Site icon Thumbsup

SEEK จับทิศทาง Digital Talent ปรับตัวองค์กรด้วยแนวคิด People-First Culture

ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินธุรกิจสมัยใหม่เป็นอย่างมาก หลาย ๆ องค์กรจึงต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาโครงสร้างในบริษัทให้ครอบคลุมมากที่สุด เพื่อสร้างข้อได้เปรียบในสถานการณ์การแข่งขันทางธุรกิจ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรู้ถึงความต้องการของกลุ่มผู้ที่มีทักษะด้านดิจิทัลหรือที่เรียกว่า “Digital Talent” เพื่อให้การบริหารงานและการทำงานให้เป็นไปได้อย่างราบรื่น และสามารถเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันได้ในที่สุด ด้วยเหตุนี้ผู้ประกอบการนอกจากจะต้องพัฒนากลยุทธ์ที่จะดึงดูดพนักงานใหม่แล้ว การสร้างทักษะทางดิจิทัลให้กับพนักงานเดิมให้อยากร่วมงานกับองค์กร โดยต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เน้นบุคลากรเป็นศูนย์กลางเพื่อเข้าใจความต้องการพนักงานหรือที่เรียกว่า People-First Culture ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน

จากผลสำรวจในหัวข้อ “ถอดรหัสลับ  จับทิศทางความต้องการคนที่มีทักษะดิจิทัล (Decoding Digital Talent Survey)” ที่ SEEK (ซีค) ร่วมกับ Boston Consulting Group (BCG) (บริษัท เดอะ บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป จำกัด) และ The Network (เดอะ เน็ตเวิร์ค) พันธมิตรระดับโลกของเว็บไซต์หางานที่ JobStreet และ JobsDB ภายใต้กลุ่มบริษัท SEEK ได้ร่วมกันจัดทำขึ้นพบว่าพนักงานที่ตอบแบบสอบถามมากกว่าครึ่ง (63%) ต้องการโอกาสก้าวหน้าของอาชีพในบทบาทงานอื่น, ต้องการงานที่ท้าทาย (49%), ต้องการเป็นที่ยอมรับในตำแหน่งปัจจุบัน (36%), อยากมีความสมดุลของชีวิตและงาน และได้ร่วมงานกับองค์กรที่มีความเชื่อและคุณค่าที่ตรงกัน หากผู้ประกอบการละเลยปัจจัยเบื้องต้นเหล่านี้อาจจะทำให้บุคลากรกลุ่มนี้ตัดสินใจเปลี่ยนงานในที่สุด ดังนั้นผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องพัฒนานโยบายการทำงานเพื่อดึงดูดและรักษา Digital Talent ให้เข้ามาร่วมงานในองค์กรในที่สุด

กลยุทธ์การพัฒนาบุคลากรให้กับองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วย Digital Talent

การพัฒนากลยุทธ์ที่เน้นบุคลากรหรือ “คน” เป็นศูนย์กลางเป็นหัวใจหลักของการขับเคลื่อนธุรกิจและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจได้ในที่สุด ดังนั้นองค์กรจึงจำเป็นต้องมีวิธีการต่าง ๆ ในการเพิ่มศักยภาพให้กับพนักงานด้วยการพัฒนาทักษะเดิม และการสร้างทักษะใหม่ให้กับพนักงานทั้งในสายดิจิทัลและในสายอาชีพอื่น โดยผู้ประกอบการต้องพิจารณาดังนี้

  1. การวางแผนพัฒนาบุคลากรแบบรายบุคคล: วิเคราะห์ความต้องการของบุคลากรสู่การวางแผนพัฒนาทักษะดิจิทัลทั้งพนักงานที่มีทักษะทางเทคโนโลยีอยู่แล้วแต่ต้องการพัฒนาความรู้เพิ่มเติม ตลอดจนพนักงานในสายอาชีพอื่นที่สามารถเรียนรู้เพื่อก้าวสู่ตำแหน่งที่เกี่ยวเนื่องกับดิจิทัลได้
  2. วิธีการพัฒนาทักษะให้เหมาะสม: ออกแบบโปรแกรมการพัฒนาทักษะให้ตรงกับความต้องการของพนักงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถได้อย่างเหมาะสม และสามารถนำความรู้ทางดิจิทัลไปปรับใช้กับเนื้องานได้จริง
  3. การเปิดโอกาสให้พัฒนาทักษะตามความต้องการแต่ละบุคคล: มีงบประมาณสนับสนุนพนักงานให้สามารถใช้จ่ายบนหลักสูตรทางดิจิทัลให้พนักงานสามารถเลือกโปรแกรมการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง เพื่อส่งเสริมให้มีอิสระในการเรียนรู้ในสิ่งที่ต้องการพัฒนา

การสร้างจุดแข็งขององค์กรต่าง ๆ ถึงแม้จะไม่ใช่บริษัททางด้านเทคโนโลยีแต่สามารถพัฒนาให้กลายเป็น “ผู้ว่าจ้าง” ที่ดึงดูดกลุ่มคนที่มีทักษะทางดิจิทัลได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้

