ต้องยอมรับว่าสงคราม E-Commerce ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia: SEA) ดูจะร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งร้านค้า E-Commerce หน้าใหม่และหน้าเก่าต่างงัดกลยุทธ์ทางการตลาดออกมามากมาย เพื่อดึงดูดลูกค้าให้อยู่หมัด
ล่าสุด iPrice แพลตฟอร์มเปรียบเทียบราคาสินค้าออนไลน์ ได้อัพเดทข้อมูล Map of E-commerce ที่แสดงให้เห็นถึงผลงานของบรรดา E-Commerce รายใหญ่ในภูมิภาค และสงคราม E-Commerce ในประเทศไทย
ข้อมูลนี้น่าสนใจตรงที่ จริงๆ แล้วร้านค้าไหนกันแน่ที่เจาะตลาดผู้ใช้งานผ่านเว็บไซต์และสมาร์ทโฟนได้มากกว่ากัน โดยรายละเอียดที่น่าสนใจมีดังนี้
ขั้นตอนการศึกษา
- จัดอันดับผู้เข้าชมสินค้าโดยเฉลี่ยต่อเดือน (ที่มา: SimilarWeb)
- จัดอันดับแอปชอปปิ้งโดยเฉลี่ย นำข้อมูลมาจาก App Annie บริษัทวิจัยตลาดแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน
- รายชื่อร้านค้า: เรารวบรวมร้านค้าที่มีผู้เข้าชมอย่างน้อย 1 แสนคนต่อเดือนหรือมีผู้ติดตามในโซเชียลมีเดียอย่างน้อย 1 แสนคน ร้านค้าเหล่านี้ไม่รวมร้านขายตั๋ว, ไฟแนนซ์, กองทุน, คูปอง, บริการส่งอาหาร,ประกัน, บริการส่งสินค้า, เว็บ Meta search คลาสสิฟายด์และโฆษณา
ฝั่งเว็บ E-Commerce ใน SEA ใครมาแรงสุด
ถ้าจะให้กล่าวถึงร้านค้า E-Commerce ยอดนิยมก็คงหนีไม่พ้น Lazada หรือ Shopee แต่ทั้งสองแพลตฟอร์มก็ไม่ได้รับความนิยมทั้ง SEA เสียทีเดียว
เพราะยังมีบางประเทศก็มีแพลตฟอร์มเจ้าถิ่นยังคงเป็นแชมป์อยู่ เช่น อินโดนีเซียที่มี Tokopedia ครองอันดับแพลตฟอร์มที่มีผู้เข้าชมสินค้ามากที่สุดอยู่รองลงมาคือ Bukalapak แล้วถึงจะตามมาด้วย Shopee ตบท้ายด้วย Lazada
ส่วนที่เวียดนามนั้น Shopee ขึ้นแท่นอันดับหนึ่ง ตามด้วย Tiki แพลตฟอร์มเจ้าถิ่น แล้วถึงปิดท้ายด้วย Lazada เป็นอันดับที่สาม ซึ่ง Lazada ครองอันดับนี้มาตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2561 แต่ก่อนหน้านั้นจะอยู่อันดับที่ 1
สุดท้ายคือประเทศสิงคโปร์ที่ Qoo10 ครองบัลลังก์อันดับที่ 1 ในแบบที่ใครก็โค่นบัลลังก์ไม่ลง โดย Lazada และ Shopee ก็อยู่ที่ 2 และ 3 ตามลำดับ
แล้วแอป E-Commerce ใน SEA เป็นอย่างไร
ส่วนข้อมูลไฮไลท์ของ iPrice ที่ร่วมมือกับ App Annie ระบุว่าในไตรมาสนี้ 10 อันดับแอป E-Commerce สุดฮอตในแต่ละประเทศ โดยวัดจากจำนวนผู้ใช้บริการแอปมากที่สุดในแต่ละเดือน
ทางด้านการแข่งขันในตลาดสิงคโปร์ก็ดูน่าสนใจ เพราะ Lazada ดัน Qoo10 ซึ่งคว้าตำแหน่งร้านค้าที่ผู้เข้าชมสินค้ามากที่สุดลงไปอยู่อันดับที่ 2 ตามมาด้วย Shopee อยู่ที่อันดับ 3 และ Taobao ร้านค้าเชื้อสายจีนมาเป็นอันดับ 4
สำหรับประเทศไทยดูจะมีข้อมูลที่น่าจับตามองกว่าประเทศอื่น แม้อันดับที่ 1-3 จะเป็นผู้เล่นที่เราคุ้นเคย (Lazada, Shopee และ Aliexpress) แต่อันดับที่ 4 กลับตกไปอยู่ที่ JD Central ร้านค้าอีคอมเมิร์ซที่เพิ่งเข้าร่วมสังเวียนได้ไม่ถึง 1 ปี
และอันดับ 10 คือ Joom แพลตฟอร์ม E-Commerce ที่เชื่อว่าชาวไทยน้อยคนจะรู้จัก แต่กลับมียอดผู้ใช้บริการติดอันดับ 1 ใน 10 ได้ มีจุดเด่นคือ มีการจัดส่งฟรี และรับประกันการจัดส่งในแบบที่ถ้าสินค้าเสียหายก็ขอเงินคืนได้เลย
