ภาวะหมดไฟ (Burnout) คงเป็นคำกล่าวที่คนทำงานในปัจจุบันต่างคุ้นเคยกันดี บางคนอาจกำลังประสบกับภาวะดังกล่าวอยู่และหลายคนอาจผ่านพ้นช่วงจังหวะชีวิตที่เผชิญกับภาวะหมดไฟมาแล้ว บ่อยครั้งภาวะหมดไฟส่งผลกระทบแง่ลบต่อหน้าที่การงาน ตลอดจนการใช้ชีวิตประจำวัน จนไปถึงความสัมพันธ์กับครอบครัว เพื่อนร่วมงาน ฯลฯ เมื่อถึงคราวที่ภาวะหมดไฟมาทักทาย อาจทำให้คนทำงานเสียกำลังใจและแรงบันดาลใจไปได้ง่าย ๆ
วันนี้ จ๊อบส์ดีบี แพลตฟอร์มหางานชั้นนำของเอเชีย ชวนคนทำงานยุคใหม่มาปลุกไฟในตัวให้พร้อมกลับมาสู้งานอีกครั้ง ผ่านการให้ความรู้เพื่อทำความเข้าใจภาวะหมดไฟ พร้อมแนะแนวทางในการปรับมุมมองและทัศนคติควบคู่การมองหาองค์ความรู้ใหม่อย่างสม่ำเสมอ ที่นอกจากจะช่วยให้คนทำงานได้ใช้สอยเวลาให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อให้ก้าวผ่านภาวะดังกล่าวได้อย่างง่ายดายแล้ว ยังช่วยเพิ่มโอกาสงาน ที่ไม่ว่างานไหน ก็พร้อมสู้ไปให้สุดอีกครั้ง
ภาวะหมดไฟ ไม่ว่าวัยไหนก็เผชิญได้
ภาวะหมดไฟสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกสถานการณ์กับคนทำงานทุกวัย เริ่มตั้งแต่ First Jobber ไปจนถึงพนักงานระดับหัวหน้า ตลอดจนผู้บริหารระดับสูง โดยสาเหตุหลักมีมากมาย เริ่มตั้งแต่ปัญหาจิปาถะเล็กน้อยอย่างการไม่สามารถจัดการปัญหาต่าง ๆ ไม่สามารถกำหนดตารางงานและรับผิดชอบงานของตนเองได้ ไปจนถึงการไม่รู้สึกผูกพันและไม่มีเป้าหมายร่วมไปในทิศทางเดียวกับองค์กร หรือ แม้กระทั่งการไม่ได้รับโอกาสทำงานที่ถนัด การถูกมองข้ามความคิดเห็น รวมไปถึงปัญหาสุดคลาสสิกอย่างความไม่สมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและงาน ปัญหาเหล่านี้ก่อให้เกิดความล่าช้าในการทำงาน ทั้งยังบั่นทอนจิตใจ ส่งผลให้สูญเสียความมั่นใจในตนเองและความเชื่อมั่นต่อองค์กร กระทบต่อความพร้อมในการทำงานในที่สุด
หมดไฟท่ามกลางวิกฤต ต้องมองให้เห็นโอกาส
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต้องเผชิญกับวิกฤตโรคระบาด ซึ่งแม้ว่าโรคระบาดตลอดจนผลกระทบที่แผ่ขยายเป็นวงกว้างได้สร้างการสูญเสียมากมายอย่างประเมินค่าไม่ได้ หลายธุรกิจจำเป็นต้องปรับลดจำนวนพนักงานหรือปิดตัวลง เหล่าคนทำงานถูกเลิกจ้างงานกะทันหันและต้องต่อสู้หางานอย่างไร้จุดหมาย จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจหากคนทำงานจะหมดกำลังใจและเผชิญภาวะหมดไฟได้ง่ายกว่าที่เคย อย่างไรก็ตาม เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า ในอีกนัยยะหนึ่ง สถานการณ์โควิด-19 ได้เปิดประตูสู่โอกาสใหม่ให้อีกหลายธุรกิจ รวมถึงแรงงานที่มีทักษะที่ตลาดต้องการสูงได้พัฒนาเติบโตแบบก้าวกระโดดนับแต่นั้นมา
