พฤติกรรมการกินอาหารนอกบ้านของคนไทยนั้น เรียกได้ว่าเกิดขึ้นเกือบทุกคน เพราะบางครั้งอาจไม่สะดวกในการทำอาหารกินเอง หรือมีปาร์ตี้กับเพื่อนฝูงและคนในสังคม ผลสำรวจของ Food Tracker บอกให้ทราบว่าคนไทยใช้มือถือในการค้นหาและสั่งอาหารมารับประทานที่บ้านมากขึ้น
Food Tracker ได้ร่วมกับ MarketBuzz สำรวจพฤติกรรมการรับประทานอาหารจานด่วนและอาหารจานเดียวของผู้บริโภคในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 พบว่า ผู้บริโภคกว่า 3,000 คนที่ตอบแบบสำรวจนิยมในอาหารญี่ปุ่นถึง 60% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับการรับประทานไก่ทอด และสูงกว่าพิซซ่าและแฮมเบอเกอร์ด้วย
จิม ฟราลิค ผู้บริหาร Food Tracker เล่าว่า ร้านอาหารจานด่วนและทั่วไปในไทยนั้นเติบโตเร็วมาก เช่นเดียวกับร้านอาหารญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่ปี เพราะเป็นที่นิยมของคนไทย ด้วยพฤติกรรมการรับประทานอาหารเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้บริษัทที่ให้บริการธุรกิจเกี่ยวกับร้านอาหารแฟรนไชส์จำนวนมาก ต้องศึกษาตลาดให้รอบด้าน รวมทั้งรับทราบถึงความต้องการของลูกค้าได้อย่างทันท่วงที
“เราดูแลธุรกิจร้านอาหารในไทย 10 แบรนด์ในไทย การเก็บข้อมูลจากความต้องการของลูกค้านั้น จะช่วยให้แบรนด์ได้รับทราบถึงความต้องการและปรับเปลี่ยนการให้บริการต่อลูกค้าได้อย่างเหมาะสมกับสภาพตลาด”
แกรนท์ บาร์โทลี่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MarketBuzz กล่าวเสริมว่า สัดส่วนของผู้ใช้มือถือในประเทศไทยมีมากกว่า 60% และส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตชุมชนเมือง ทำให้บริษัทสามารถทำการวิจัยบนมือถือได้อย่างง่ายดาย เพราะแพลตฟอร์มมือถือช่วยให้เราเชื่อมต่อกับผู้บริโภคมากกว่า 12 ล้านคน ได้แบบประหยัดค่าใช้จ่ายและผลสำรวจออกมาอย่างแม่นยำด้วย
นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า ตลาดเดลิเวอรี่ในไทยมีการเติบโตและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้ง Food Panda, Line Man, และ GrabFood ได้แข่งขันกันอย่างดุเดือด รวมทั้งผู้เล่นต่างชาติอีกมากมายที่กำลังรอคอยจังหวะที่จะแทรกตัวเข้ามาในอุตสาหกรรมอาหาร และเพื่อให้ครอบคลุมตลาดในเซกเม้นต์ดังกล่าว
ดังนั้น ธุรกิจอาหารต้องเตรียมรับมือการเข้ามาของธุรกิจต่างชาติด้วยการเตรียมความพร้อมในเรื่องของเครื่องมือในการวิเคราะห์พฤติกรรมและปรับธุรกิจให้ทันต่อยุคสมัย เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง