ในงาน WWDC 2019 ที่ Apple จัดขึ้นเพื่ออัพเดทฟีเจอร์ใหม่ให้นักพัฒนาได้ทราบทุกปี มีหนึ่งฟีเจอร์ที่ได้รับเสียงปรบมือเกรียวกราวไม่น้อยจากผู้ชมในห้องนั้น คงหนีไม่พ้นฟีเจอร์ ‘Sign in with Apple‘ ที่จะมีในทุกแอปที่อยู่ App Store ของ Apple อ้างอิงจากรายงานข่าวของ Macthai
โดย Apple ชูคุณสมบัติเด่นของ Sign in with Apple คือ การปกป้องความเป็นส่วนตัวจาก Social Media ยอดนิยม อย่าง Facebook และ Google ที่นำข้อมูลของเราไปใช้โดยไม่ได้รับการยินยอมก่อน
วิธีแก้ของ Apple คือการเปิดให้เลือกอีเมลที่จะให้แอปอื่นๆ ใช้ได้ และมีตัวเลือกให้ส่งอีเมลแบบนิรนามที่มีการเข้ารหัสได้ ตัวอย่างอีเมล เช่น fc452bd5ea@privaterelay.appleid.com เป็นต้น ซึ่งอีเมลแบบนิรนามที่ปรากฎในแอปอื่น ก็จะมีชื่ออีเมลที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละแอปอีกด้วย
ที่สำคัญ Apple กำหนดในคู่มือการออกแบบอย่าง Human Interface Guidelines ชัดเจนแล้วว่า ปุ่ม Sign in with Apple ต้องใส่ไว้เหนือปุ่ม Login ของ Social Media เจ้าอื่น เช่นปุ่ม Sign In with Facebook หรือ Sign In with Google นั่นเอง
Position a Sign In with Apple button correctly in relation to other sign-in buttons. In a stacked layout, place the Sign In with Apple button above the other buttons.
ตอกย้ำแบบชัดๆ ตามสไลด์ที่ขึ้นในงาน WWDC เมื่อวันก่อนว่า “You control your data” หรือ “คุณควบคุมข้อมูลได้” นั่นเอง
นักการตลาดอาจเหนื่อย แต่น่าจะมีทางไปที่เว็บไซต์
Thumbsup มองว่า ฟีเจอร์ใหม่ที่ Apple มีขึ้น คงต้องการแก้ปัญหาเรื่องของความเป็นส่วนตัว (Privacy) ที่มาจากฝั่ง Social Media ยักษ์ใหญ่อย่าง Google และ Facebook นั่นเอง
โดย Apple อาจมองว่าตัวเองเป็นผู้ควบคุม Ecosystem ของ Product ในมือมากมายไม่ว่าจะเป็น Mac, iPhone, iPad, Apple Watch และอื่นๆ อยู่ จึงขอให้อำนาจนี้สร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกให้เกิดขึ้น
แต่เหล่านักการตลาดอาจมองว่านี่กลายเป็นขาลงในการเก็บข้อมูลลูกค้ามาเพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคยกแรก เพราะอย่างน้อยการไม่ได้ชื่อและนามสกุลมา ก็ทำให้ไม่สามารถยืนยันตัวตนผู้บริโภคได้ระดับหนึ่งแล้ว
และอีเมลของแต่ละคน ก็สามารถวิเคราะห์ชื่อและนามสกุลแบบคร่าวๆ ได้อีกเช่นกัน กลับถูกเข้ารหัสอีก งานยากเลยทีนี้
แน่นอนว่า Sign in with Apple ที่ออกมาหลังจากนี้ คงต้องการควบคุมการยินยอมส่งข้อมูลอื่นๆ เช่น วันเกิด พิกัดที่อยู่ อายุ เป็นต้น ได้อีกมากมาย คำถามที่ผุดขึ้นมา คือ Facebook และ Google จะยอมให้ Apple ทำแบบนี้จริงๆ หรือ?
ที่สำคัญอย่าลืมว่าตอนนี้เทคโนโลยีการติดตามความเคลื่อนไหวผู้บริโภคจากการเข้าเว็บไซต์ก็มีมากมายอยู่เช่นกัน ซึ่งก็ยังไม่มีบริษัทไอทีเจ้าไหน มาแก้ปัญหาตรงนี้ มีแค่ Tim Berners-Lee ผู้คิดค้น Protocol อย่าง WWW เท่านั้น ที่คิดทำแพลตฟอร์ม Solid เพื่อควบคุมการส่งข้อมูลให้กับเว็บไซต์ แต่ดูแล้วหนทางยังอีกไกล
หลังจากนี้ เว็บไซต์คงกลายเป็นทางรอดใหม่ สำหรับนักการตลาด บริษัทต่างๆ และ Social Media แบบหลีกเลี่ยงไม่ได้
คำถามใหญ่: Apple จะไม่กลายเป็นปีศาจตัวต่อไปใช่ไหม?
แน่นอนว่า ปัญหาของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านไอทีที่เรามักพบกัน นั่นคือการกลายเป็นปีศาจเสียเอง ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ชี้หน้าบริษัทอื่นว่า “อย่ากลายเป็นปีศาจ” เลย
ซึ่งตอนนี้เรายังมองในแง่ดีว่า Apple ไม่ได้ต้องการข้อมูลใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ได้หวังชิงสร้างข้อมูลที่ไหลผ่านระบบใหม่ของตัวเอง ไปใช้ประโยชน์ในแง่ที่ละเมิดความเป็นส่วนตัว
แต่เราบอกได้แค่ว่า คำตอบของเราในตอนนี้ก็คือ “เวลา” เวลาเท่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าสิ่งที่เรากลัวนั้น จะไม่กลายเป็นความจริง