จ๊อบส์ดีบี เปิดผลสำรวจสรุปภาพรวมและแนวโน้มตลาดงานทักษะอะไรที่คนทำงานยุคใหม่ต้องมี โดยอ้างอิงจากจำนวนประกาศงานและข้อมูลการสมัครงาน พบว่า เศรษฐกิจภาพรวมยังคงชะลอตัว ส่งผลให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2% ส่วนในด้านตำแหน่งงานว่างปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 30% ผันแปรไปตามจำนวนที่มากขึ้นของประชากรที่ได้รับวัคซีน โดยเหล่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ยังคงอยู่ในช่วงเฝ้าระวังและจับตาดูสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด
ธุรกิจที่มีจำนวนตำแหน่งที่เปิดรับสมัครงานสูงสุด ได้แก่
- ธุรกิจไอที คิดเป็น 11.3%
- ธุรกิจขายส่ง ขายปลีก คิดเป็น 10.8%
- ธุรกิจธนาคารและการเงิน คิดเป็น 8.4%
ทางด้านสายงานที่มีจำนวนใบสมัครสูงสุด ได้แก่
- สายงานขาย งานบริการลูกค้า งานพัฒนาธุรกิจ คิดเป็น 14.3%
- สายงานการตลาด งานประชาสัมพันธ์ คิดเป็น 11.7%
- สายงานธุรการและทรัพยากรบุคคล คิดเป็น 10.9%
ในส่วนของการฟื้นตัวของแต่ละสายงาน พบว่า
สายงานที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด ได้แก่
- สายงานไอที คิดเป็น 19.1%
- สายงานขาย บริการลูกค้า และพัฒนาธุรกิจ คิดเป็น 19.0%
- สายงานวิศวกรรม คิดเป็น 13.9%
หากพูดถึงธุรกิจที่มีการฟื้นตัวกลับมา อยู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโรคระบาดได้อย่างรวดเร็ว ได้แก่ ธุรกิจสารเคมี พลาสติก กระดาษ และปิโตรเคมี, ธุรกิจไอที, ธุรกิจการผลิต และธุรกิจการแพทย์และเภสัชกรรม แม้ว่าสถานการณ์ตลาดงานจะค่อย ๆ ปรับตัวอย่างช้า ๆ ไปตามสภาพเศรษฐกิจ
โดยกลุ่มสายงานที่มีจำนวนประกาศงานเติบโตขึ้นมากที่สุด ได้แก่
- สายงานอีคอมเมิร์ซ คิดเป็น 71.7%
- สายงานขนส่ง คิดเป็น 43.8%
- สายงานการเงินและการธนาคาร คิดเป็น 26.2%
อีกทั้งการสนับสนุนของรัฐบาลที่ผลักดันการนำเอาอุปกรณ์ไอทีมาประยุกต์ใช้, ธุรกิจการผลิต จากดัชนีการผลิตที่เพิ่มขึ้นหลังจากมาตรการควบคุมโรคระบาดเริ่มผ่อนปรนลง และธุรกิจการแพทย์และเภสัชกรรม ที่ถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในช่วงวิกฤตโรคระบาดหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งธุรกิจที่กลับมาเติบโตแบบก้าวกระโดดเหล่านี้ ส่งผลให้ความต้องการแรงงานที่มีทักษะเกี่ยวข้องดีดตัวกลับมา
- ธุรกิจไอที คิดเป็น 11.3%
- ธุรกิจขายส่ง ขายปลีก 10.8%
- ธุรกิจการเงินและการธนาคาร 8.4%
ถือเป็น 3 ธุรกิจที่มีการเปิดรับสมัครงานสูงสุด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์โควิด-19 มีบทบาทส่งเสริมและผลักดันการดำเนินธุรกิจ การซื้อขาย และการทำธุรกรรมบนโลกออนไลน์ ช่วยกระตุ้นให้สายงานเหล่านี้พลิกกลับขึ้นมาเป็นสายงานสำคัญและเป็นฟันเฟืองช่วยขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างสมบูรณ์
