Site icon Thumbsup

เรื่องเก่าเล่าใหม่ เบื้องหลังของ “Jerry” ก่อนพ้นตำแหน่งจาก Yahoo!


ที่มาของภาพ Yodel Anecdotal

เมื่อปีที่แล้วคิดว่าหลายๆ คนคงพอจำได้ว่ามีข่าว Jerry Yang ผู้ก่อตั้ง Yahoo! ได้ลาออกจากบริษัทที่ตัวเองร่วมสร้างมาด้วยน้ำพักน้ำแรง จนระยะหลัง Yahoo! ได้ CEO คนใหม่อย่าง Marissa Mayer ที่กอบกู้สถานการณ์ได้สำเร็จ มีคนบอกว่าผมในฐานะ “อดีตคนใน” น่าจะออกมาเขียนถึงเรื่องนี้ เลยกลายเป็นบทความนี้ครับ

ตอนแรกมีข่าวว่า Jerry Yang ผู้ก่อตั้ง Yahoo! ลาออกจากบอร์ดบริหาร  ตอนแรกผมก็แปลกใจไม่ได้เพราะไม่คิดว่า Jerry จะออกจากบริษัทที่ตัวเองสร้างมากับมือได้ สมัยผมทำงานที่นั่น Jerry เองก็เป็นที่รักของพนักงานทุกๆ คน ถึงขั้นว่าตอนที่เขาขึ้นมาเป็น CEO ในอาทิตย์แรก มีคนตั้งกลุ่ม Yahoo! Group แบบ internal เอาไว้เชียร์ Jerry โดยเฉพาะเลยทีเดียว

ทำไมพนักงาน Yahoo! ถึงรัก Jerry นัก? อ่านเรื่องราวของเขากันนะครับ

ย้อนกลับไปในอดีต… Jerry Yang เกิดเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 1968 กรุงไทเป ไต้หวัน ในวัยเด็กเขาย้ายตามครอบครัวจากกรุงไทเป สู่ เมืองซานโฮเซ่ แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เติบโตและร่ำเรียนทางสายวิศกรรมไฟฟ้าที่ Stanford University ขณะที่เรียนหนังสือก็เจอกับเพื่อนคู่ซี้อย่าง David Filo และร่วมกันสร้างเว็บไซต์ที่เขาตั้งชื่อมันว่า “Jerry and Dave’s Guide to the World Wide Web” ซึ่งเป็นเว็บรวมลิงก์ใน Stanford ในปี 1994 ปรากฏว่าทำไปทำมา มีคนสนใจเยอะ เลยต้องหยุดพักการเรียนปริญญาเอก และโดดออกมาทำเป็นเรื่องเป็นราว พร้อมกับตั้งชื่อใหม่ว่า “Yahoo!”

Jerry และ David เริ่มต้นสร้าง Yahoo! จากการเป็นเว็บ Portal หรือที่เมืองไทยเรียกกันว่า “เว็บท่า” ซึ่งเป็นเว็บรวมลิงก์ทุกสิ่งทุกอย่างในสากลโลกเพื่อให้คนค้นหาข้อมูลต่างๆ ได้รวดเร็ว ทำให้ Yahoo! กลายเป็นเว็บไซต์ที่มีคนเข้ามากที่สุดในโลก จากนั้นก็เกิดการเลียนแบบนวัตกรรมนี้ทั่วโลก อย่างในเมืองไทยก็มี Sanook! Kapook! Mthai ที่สร้างเว็บขึ้นมาในยุคใกล้ๆ กัน

ช่วงกลางปี 2007 ถึงต้นปี 2009 Jerry ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักลงทุนรวมถึงสื่อมวลชนว่าไม่สามารถพลิกฟื้น Yahoo! ได้ ราคาหุ้นตกลงเรื่อยๆ แต่ที่ดูจะเป็นข่าวใหญ่ที่สุดก็คือตอนที่ Microsoft ยื่นข้อเสนอขอซื้อกิจการ Yahoo! ในราคา 33 เหรียญสหรัฐฯ ต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาที่หลายคนมองว่าดี แต่ทางบอร์ดผู้บริหารของ Yahoo! (ซึ่งมี Jerry รวมอยู่ด้วย) มองว่ามูลค่าต่ำเกินไป ช่วงนั้นมีบล็อกเกอร์สัมภาษณ์ Jerry บ่อยครั้งว่าทำไมถึงไม่ยอมขาย เขาถึงกับต้องออกมาพูดว่า “ผมไม่ได้บอกว่าจะไม่ขาย แต่คุณค่าของ Yahoo! สูงกว่าที่ Microsoft เสนอมา” หลายคนเชียร์กันให้ขาย แต่ตอนนั้นที่ผมรู้มา Yahoo! มันมี value มากกว่านั้นจริงๆ

เรื่องการบริหาร และธุรกิจ คิดว่าหลายคนคงเคยได้ยินจากข่าวต่างๆ มาบ้างแล้ว แต่เบื้องหลังที่อาจไม่ค่อยมีใครรู้ว่าทำไมข้างในถึงสามัคคีกันนัก นั่นเป็นเพราะแนวทางที่ Jerry และ David สร้างวัฒนธรรมองค์กรหลายๆ อย่างที่หล่อหลอมให้พนักงาน Yahoo! รักองค์กร มีอะไรพูดคุยกับ Jerry ได้ตลอด ใช้เวลาร่วมกันกับพนักงานทั้งในเวลาที่สุขสนุกกันสุดๆ และในวันที่ซบเซา

