้ติดต่อใน LINE สูงสุด (18,894,000 ผู้ติดตาม)
4. จำนวนผู้ติดต่อใน Facebook สูงสุด (17,539,000 ไลค์)
5. มียอดผู้ติดตามเป็นอันดับที่ 6 ใน Instagram (84,088 คน) ซึ่งชัดเจนว่า Instagram ไม่ใช่เครื่องมือหลักในการสื่อสารต่อกลุ่มลูกค้าของ Lazada
การทำตลาดอยู่ในประเทศไทยกว่า 5 ปีนี้แสดงให้เห็นว่ากลยุทธ์เชิงรุกของ Lazada ในการเข้าทำตลาดใน 6 ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พร้อมกันนั้นส่งผลให้ Lazada ขึ้นเป็นราชาในตลาดได้ และที่สำคัญกลยุทธ์การใช้การสื่อสารแบบ Integrated Communication ถือเป็นผลสำเร็จ กล่าวคือใช้ช่องทาง Social Media ช่องทางเดียวกันสำหรับทุกประเทศนั่นเอง
2. การจัดอันดับ 10 สุดยอดเว็บไซต์ e-Commerce ในประเทศไทยพบว่ามีแต่เว็บเทคโนโลยีและเว็บทั่วไป
เมื่อจัดอันดับสุดยอดร้านค้าอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยตามจำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์แล้วนั้น พบว่าเว็บไซต์ e-Commerce อันดับ 1 ถึง 9 นั้นเป็นร้านค้าที่ขายสินค้าประเภททั่วไปและเทคโนโลยี โดยมีการจัดลำดับดังต่อไปนี้
- Lazada TH
- 11 Street TH
- Shopee TH
- Chilindo
- Notebook Spec
- J.I.B
- Central Online
- Tarad
- Advice
- Konvy
จากการศึกษายังพบว่าชาวไทยนิยมซื้อเสื้อผ้าจากแบรนด์ร้านค้าที่ขายในช่องทางโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook และ Instagram มากกว่า เนื่องจากแบรนด์เหล่านี้มีการออกแบบเสื้อผ้าที่มีสไตล์น่าสนใจและอินเทรนด์กว่าเสื้อผ้าที่วางขายในเว็บไซต์ e-Commerce ทั่วไป จึงทำให้เว็บ e-Commerce ที่ขายเสื้อผ้าแฟชั่นนั้นไม่ได้รับความสนใจ และมีเพียงเว็บแฟชั่น Konvy.com เว็บเว็บเดียวที่สามารถติดชาร์ตครั้งนี้ได้
3. การต่อสู้ที่ดุเดือดขึ้นจากคู่แข่งต่างประเทศ
โดยหากพิจารณาเว็บไซต์ e-Commerce ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 3 อันดับได้แก่ Lazada, 11street และ Shopee ล้วนแล้วแต่เป็นเว็บไซต์ที่มาจากต่างประเทศและเห็นโอกาสในการทำตลาดในประเทศไทย จึงได้เข้ามาขยายฐานการทำธุรกิจในประเทศไทย โดย Lazada เป็นเว็บไซต์จากประเทศเยอรมนี, 11Street มาจากประเทศเกาหลีใต้ และ Shopee มาจากประเทศสิงคโปร์ ล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทบริษัทที่มีความเป็นอินเตอร์เนชั่นแนล
ส่วนอันดับที่ 4 นั้นได้แก่เว็บไซต์ Chilindo ซึ่งเป็นเว็บไซต์ผลิตโดยคนไทย ซึ่งเป็นเว็บขายสินค้าออนไลน์ประเภททั่วไปที่ให้ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าผ่านการประมูล สิ่งนี้จึงเป็นรูปแบบการขายที่เป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้ Chilindo สามารถสู้กับเว็บต่างชาติเหล่านั้นได้
