ทุกวันนี้เราอาจเห็นการใช้ Social Media เพื่อกิจกรรมด้านการตลาดกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ในอีกด้านหนึ่ง การใช้ Social Media เพื่อรักษาสังคมจากความบอบช้ำ และเพื่อยุติการใช้ความรุนแรงก็มีอยู่เช่นกัน โดยเป็นแคมเปญล่าสุดจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลที่ร่วมกับ J. Walter Thompson (JWT) Bangkok ส่งตรงถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ชายโดยตรง
แคมเปญนี้ชื่อ “บ้าน…ไม่ใช่เวทีมวย” เหตุที่ตั้งชื่อดังกล่าวมาจากการให้สัมภาษณ์ของเหยื่อหลาย ๆ รายที่กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าการถูกซ้อมจากสามี หรือผู้ชายในบ้านนั้น พวกเธอถูกกระทำไม่ต่างจากกระสอบทรายเลย โจทย์นี้ถูกส่งต่อไปยังทีมสร้างสรรค์ นำโดย ทสร บุณยเนตร ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของ JWT และเขาเลือกจะสื่อสารโดยการรณรงค์ผ่านกีฬามวยที่ผู้ชายไทยชื่นชอบ กับกลยุทธ์ Hijack ที่แทรกคอนเทนต์เข้าไปมีส่วนร่วมกับเหตุการณ์จริง และได้มีการขอใช้พื้นที่ของเวทีมวยอ้อมน้อย ของทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เป็นกรณีพิเศษ
อย่างไรก็ดี ในแง่ของการคิดงานของทีมเบื้องหลังนั้นมีความท้าทายหลายประการ โดยคุณแจมมี่ – ปรัตถจริยา ชลายนเดชะ กรรมการผู้จัดการบริษัท J. Walter Thompson (JWT) Bangkok เผยว่า กลุ่มเป้าหมายซึ่งก็คือผู้ชายนั้น บางส่วนจะตั้งกำแพงเพื่อปิดกั้น หรือหลีกเลี่ยงการเสพข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงที่เขาอาจมีส่วนร่วมได้ ด้วยเหตุนี้ ทางทีมงานจึงได้เลือกช่วงเวลาที่กลุ่มเป้าหมายในเวทีมวยอยู่ในช่วงที่อะดรีนาลีนกำลังสูบฉีดจากการเชียร์มวย เนื่องจากตามหลักจิตวิทยาแล้ว การผูกโยงข้อความที่ต้องการจะสื่อสารในช่วงที่อารมณ์ ความรู้สึก และสารในสมองกำลังพลุ่งพล่านนั้น จะทำให้กลุ่มเป้าหมายจดจำได้มากที่สุดและยาวนานที่สุด
โดยทางทีมได้เปลี่ยนตัว Ring Girl หรือสาวงามที่ถือป้ายคั่นยกการแข่งขันเป็นผู้หญิงที่ร่างกายเต็มไปด้วยรอยฟกช้ำ ร่องรอยการถูกทำร้าย ซึ่งผู้หญิงท่านนี้เป็นเหยื่อการกระทำความรุนแรงตัวจริง และแต่งหน้าเลียนแบบรอยแผลจริงที่เธอได้รับ โดยเธอได้เดินออกมาพร้อมชูป้ายบอกเลขยก และพลิกกลับมาเป็นข้อความรณรงค์ของโครงการ “บ้าน… ไม่ใช่เวทีมวย” “#ผู้ชายไม่ทำร้ายผู้หญิง”
ผลคือในเวทีมวย มีเสียงปรบมือให้กำลังใจเหยื่อคนดังกล่าวจากผู้ชายจำนวนมาก
“เราตั้งใจให้เกิดความคิดที่ว่าผู้ชายต้องล้อมกรอบความรุนแรงไว้เฉพาะบนสังเวียนมวยที่เป็นกีฬามีกติกาและอย่านำความรุนแรงกลับไปที่บ้าน ภาพยนตร์ที่ปล่อยออกไปดูผิวเผินจะเป็นเหมือนรายการมวย แต่เมื่อดูไปสักพักเมื่อริงเกิร์ลที่ใบหน้าโดนทำร้ายเดินออกมา ก็เป็นการกระตุกใจผู้ชายได้ดี” คุณแจมมี่กล่าว
นอกจากนั้น ในฝั่งของผู้สร้างสรรค์แคมเปญ คุณทสรเล่าว่า ทีมงานเองก็เกือบกลั้นน้ำตาไม่อยู่ในตอนที่ผู้ชมจากรอบสนามลุกขึ้นปรบมือให้กำลังใจกับเหยื่อ และหากย้อนเวลากลับไปได้ ก็อาจจะเลือกทำแคมเปญนี้กับสนามมวยมากกว่านี้
แต่ที่เป็นตัวช่วยกระจายแนวคิดดังกล่าวของแคมเปญได้มากที่สุดนั้นคงต้องบอกว่าเป็น Social Media โดยมีคนดังในวงการต่างๆ รวมไปถึงคนในวงการมวยไทย หรือกลุ่มนักสู้สมัครเล่นเองก็ตื่นตัวไปกับแคมเปญนี้ไม่น้อย โดยนอกจากจะแชร์ภาพยนตร์รณรงค์แล้ว ยังมีการช่วยกันเขียนป้ายรณรงค์แล้วโพสต์ลง Social Media กันเป็นจำนวนมากด้วย
ผู้สนใจสามารถรับชมภาพยนต์ชุด “บ้าน…ไม่ใช่เวทีมวย” ได้ที่นี่
การต่อสู้เพื่อหยุดความรุนแรงกับผู้หญิงเริ่มแล้วกับวันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงโลกมาร่วมกันแสดงพลังเพื่อผู้หญิงไทยกันเพียงอัพโหลดรูปของคุณ ถือกระดาษ หรืออะไรก็ได้ ที่มีคำว่า "บ้าน…ไม่ใช่เวทีมวย"แล้วใส่ Hashtag #ผู้ชายไม่ทำร้ายผู้หญิง ระฆังยกสุดท้ายลั่นแล้ว หยุดทำร้ายผู้หญิงได้รึยัง?
โพสต์โดย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เมื่อ วันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน 2017