จากมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ที่ให้มีการหยุดงานก่อสร้างโดยเน้นไปที่โครงการขนาดใหญ่ อย่างน้อย 30 วัน ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร รวมถึงการจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มที่ให้เปิดดำเนินการได้เฉพาะการนำกลับไปบริโภคที่อื่นเท่านั้น และอื่นๆ โดยให้เริ่มตั้งแต่ 28 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป
ตามมาด้วยการออกมาตรการเยียวยาผลกระทบต่อลูกจ้างและนายจ้างทั้งในและนอกระบบประกันสังคมของภาครัฐภายใต้วงเงินเบื้องต้น 7,500 ล้านบาทเมื่อวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมานั้น ส่งผลกระทบต่อหลายธุรกิจอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มร้านอาหารและก่อสร้างที่ต้องหยุดงานไปในช่วงเวลาที่ถูกกำหนดนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้แสดงมุมมองต่อประเด็นที่เกี่ยวข้อง โดยจะเน้นวิเคราะห์ผลกระทบต่อธุรกิจก่อสร้างและธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม
อย่างไรก็ตาม มาตรการกึ่งล็อกดาวน์ เป็นความพยายามของภาครัฐที่ออกมาเพื่อจะควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ท่ามกลางความกังวลต่อจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่ไม่ลดลงและอาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ มาตรการบรรเทาผลกระทบต่อลูกจ้างและนายจ้าง ก็สะท้อนถึงเจตนาที่ภาครัฐต้องการให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นผ่านการออกแบบแนวทางให้ครอบคลุมมากที่สุดเท่าที่จะพอทำได้ ณ ขณะนี้
อย่างไรก็ตาม กลไกความช่วยเหลือลูกจ้างและนายจ้างทั้งในและนอกระบบประกันสังคมดังกล่าว ยังมุ่งเน้นไปที่กลุ่มแรงงานและธุรกิจที่เป็นปลายทางของงานก่อสร้างและบริการร้านอาหารและเครื่องดื่มเป็นหลัก ซึ่งแน่นอนว่ากลุ่มเหล่านี้ได้รับผลกระทบเป็นอันดับแรก
แต่ยังคงมีกลุ่มอื่นๆ ในห่วงโซ่ธุรกิจหรือซัพพลายเชนที่ก็ได้รับผลกระทบตามมาเป็นทอดๆ จากการหยุดกิจกรรมที่กำหนดไปอย่างน้อย 1 เดือน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมูลค่างานก่อสร้างและยอดขายร้านอาหารและเครื่องดื่มหายไป กลุ่มซัพพลายเออร์ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจก่อสร้างและธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม ได้แก่ ผู้ค้าส่งค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง ผู้ค้าส่งค้าปลีกวัตถุดิบอาหาร ผู้ให้เช่าพื้นที่เปิดกิจการร้านอาหาร ผู้ให้บริการด้านการขนส่ง เป็นต้น ก็จะไม่ได้รับเม็ดเงินที่เดิมควรจะได้รับหรือมีปัญหาสภาพคล่องได้เช่นกัน
อีกทั้ง สำหรับธุรกิจก่อสร้างยังมีประเด็นเฉพาะด้านกฎหมายเกี่ยวกับการส่งมอบงาน ซึ่งหากล่าช้า จะมีบทลงโทษเป็นค่าปรับ ถูกขึ้น Black List หรือถึงขั้นถูกดำเนินคดีฟ้องร้อง นั่นหมายความว่า ผลกระทบที่มีต่อธุรกิจจะมากกว่าเพียงมูลค่างานที่หายไปเท่านั้น
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สถานการณ์ข้างหน้ายังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนสูง หากเหตุการณ์คลี่คลายลง โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันปรับตัวลดลงในช่วง 1 เดือนข้างหน้า ผลกระทบคงเป็นเพียงภาวะชั่วคราว แต่ถ้าเหตุการณ์ลากยาวออกไปหรือจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันไม่ลดลงตามที่คาด ก็มีความเสี่ยงที่มูลค่าความเสียหายจะมากขึ้นและครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างมากขึ้น
ในเบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ผลกระทบสุทธิในด้านมูลค่าธุรกิจก่อสร้างและยอดขายร้านอาหารและเครื่องดื่มใน 6 จังหวัด (กทม.และปริมณฑล) จากมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ในกรอบเวลา 1 เดือน อาจคิดเป็นเม็ดเงินราว 40,000 ล้านบาท หรือ 0.25% ของจีดีพี โดยมาตรการเยียวยาของภาครัฐมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบในระดับหนึ่ง
- 6 จังหวัด ได้แก่ กทม. นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ก่อสร้าง ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ก่อสร้าง+ร้านอาหารและเครื่องดื่ม
- กิจการ (ราย) 42,053 84,635 126,688
- แรงงาน (คน) 540,466 444,572 985,038
- ความสูญเสียต่อมูลค่างาน/ยอดขาย ช่วง 1 เดือน* (ล้านบาท) 36,200 11,300 47,500
- มาตรการเยียวยาลูกจ้าง/นายจ้าง/เงินช่วยเหลือ 50% จากเหตุสุดวิสัยในระบบประกันสังคม** (ล้านบาท) 4,000-4,500 2,800-3,000 6,800-7,500
- ผลกระทบสุทธิในช่วง 1 เดือน (ล้านบาท) เบื้องต้นอยู่ที่ 40,000
หมายเหตุ: * งานก่อสร้าง 6 จังหวัดมีสัดส่วนราว 51% และเป็นโครงการขนาดใหญ่ราว 60-70% ขณะที่ ยอดขายร้านอาหารและเครื่องดื่ม 6 จังหวัดมีสัดส่วนราว 60% และเป็นหน้าร้านราว 85-88% ซึ่งยอดขายหน้าร้านเฉลี่ยอาจลดลง 35-45% ขณะที่ยอดขายเดลิเวอรี่เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 10-15%
** คำนวณภายใต้สมมติฐานกิจการขนาดใหญ่อยู่ในระบบประกันสังคม 100% และกิจการ MSME อยู่ในระบบประกันสังคมประมาณ 10-20% ซึ่งตัวเลขที่แท้จริงขึ้นอยู่กับยอดขึ้นทะเบียนกับภาครัฐ
ที่มา: ข้อมูลปี 2563 จาก สศช. และ สสว. โดยจำนวนกิจการและแรงงานอาจไม่สามารถครอบคลุมรายย่อยได้ทั้งหมดประเมิน
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย เชื่อว่า ภาครัฐคงจะติดตามและประเมินสถานการณ์เพื่อพิจารณาออกมาตรการเพิ่มเติมอีกหากมีความจำเป็น โดยการออกแบบมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบให้ครอบคลุมตลอดซัพพลายเชนของธุรกิจต่างๆ ที่ประสบปัญหาด้านสภาพคล่อง อาจเป็นแนวทางหนึ่ง แต่ก็จำเป็นที่จะต้องมีข้อมูลที่ตรวจสอบได้ว่ากลุ่มเหล่านั้นได้รับผลกระทบจริงๆ ซึ่งในทางปฏิบัติคงไม่ง่าย
ทั้งนี้ ที่พอจะดำเนินการได้บางส่วน อาจอาศัยความร่วมมือจากสถาบันการเงินในการยืนยันว่าลูกค้าเป็นซัพพลายเออร์ของธุรกิจนั้นๆ อย่างแท้จริง เป็นต้น นอกจากนั้น ก็คงจะเป็นเรื่องการให้ความช่วยเหลือในประเด็นเฉพาะทางเทคนิคหรือกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน