จากประเด็นเรื่องของคนทำงานในสายงานต่าง ๆ ที่ขาดแคลนซึ่งกำลังเป็นความท้าทายของบริษัทหลาย ๆ แห่งในประเทศไทย การสร้างความพร้อมให้ตลาดการจ้างงานในไทยโตทันสภาพการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมก็เป็นความท้าทายที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน ดังนั้นวันนี้เราจะมาเจาะลึกถึงพฤติกรรมการหางานและความต้องการของชาว Gen Y และ Gen Z เพื่อช่วยให้แต่ละองค์กรเข้าถึงบุคลากรที่มีคุณภาพได้มากขึ้น
โดยตัวเลขจากงาน Shaping the Future of HR 4.0 โดยบริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี(ประเทศไทย) พบว่า กลุ่มคนยุคมิลเลนเนียล พิจารณายื่นใบสมัครโดยอาศัยปัจจัยที่อ้างอิงจากวิถีการดำเนินชีวิต เช่น การออกแบบสำนักงาน ทำเลที่ตั้ง ระยะทางและระยะเวลาในการเดินทาง รวมถึงการทำงานที่มีความยืดหยุ่น โดยชาว Gen Y เป็นช่วงวัยของการเริ่มต้นในหลายๆ ด้าน เช่น ชีวิตการทำงาน หรือแม้กระทั่งชีวิตครอบครัวของตนเอง ส่วนคน Gen Z มีคาแร็คเตอร์หลักๆ คือ เป็นมนุษย์เทคโนโลยี ที่สำคัญยังไม่ใช่กลุ่มคนที่ภักดีกับองค์กร
ทั้งนี้จากการศึกษาพฤติกรรมของนักศึกษาจบใหม่ หรือกลุ่มคน Gen Z ที่ทยอยเข้าสู่ตลาดงาน ทั้งปัจจัยบ่งชี้เหตุผลในการตัดสินใจเลือกงาน และสาเหตุที่องค์กรควรสร้างแรงจูงใจเพื่อดึงดูดคนกลุ่มนี้ให้มาร่วมขับเคลื่อนองค์กร พบว่า ปัจจัยหลักๆ ในการตัดสินใจเลือกงานที่คนกลุ่มนี้คำนึงถึง คือ สถานที่ทำงาน สิ่งอำนวยความสะดวก และสวัสดิการที่มีความยืดหยุ่น รวมถึงวัฒนธรรมองค์กร
ขณะที่ผู้บริหารและ HR เอง ต้องปรับรูปแบบวิธีการบริหารคนกลุ่มนี้โดยให้พื้นที่และโอกาสในการแสดงความคิดเห็น คน Gen Z เป็นคนที่มีความคิดเป็นของตัวเองสูง และมักจะไม่ยอมรับอะไรง่าย ๆ จึงควรให้โอกาสในการให้พวกเขาได้ปล่อย “ของ” อย่างเต็มที่
นอกจากนั้นยังพบว่า คน Gen Z ชอบให้องค์กรพิจารณาผลงานจากฝีมือจริงๆ ไม่ใช่ตามระบบอาวุโส เรื่องนี้องค์กรต้องมีเกณฑ์การพิจารณาการให้ผลตอบแทน หรือพิจารณาเลื่อนตำแหน่งให้เหมาะสม
ทั้งนี้ จ๊อบส์ดีบี ยังได้เผยผลการสำรวจแนวโน้มการหางานในปัจจุบัน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559 – มกราคม 2560 พบว่า 65% ของผู้ประกอบการใช้เว็บไซต์หางานเป็นช่องทางหลักในการค้นหาผู้สมัคร ขณะที่ 74% ของผู้หางานและสมัครงานผ่านเว็บไซต์หางาน โดย 3 ช่องทางสมัครงานที่ได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่ สื่อออนไลน์ (74%) ติดต่อผ่านผู้ประกอบการโดยตรง (34%) และการบอกต่อ (26%)
ขณะที่พฤติกรรมการค้นหางานของผู้หางาน ในปัจจุบันผู้หางานเลือกสมัครงานผ่านโฆษณาประกาศงานมากขึ้น โดย 67% ของผู้หางานในประเทศไทยใช้โทรศัพท์มือถือในการค้นหางานเป็นหลัก ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้สมัครงานผ่านโทรศัพท์มือถือสูงถึง 51% ในทางกลับกัน 33% และ 49% ของผู้หางานค้นหาและสมัครงานผ่านคอมพิวเตอร์
โดยจากข้อมูลเหล่านี้ คุณนพวรรณ กล่าวทิ้งท้ายว่า “จากความเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการหางานสู่โลกออนไลน์มากขึ้นนี้ JobDB มองเห็นความจำเป็นและความต้องการของผู้สมัครงานและนายจ้าง และมีเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อช่วยให้การหางานทำได้ตรงใจมากยิ่งขึ้น เช่น การให้บริษัทใส่ Company Profile หรือการใส่ภาพขององค์กรเพื่อให้สะท้อนตัวตนของบริษัทได้ ซึ่งมั่นใจว่า จะเป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ความท้าทายของการหางานเพื่อคนรุ่นใหม่ได้อีกทางหนึ่ง”