อย่างไรก็ดี การเข้ามาของเว็บ 11Street จากประเทศเกาหลีนั้น เข้ามาเขย่าบัลลังก์ของราชาอย่าง Lazada ได้อย่างน่ากลัว เนื่องจาก 11Street ประกาศเปิดตัวอย่างเป็นทางการในประเทศไทยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของปี พ.ศ. 2560 ว่าจะเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย ซึ่งบริษัทจะใช้กระแสนิยมเกาหลี และจำนวนสินค้าที่หลากหลายในการสร้างจุดเด่นให้กับแบรนด์ของตนเอง นอกจากนี้การทุ่มงบประมาณให้กับการสื่อสารทางการตลาดถือเป็นกลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก เนื่องจากมีการเจาะตรงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นคนกรุงเทพฯ วัยทำงาน ซึ่งนิยมใช้การขนส่งสาธารณะ โดยใช้การโฆษณากลางแจ้งอันได้แก่ BTS Station ซึ่งโฆษณาที่เด่นที่สุดคงจะหนีไม่พ้น BTS Siam ที่ใคร ๆ ก็ต้องติดตากับแบรนด์ 11Street ที่มีการใช้เหล่าคนมีชื่อเสียงมาโปรโมตเว็บไซต์อย่างต่อเนื่อง จนทำให้ 11Street มียอดผู้เข้าชมขึ้นเป็นอันดับสอง ซึ่งมีจำนวนผู้เข้าชมกว่า 9,632,000 ต่อเดือน
ส่วน Shopee ซึ่งเปิดตัวโดยการทำธุรกิจในรูปแบบ C2C ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ให้พื้นที่แก่ผู้ขายสินค้าและผู้ซื้อมาแลกเปลี่ยนทางการค้า Shopee เพิ่งระดมทุนรอบใหม่เพื่อนำมาใช้สำหรับการขยายตลาดและเพิ่มรูปแบบของธุรกิจเป็นแบบ B2C นอกจากนี้บริษัท Shopee ยังโฟกัสในการพัฒนาแอปพลิเคชันบนมือถือให้ตอบสนองต่อผู้ใช้เป็นอย่างดี ซึ่งทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายใช้แอปพลิเคชั่นได้ง่ายขึ้น จึงทำให้แอปพลิเคชัน Shopee มียอดดาวน์โหลดกว่า 1 ล้านดาวน์โหลดและมียอดผู้เข้าชมกว่า 3,500,000 ต่อเดือน
4. แบรนด์ผู้นำด้าน Social Media ในประเทศไทย
ในส่วนนี้ ข้อมูลจาก iPrice ระบุว่า ถ้าหากเปรียบเทียบร้านค้าสัญชาติไทยแล้วนั้น ร้านค้า CHilindo ขึ้นเป็นที่หนึ่งในสามด้านได้แก่จำนวนผู้เข้าชมต่อเดือนกว่า 3,056,000 ครั้ง อีกทั้งยังมียอดการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันสูงกว่า 500,000 ดาวน์โหลดและผู้ติดตามทาง Facebook สูงกว่า 3,510,000 ไลค์ โดย Chilindo มีจุดขายที่แตกต่างจากร้านค้าโดยทั่วไปเนื่องจากมีการขายสินค้าในรูปแบบประมูล ซึ่งให้ผู้ซื้อสินค้าประมูลสินค้าเริ่มต้นที่ราคา 1 บาท จุดขายนี้ทำให้ Chilindo เป็นที่สนใจของผู้ใช้ นอกจากนี้บริษัทยังมีการทำการตลาดบน Facebook ที่แอคทีฟ โดยมีการนำเสนอสินค้าผ่านวีดีโอและ GIF ได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งแต่ละโพสต์ได้รับความสนใจและสร้าง engagement ได้สูง
ส่วนเจ้าแม่ Instagram ตกเป็นของ Canival ซึ่งเคยเป็นร้านขายรองเท้าสตรีทแบรนด์เล็ก ๆ ในมุมหนึ่งของสยามสแควร์ในอดีต ตอนนี้ได้เข้ามาเล่นในตลาด e-Commerce อย่างเต็มตัว จนสามารถเอาชนะยักษ์ใหญ่อย่าง Lazada ได้ด้วยการใช้ Instagram รุกตลาดแฟชั่น ร้าน Carnival มีผู้ติดตามสูงสุดกว่า 261,000 ผู้ติดตามบน Instagram