  1. การยอมรับวิธีการทำงานแบบใหม่: ให้อิสระในการทำงานในเรื่อง เวลา สถานที่ทำงานโดยบริษัทสามารถขยายทางเลือกให้พนักงานทำงานแบบระยะไกลจากต่างประเทศได้ และมีโปรแกรม การฝึกอบรมให้กับกลุ่มผู้นำเกี่ยวกับวิธีการจัดการการทำงานกับพนักงานจากระยะไกล
  2. การเปิดโอกาสการสร้างสิ่งใหม่: ส่งเสริมการทำงานในโปรเจกต์ที่สามารถเปลี่ยนแปลงองค์กรที่เกี่ยวเนื่องกับดิจิทัลได้ เพราะจะทำให้พนักงานรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าและเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนองค์กรสู่ความสำเร็จ
  3. การสนับสนุนความสุขและสุขภาพที่ดี: การออกแบบสภาพแวดล้อมของสถานที่ทำงานให้สอดรับกับรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไป โดยมีพื้นที่ในการทำงานที่ตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละบุคคล มีอุปกรณ์เทคโนโลยีที่ทันสมัย มีห้องกิจกรรมสำหรับสุขภาพกายและใจ ตลอดจนมุมสำหรับการพักผ่อนและการตกแต่งที่ช่วยให้จิตใจผ่อนคลาย เช่น การนำต้นไม้เข้ามาเสริมบรรยากาศการทำงาน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้บุคลากรสามารถผลิตผลงานที่มีคุณภาพ ตลอดจนสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้กับองค์กรและคู่ค้าได้

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังต้องคำนึงถึงค่าตอบแทน (เงินเดือน, โบนัส) จำนวนวันลา วันหยุด ความมั่นคงในงาน ความสัมพันธ์ของผู้ที่อยู่ในตำแหน่งสูงกว่า และนวัตกรรมที่ส่งเสริมความราบรื่นในการทำงาน ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งในเหตุผลที่กลุ่ม Digital Talent นั้นให้ความสำคัญเช่นกัน

Peter Bithos (ปีเตอร์ บิโธส) ประธานกรรมการบริหาร SEEK Asia กล่าวว่า “การให้ความสำคัญกับบุคลากรนั้นมีส่วนสำคัญมากเพราะพวกเขาคือหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรให้ประสบความสำเร็จ สำหรับ seek ในฐานะบริษัทแม่ของแพลตฟอร์มชั้นนำต่าง ๆ ของเอเชีย เราเห็นถึงความสำคัญของบุคลากรเช่นเดียวกัน บนพื้นฐานแนวคิดแบบ People-First Culture

โดยล่าสุด JobsDB Thailand ได้มีการย้ายหรือพัฒนาสถานที่ทำงานให้ตอบโจทย์การทำงานในยุคดิจิทัลและส่งเสริมสภาพแวดล้อมการทำงานให้พนักงานมีสุขภาวะที่ดี เพื่อการพัฒนาองค์กรของเราและลูกค้าของเราให้บรรลุเป้าหมายของธุรกิจ อาทิ การออกแบบจัดสรรพื้นที่การทำงานสำหรับทุกคน  มีการแบ่งพื้นที่สำหรับให้ทีมสามารถทำงานพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน (collaboration spaces) และมีพื้นที่เงียบสงบ (quiet spaces) สำหรับคนที่ต้องการสมาธิในการโฟกัสงานเป็นพิเศษ รวมถึงการปรับเปลี่ยนโต้ะทำงานแบบเดิมให้กลายเป็นโต้ะปรับระดับได้เพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนอิริยาบทในการทำงานของพนักงานได้หลากหลายตามความพอใจของแต่ละบุคคล  ซึ่งจะทำให้พนักงานสามารถเลือกปรับได้เหมาะสมกับความต้องการของตนได้มากที่สุด

นอกจากนี้ รวมถึงการคำนึงถึงการจัดสรรพื้นที่โซนพักผ่อนให้คนทำงานสามารถเข้ามาใช้เพื่อผ่อนคลายระหว่างวัน ไม่ว่าจะเป็นการนัดพูดคุยพบปะสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงาน มีมุมสำหรับพักรับประทานอาหารหรือพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจให้ตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์ของแต่ละบุคคล  พร้อมทั้งมีมุมส่วนตัวให้แก่พนักงาน อาทิ มีล็อกเกอร์เก็บของให้กับพนักงานเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการใช้พื้นที่แบบ co-working space หรือการมีห้องอเนกประสงค์ที่พนักงานสามารถเข้ามาใช้ได้ในยามที่ต้องการพักผ่อนอย่างสงบและเป็นส่วนตัว หรือใช้เป็นพื้นที่สำหรับสวดมนต์อธิษฐาน (multi-faith purpose) ตามความเชื่อส่วนบุคคล  ซึ่งล้วนช่วยเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีทั้งด้านร่างกายและจิตใจให้กับพนักงาน”

“เราได้นำนโยบายการส่งเสริมความสุขของพนักงานมาพัฒนาให้เกิดขึ้นจริงกับสถานที่ทำงานแห่งใหม่ เช่น การย้ายและปรับพัฒนาพื้นที่สำนักงานของ JobsDB Thailand ตามแนวทาง people-first culture  เช่นเดียวกับ SEEK ในประเทศอื่น ๆ ก็เป็นในทิศทางนี้เช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นการช่วยให้ SEEK สามารถสร้างวัฒนธรรมการทำงานร่วมกัน และการสนับสนุนพนักงานด้วยแนวทางที่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตของผู้คนเป็นอันดับแรกอย่างแท้จริง” Peter เสริม