ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซสัญชาติปักกิ่ง JD.com ตัดใจปิดสำนักงานในออสเตรเลีย แหล่งข่าววงในระบุเหตุผลว่าเป็นเพราะ JD ทนพิษขาดทุนไม่ไหว ทำให้ต้องเร่งมือผ่าตัดตัวเองก่อนจะขาดทุนไปมากกว่านี้ ด้าน JD.com ยืนยันปิดเฉพาะสำนักงาน แต่ยังร่วมมือกับบริษัทผู้ส่งออกสินค้าออสเตรเลีย ทำให้ยังมีสินค้าแดนจิงโจ้ทำตลาดเช่นเดิม
สื่อที่รายงานสถานการณ์ร้อนของ JD.com คือ Australian Financial Review ซึ่งวิเคราะห์ว่า JD ต้องจมกับภาวะขาดทุนต่อเนื่องมานานจากการเปิดสำนักงานในแดนออสซี่
โดยที่ผ่านมา บริษัทอีคอมเมิร์ซจีนให้บริการสั่งซื้อสินค้ากลุ่มอาหารของออสเตรเลีย อย่างเช่นผลิตภัณฑ์นมเนย วิตามิน และเครื่องสำอางบนแพลตฟอร์ม จนโดนใจลูกค้าชาวจีนหลายล้านคน
ปิดฉากหลังยื้อมา 15 เดือน
สำหรับการตัดสินใจครั้งนี้ รายงานระบุว่าเป็นการปิดฉากหลังจากที่ JD.com เริ่มเปิดสำนักงานในออสเตรเลียนานกว่า 15 เดือน ซึ่งช่วงเวลาเกิน 1 ปีที่ผ่านมา JD.com เปิดตลาดแดนจิงโจ้ด้วยความหวังที่จะลุยแผนขยายธุรกิจแบบไม่ธรรมดา แต่ความทะเยอทะยานนี้ไม่เป็นผลเพราะบริษัทพบกับภาวะขาดทุนต่อเนื่อง
แม้จะยืนยันว่ามีลูกค้าชาวจีนหลายล้านคนที่สั่งซื้อสินค้าสัญชาติออสเตรเลีย แต่ JD.com ออกแถลงการณ์แล้วว่าตัดสินใจปิดสำนักงานในเมลเบิร์น โดยกำลังรวมสำนักงานของออสเตรเลียเข้ากับธุรกิจในประเทศจีน
ก่อนจะย้ำว่าตลาดออสเตรเลียยังมีความสำคัญไม่เปลี่ยนแปลง และบริษัทจะไม่เปลี่ยนแปลงการบริการและการเป็นพันธมิตรกับผู้ส่งออกสินค้าในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
หลังจากปิดสำนักงาน สินค้าจากออสเตรเลียจะถูกจัดการโดยเจ้าหน้าที่ของ JD.com ในประเทศจีน ขณะที่ Patrick Nestrel หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการของ JD.com ออสเตรเลียได้ลาออกไปเรียบร้อยแล้ว
ไม่มีผลกับตลาดออสซี่
นักวิเคราะห์คาดว่าการถอยฉากของ JD.com เป็นสัญญาณล่าสุดว่าการมาถึงของยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซต่างประเทศเช่น Amazon, Alibaba และ JD.com นั้นไม่เป็นภัยคุกคามต่อผู้ค้าปลีกชาวออสเตรเลียอย่างที่คาดไว้ก่อนหน้านี้
แม้ว่า JD.com จะจ้างพนักงานเพียงไม่กี่คนในเมลเบิร์น แต่ JD.com จำเป็นต้องลงทุนเพิ่มเพื่อขยายเครือข่ายการกระจายสินค้า รวมถึงคลังสินค้าในออสเตรเลีย ทั้งหมดนี้เป็นหนึ่งในความท้าทายชัดเจนในยุคที่การเติบโตของอีคอมเมิร์ซกำลังชะลอตัว
มีการวิเคราะห์ด้วยว่า รูปแบบธุรกิจของ JD.com นั้นทำกำไรได้น้อยกว่า Alibaba เนื่องจาก JD.com เน้นการบริการแบบ end-to-end ซึ่งรวมถึงการดูแลลูกค้า ตลอดจนการจัดการคลังสินค้า และการส่งมอบสินค้าสู่ทีมงานในประเทศจีน
นอกจากนี้ JD.com ยังถูกเพ่งเล็งเพราะผู้ก่อตั้งอย่าง Richard Liu ถูกกล่าวหาว่าข่มขืนนักเรียนในสหรัฐอเมริกา จนมีการยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายมากกว่า 50,000 เหรียญสหรัฐ ยังมีประเด็นที่ทำให้ JD.com ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในประเทศจีน เพราะการประกาศลดเงินเดือนพนักงานขนส่ง ซึ่งถือเป็นกระดูกสันหลังหลักของบริษัท
JD.com ไม่ใช่รายเดียวที่เปิดสำนักงานในออสเตรเลีย แต่คู่แข่งอย่าง Alibaba ก็เปิดสำนักงานในออสเตรเลียในปี 2017 เช่นกัน
แต่ Alibaba กลับมีกำไรที่สูงขึ้นเนื่องจากระบบที่กำหนดให้แบรนด์เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเรื่องคลังสินค้าและการจัดส่งผลิตภัณฑ์ จุดนี้ Alibaba ย้ำว่าจะไม่มีแผนลดการดำเนินงานในออสเตรเลีย โดยออสเตรเลียเป็นประเทศอันดับที่สี่ของโลกที่ขายผลิตภัณฑ์ไปยังประเทศจีนได้มากที่สุด.
ที่มา: : AFR