กลยุทธ์คือ Carnival ให้ความสำคัญกับรูปภาพที่โพสต์บน Instagram โดยคำนึงถึงองค์ประกอบของรูปภาพทั้งด้านแสง, สี และการวางสินค้าที่มีความเป็นเอกลักษณ์ และสามารถถ่ายทอดรายละเอียดของรองเท้าได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้แต่ละโพสต์จะมีการบอกรายละเอียดที่ลูกค้าต้องการอย่างชัดเจน อาทิ จำนวนสินค้า, ไซซ์ และราคาของสินค้าที่วางขาย รวมถึงช่องทางในการสั่งซื้อที่สะดวก Instagram จึงเป็นจุดแข็งที่ทำให้ Carnival ประสบความสำเร็จในการทำตลาดแฟชั่นด้วย Instagram
LINE เป็นแอพพลิเคชั่นแชทที่ได้รับความนิยมสูงสุดในประเทศไทย ร้านค้า e-Commerce หันมาให้ความสนใจในการใช้ LINE สำหรับติดต่อและส่งข่าวสารให้กับลูกค้ามากขึ้น ซึ่งจากการศึกษาบริษัทที่ใช้ LINE ในการทำธุรกิจ พบว่า 8 บริษัทเป็นบริษัทจากประเทศไทยได้แก่ Wemall, Karmarts, Powerbuy, Jaymart, Pomelo, Shop 24, Central Online, Beauticool และอีก 2 บริษัทมาจากต่างประเทศ ได้แก่ Lazada และ Shopee แสดงให้เห็นว่าบริษัทสัญญาติไทยเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคมากกว่าบริษัทจากต่างชาติ นี่คงเป็นช่องว่างที่บริษัทจากต่างประเทศสามารถพัฒนาเพื่อใช้เป็นช่องทางในการเข้าถึงผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น
5. เทรนด์เปลี่ยนจากมีหน้าร้านเป็นออนไลน์
ในยุคที่ e-Commerce เติบโตอย่างรวดเร็ว ร้านค้าที่มีหน้าร้านหันมาจับโอกาสในการทำตลาดออนไลน์มากขึ้น หนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจได้แก่ร้านค้า J.I.B ซึ่งเริ่มต้นจากการเป็นร้านขายคอมพิวเตอร์ที่เซียร์ รังสิต จนประสบความสำเร็จและมีสาขากว่า 140 สาขาในปัจจุบัน
คุณจิ๊บผู้ก่อตั้ง J.I.B ซึ่งเล็งเห็นถึงโอกาสในการทำธุรกิจออนไลน์ได้ทดลองขายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เป็นครั้งแรกจนมีรายได้กว่า 800,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเขารู้สึกเซอร์ไพรส์กับรายได้ผ่านทางออนไลน์อย่างมาก จึงทำให้เขาเห็นโอกาสในธุรกิจออนไลน์และหันมาโฟกัสในการทำธุรกิจบน e-Commerce มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันร้านค้า J.I.B มีผู้เข้าชมกว่า 2,450,000 ครั้งต่อเดือน ทำให้เป็นเว็บที่มีผู้เข้าชมสูงสุดเป็นอันดับที่ 6
ตามมาติด ๆ ก็คือห้าง Central ซึ่งเป็นห้างที่ใหญ่และมีชื่อเสียงมากที่สุดในประเทศไทย Central เห็นโอกาสในธุรกิจออนไลน์จึงได้แตกไลน์ธุรกิจออนไลน์ภายใต้ชื่อ Central Online ซึ่งนโยบายของพวกเขาคือการนำห้างมาอยู่เพียงปลายนิ้ว Central Online มีผู้เข้าชมกว่า 2,039,500 ครั้งต่อเดือน ทำให้เป็นเว็บไซต์อันดับ 7 ที่มีผู้เข้าชมสูงสุด Central Online เป็นหนึ่งบริษัทที่น่าจับตามองเนื่องจากพวกเขาเคยเป็นร้านออฟไลน์ที่หันมาสนใจด้านออนไลน์ ชาวไทยคงต้องจับตามองว่าร้าน Central Online จะสามารถใช้ชื่อเสียงและประวัติที่สั่งสมมานานในประเทศไทยในการทำธุรกิจออนไลน์ให้ประสบความสำเร็จได้หรือไม่
ที่มา: iPrice