คุณดวงพร พรหมอ่อน กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึง “ผลสำรวจรายงานอัตราเงินเดือนของพนักงานไทยประจำปี 2565” บนแพลตฟอร์มของจ๊อบส์ดีบี ประเทศไทยในปีที่ผ่านมาว่า “อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์/ไอที (Computer/IT) คืออุตสาหกรรมที่ประกาศรับสมัครงานสูงสุด เมื่อเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ส่วนในด้านของสายงานที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด วัดจากจำนวนประกาศรับสมัครงานรวมทุกอุตสาหกรรมคือ สายงานด้านการขายและการตลาด (Sales/Marketing)นอกจากนี้ เรายังพบว่า หลายสายงาน อาทิ สายงานไอที สายงานขาย งานบริการลูกค้า และงาน การตลาด รวมถึงงานการศึกษาและการฝึกอบรม และสายงานสุขภาพและความงาม ได้รับการปรับขึ้นอัตราค่าตอบแทนผันแปรไปตามความต้องการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นด้วย”
การบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อควบคุมโรคระบาด การถูกจำกัดกิจกรรมทางธุรกิจ ตลอดจนการเลิกจ้างงานกะทันหัน ถือเป็นตัวจุดประกายครั้งสำคัญให้เหล่าผู้ประกอบการและแรงงาน ปรับมุมมองกลับมาเริ่มให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางการงานและการเงินมากขึ้น แรงงานจำนวนไม่น้อยทั่วโลกหันมาพัฒนาทักษะดิจิทัลที่กำลังเป็นที่ต้องการ เพื่อมองหาลู่ทางใหม่ในอุตสาหกรรมหรือสายงานที่มีแนวโน้มเติบโต
โดยจากสถิติ ผลสำรวจรายงาน “ถอดรหัสลับ จับทิศทางความต้องการคนที่มีทักษะดิจิทัล” สำรวจแรงงานผู้ที่มีทักษะดิจิทัลกว่า 9,000 คน ในหลายประเทศ อาทิ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เดนมาร์ก รวมถึงประเทศไทย พบว่า 63% ของผู้ที่มีทักษะดิจิทัลกำลังมองหาโอกาสงานใหม่ในบทบาทอื่นที่ดีกว่าเดิม ในขณะที่ 49% ต้องการความท้าทายใหม่ ๆ
“ในปีนี้ แม้ว่าผลสำรวจโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) จะพบว่า อัตราการว่างงานทั่วประเทศอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ แต่น่าสนใจมากว่าจำนวนคนทำงานที่เผชิญกับภาวะหมดไฟกลับสวนทางและเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม อยากให้เหล่าคนทำงานมองเรื่องภาวะหมดไฟเป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้ ใช้ประโยชน์จากผลสำรวจของจ๊อบส์ดีบี ควบคู่กับการมองหาโอกาสท่ามกลางสถานการณ์และความไม่แน่นอนที่เผชิญ เพื่อพัฒนาทักษะและคุณสมบัติให้เพียงพอสำหรับงานที่มีความมั่นคงกว่าเดิมทั้งในแง่ของโอกาสในการเติบโตในองค์กรและในแง่ของอัตราค่าตอบแทนในอนาคต” คุณดวงพร กล่าวเสริม
สร้างทักษะ มองหาแรงบันดาลใจ แก้ภาวะหมดไฟให้สิ้นสุด
ในยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวอยู่ตลอด การปล่อยให้ตนเองเผชิญกับภาวะหมดไฟ บ่อยครั้งอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด นอกเหนือจากการศึกษาฝึกทักษะใหม่ ๆ อยู่เสมอ เรายังสามารถเพิ่มความสุขในการทำงาน เพื่อลดอาการ Burnout ได้ง่าย ๆ ผ่านการค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของภาวะหมดไฟ หรือการริเริ่มสิ่งใหม่ ๆ อาทิ การตั้งเป้าหมายใหม่ การค้นหาแรงบันดาลใจและความท้าทายใหม่ การสร้างสภาพแวดล้อมและเริ่มต้นออกเดินทางไปยังสถานที่แห่งใหม่ หรือการหางานอดิเรกใหม่ ซึ่งท้ายที่สุดอาจนำไปสู่การเดินทางบนเส้นทางงานใหม่ที่นำพาไปสู่ประสบความสำเร็จ