แรงงานที่มีทักษะดิจิทัลมีความกระตือรือร้นที่จะเปลี่ยนงานภายใต้สายงานเดิม โดยมีปัจจัยด้านความต้องการแสวงหาโอกาสในการก้าวหน้าอัตราค่าตอบแทนที่สูงขึ้น และความท้าทายใหม่ ๆ เป็นแรงจูงใจหลัก นอกจากนี้ แรงงานยุคดิจิทัลจำนวนไม่น้อยตระหนักถึงความสะดวกสบายจากการทำงานระยะไกลในช่วงวิกฤตโรคระบาด โดยเกือบ 70% ของคนทำงานทั่วโลกยินดีที่จะทำงานแบบระยะไกลให้กับองค์กรที่อยู่ต่างพื้นที่
โดย 5 ประเทศที่แรงงานในยุคนี้สนใจต้องการทำงานระยะไกลให้ด้วยมากที่สุดคือ
- สหรัฐอเมริกา
- สหราชอาณาจักร
- ออสเตรเลีย
- สาธารณรัฐประชาชนจีน
- สิงคโปร์
ผลสำรวจยังได้เปิดเผยข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจอีกหนึ่งประเด็นด้วยว่า การแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดงานและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่อาจเข้ามาแทนที่แรงงาน ส่งผลให้ผู้ที่มีทักษะดิจิทัลประมาณ 42% มีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของระบบอัติโนมัติ รวมถึงความเป็นไปได้ของอัลกอริธึม หุ่นยนต์ หรือซอฟต์แวร์ขั้นสูง ที่อาจเข้ามาแทนที่ความสามารถและทักษะต่าง ๆ ของพวกเขา
ดังนั้น ทักษะที่คนทำงานยุคใหม่จำเป็นต้องมี ก็คือ
ด้านการเรียนรู้
- ใส่ใจนวัตกรรม
- มีความคิดสร้างสรรค์
- แก้ปัญหาเป็น
ด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี
- รอบรู้สื่อดิจิทัล
- อัปเดตข้อมูลข่าวสาร
- ประยุกต์และฉลาดสื่อสาร
ด้านการใช้ชีวิต สังคมและอาชีพ
- รู้จักปรับตัว
- มีความเป็นผู้นำ
- Growth Mindset
ทั้งนี้ ผู้มีทักษะดิจิทัลส่วนใหญ่จำเป็นต้องติดตามและเข้าใจเทคโนโลยีที่พัฒนาอยู่ตลอดเวลาเพื่อฝึกทักษะใหม่ ๆ ที่มีความสำคัญและจำเป็นในการทำงาน เพื่อให้มั่นใจว่าความสามารถของพวกเขาจะนำไปสู่การจ้างงานที่มั่นคงและยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คนทำงานและผู้ประกอบการเตรียมพร้อมรับมือในแง่มุมต่างๆ ประกอบด้วย
คนทำงาน
- ต้องปรับตัว และ พัฒนาความรู้ เพื่อเป็นแต้มต่อในการทำงาน
- พัฒนาซอฟต์สกิล โดยเฉพาะด้านความเป็นผู้นำและการพัฒนาความคิด
- เปิดใจ ไม่หยุดพัฒนา เพราะวิถีไฮบริดเป็นโอกาสสำหรับคนเก่ง
ผู้ประกอบการ
- ปรับนโยบายองค์กร สร้าง Employment Value Propsition ตระหนักถึงความเท่าเทียม
- ปรับรูปแบบการทำงานสู่ไฮบริดและเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงาน
- สนับสนุนการเรียนรู้ของพนักงานเพื่อรักษาคนเก่งให้อยู่กับองค์กร
- เปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ สร้างแบรนด์สู่องค์กรนวัตกรรม
ทั้งนี้ การปรับตัวของคนทำงานและองค์กร เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงก็ยังคงเป็นเรื่องสำคัญและจะมองข้ามการปรับตัวให้ทันต่อยุคสมัยไม่ได้ เพราะหากคุณก้าวตามการเปลี่ยนแปลงของโลกไม่ทัน ก็อาจจะเสียหายทั้งในแง่พนักงานและธุรกิจไปได้ง่ายๆ