ดูจะเป็นอีกหนึ่งผู้เล่นที่ประมาทไม่ได้เลยในตลาด E-Commerce ไทย
10 อันดับแอปสายชอปที่มีผู้ใช้บริการรายเดือนมากสุดใน SEA
ยุคนี้นอกจากการวัดความฮอตของธุรกิจจากจำนวนผู้เข้าชมแพลตฟอร์ม E-Commerce ทางเว็บไซต์แล้ว อันดับการใช้งานทางแอปก็เป็นข้อมูลควรพิจารณาประกอบด้วย
โดยข้อมูลของ App Annie เผยถึง 10 อันดับแอปที่มีจำนวนผู้ใช้บริการรายเดือนมากที่สุดใน 6 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม, สิงคโปร์ และไทย บน App Store และ Play Store
ซึ่งในไตรมาสนี้ หากดูที่ยอดบน App Store จะพบว่า Shopee ครองอันดับ 1 ใน 5 ประเทศ (ได้แก่ อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, ไทย และเวียดนาม) ในขณะที่ Lazada ได้อันดับที่ 1 จากตลาดสิงคโปร์เท่านั้น
ส่วนบน Play Store ร้าน Shopee ยังได้ครองอันดับหนึ่ง ถึง 4 ประเทศ (ได้แก่ อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม) แต่ Lazada ได้ส่วนแบ่งอันดับหนึ่ง แค่เพียง 2 ประเทศ (ได้แก่ ไทยและสิงคโปร์) เท่านั้น
จากภาพรวมจะเห็นว่า แม้ส่วนใหญ่ Lazada และ Shopee จะผลัดกันครองอันดับที่ 1-2 แต่ในตลาดอินโดนีเซียเห็นจะมี Tokopedia และ Bukalapak ร้านค้าเจ้าถิ่นที่คอยเลื่อนขาเก้าอี้อยู่
ยิ่งถ้าเจาะเฉพาะตลาดเวียดนามแล้วดูที่ Tiki แอป E-Commerce เจ้าถิ่นดูจะไม่ยอมให้ใครแย่งอันดับที่ 2 บน App Store และพร้อมที่จะขึ้นแท่นครองที่ 1 ในทุกขณะ
เรียกได้ว่า ถ้าใครพลาด อาจโดนแย่งตำแหน่งได้ง่ายๆ เลยทีเดียว
ภาพรวมแพลตฟอร์ม E-Commerce ไตรมาสแรกปี 2562 ในไทยเป็นอย่างไร
นอกจากนี้ iPrice ยังเผยแพร่ข้อมูล Map of E-commerce ในประเทศไทยออกมาอีกด้วย โดยจะเห็นได้ว่า Lazada (อันดับ 1) และ Shopee (อันดับ 2) ยังเป็นผู้ครองตลาดแบบชัดเจน
ส่วน Chillindo ก็มีผู้ติดตามและเข้าใช้งานแพลตฟอร์มอยู่ในอันดับที่ 3 แต่น่าสังเกตว่ายอดผู้ใช้ ยอดผู้ติดตามบน LINE, Facebook และ Instagram มีจำนวนห่างจากที่ 2 อย่าง Shopee อยู่หลายเท่าตัว
แต่ที่น่าสนใจคืออันดับที่ 4 คือ Notebookspec ที่ติดอันดับการสำรวจในครั้งนี้ สาเหตุที่ได้อยู่ในอันดับนี้ก็เพราะ ในหน้าจัดสเปคคอมพิวเตอร์ จะเห็นว่ามีบริการสั่งซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์จาก Advice (ซึ่งอยู่อันดับที่ 5) และ JIB (อยู่อันดับที่ 6) ด้วย
ต่อมา หากดูอันดับที่ 7-10 คือ JD Central, Power Buy, Central.co.th, และ Shop24 ผู้เล่นจากค้าปลีกรายใหญ่ก็เบียดขึ้นมาติดอันดับอันนี้กันแบบหายใจรดต้นคอ
ส่วนอันดับที่ 11-20 ได้แก่ 11.Pomelo, 12.Munkong Gadget, 13.Konvy, 14.Looksi, 15.Tarad, 16.Top Value, 17.We Love Shopping, 18.Wemall, 19.Sephora และ 20.TVDirect Online
อันดับที่ 21-30 ได้แก่ 21.11Street TH, 22.To Home, 23.Banana Store, 24.EZbuy, 25.Carnival, 26.O Shopping, 27.Blisby, 28.Invade IT , 29.Beauticool และ 30.Headdaddy
และ อันดับที่ 31-39 มีดังนี้ 31.IT City, 32.Digital2Home, 33.True Shopping, 34.The Outlet 24, 35.Jaymart, 36.C Mart, 37.Karmarts, 38.Orami และ 39.Shopspot
จากผลโพลทำให้เห็นได้ว่าตลาดอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคนี้ คึกคักมากจริงๆ ค่ะ