ภาพขณะกำลังเล่นซูโม่กันในบริษัท

ในการทำงานของ Yahoo! Jerry เคยสร้าง Yahoo! Brickhouse ที่เป็น idea incubator เพื่อจะสร้าง start-up environment ภายในบริษัท เวลาพนักงานอยากจะทำอะไรใหม่ๆ ที่อาจกลายมาเป็น product ใหม่ของบริษัทได้ แต่คุณไม่มีเงินมากพอ คุณสามารถทำ proposal ไปเสนอเพื่อขอ “Jerry’s fund” ได้

นอกจากนี้เขายังเป็นคนตั้งธรรมเนียมน่ารักๆ อะไรหลายๆ อย่างที่ทุกคนจะรู้ดีเช่น ทำงานมา 5 ปีจะได้รับเครื่องขายขนมไข่ตรา Yahoo! ที่เป็นสัญญลักษณ์ว่า “5 years in service” ส่วนใครทำงานครบ 10 ปีจะได้เครื่องชงเอสเปรสโซ่ตรา Yahoo! เวลาเขียนอีเมลภายในหา Jerry พยายามเขียนด้วยตัวอักษรที่ไม่ใช่ Capital letter เพราะบุคลิกของ Yahoo! จะต้องอ่อนน้อมถ่อมตน และถ้าใครใช้ Capital letter (ซึ่ง represent การโอ้อวด) Jerry จะเขียนกลับเป็นอักษรตัวเล็กหมด เพื่อเป็นการเตือนความทรงจำ นอกจากนั้น Jerry และ David ผู้ร่วมก่อตั้งยังคงร่วมบริหารบริษัทอย่างต่อเนื่อง แต่หลังๆ พอสถานการณ์เริ่มตึงเครียด Jerry ขึ้นมาเป็น CEO แต่แรงกดดันของนักลงทุนเพิ่มมากขึ้น

หลังจากนั้นด้วยแรงกดดัน Yahoo! ก็เปลี่ยนตัว CEO มาเป็น Carol Bartz แต่หลังจากที่ Carol บริหารไปได้ปีกว่า ก็มีข่าวว่าเธอถูกบอร์ดบริหารไล่ออก ทำให้ Tim Morse ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงินเข้ามาดูแลแทนชั่วคราว จนกระทั่ง Yahoo! ได้ Scott Thompson อดีตผู้บริหารจาก PayPal และทันใดนั้นเอง Jerry ก็ประกาศลาออกจากตำแหน่งทุกตำแหน่งในบริษัทที่เขาร่วมก่อตั้งมาถึง 17 ปีเต็ม รวมถึงตำแหน่งใน Alibaba และ Yahoo! Japan ท่ามกลางคำถามของหลายต่อหลายคนว่าเขาจะไปไหน ทำอะไรต่อไป (จากนั้น Yahoo! ถึงได้ Marissa Mayer มา) และเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรครั้งใหญ่

ในวันนั้น ผมโทรกลับไปถามเพื่อนๆ ที่สิงคโปร์ว่าเกิดอะไรขึ้น ทุกอย่างเป็นอย่างที่ทุกคนเห็นในข่าวจริงหรือ ไม่มีใครตอบอะไรผม แต่สิ่งที่ผมได้คำตอบแบบที่แอบเศร้าใจไม่ได้ก็คือ (ไม่ได้ดราม่านะครับ แต่นี่เรื่องจริงเลย)… หลังจากที่มีการประกาศออกมาว่า Jerry จะลาออกจากบริษัทที่เขาร่วมก่อตั้งมา Jerry บินไปหาพนักงานทุกคนทั่วโลกทีละประเทศแบบลับๆ และบอกลาทุกคนด้วยตัวเอง เรื่องที่เพื่อนผมเล่าก็คือ Jerry บินมาถึงสิงคโปร์เงียบๆ เป็นที่สุดท้ายก่อนที่จะบินกลับอเมริกา และมาบอกลาทุกคนว่าขอให้ตั้งใจทำงานกันต่อไป ในการมาสิงคโปร์ครั้งนี้ Jerry ก็นัดประชุม Townhall meeting (ประชุมที่พนักงานทุกคนรวมตัวกัน) มีเพียงวาระเดียวคือ “การบอกลา” จากนั้นเขาก็ให้พนักงานตั้งคำถามอะไรก็ได้

มีพนักงานถามว่า “ถ้าหากคุณย้อนเวลาได้ คุณจะทำอะไร คุณจะแก้ไขอะไร” Jerry ตอบว่า “เราเข้ามหาชนเร็วเกินไป” คำตอบนี้เหมือนกับที่เขาเคยพูดเอาไว้ในปี 2004  และเป็นคำตอบสุดท้ายก่อนจะปิดประชุม และลาทุกคนอย่างเป็นทางการ

ปัจจุบัน Jerry Yang ยังคงอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา คาดว่ายังคงทำงานเบื้องหลังให้กับ startup รุ่นใหม่ในฐานะ Venture Capital และคาดว่ายังคงเป็นบอร์ดบริหารอยู่ใน Asian Pacific Fund และ Cisco รวมถึงบอร์ดของ Stanford University