ผลสำรวจ Kantar Worldpanel ในสินค้าอุปโภคบริโภค 92 กลุ่มชี้ สภาวะตลาด FMCG ถดถอยที่สุดในรอบทศวรรษ พบผู้บริโภคทุกวันนี้จ่ายน้อยลง ความภักดีต่อแบรนด์น้อยลงและพร้อมที่จะเปลี่ยนจุดจับจ่ายได้ทันที
คุณอิษณาติ วุฒิธนากุล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจเปิดเผยว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคมีการดิ่งลงตั้งแต่ มกราคม 2560 เป็นต้นมา ทั้งนี้ เป็นผลมาจากสภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว และ การตกต่ำของราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาพืชผลทางการเกษตร เช่น ข้าว ข้าวโพด ยางพารา นอกจากนี้ ปัจจัยหนี้ในครัวเรือนยังคงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ฉุดกำลังการจับจ่ายใช้สอยของครัวเรือนในขณะที่รัฐบาลพยายามกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศอย่างเต็มที่ (อัตราหนี้ในครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ตั้งแต่ปี 2553 (2010) ถึงปี 2559 ในสัดส่วน 59, 66, 72, 77, 80, 81, และ 80 ตามลำดับ)
Kantar Worldpanel (Thailand) จึงได้ทำรายงานวิจัยชุดพิเศษขึ้น ชื่อชุด “Essential Shopper Trends Thailand” เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยด้านพฤติกรรมการบริโภคในยุคภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปัจจุบัน กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความต้องการในตลาด และ ปัจจัยด้านช่องทางค้าปลีกที่ตอบรับกับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป ด้วยจุดประสงค์เพื่อให้เจ้าของแบรนด์สินค้า นักการตลาด รวมไปถึงผู้ค้าปลีกได้ทราบถึงข้อจำกัด ปัญหา และแนวโน้มเพื่อการวางแผนธุรกิจได้อย่างแม่นยำในปัจจุบัน และร่วมกันพัฒนาตลาดให้อยู่รอด บนพื้นฐานประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นหลัก
คุณอิษณาติ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า “จากข้อจำกัดด้านกำลังซื้อ ตลอดจนนิสัยการจับจ่ายของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ซึ่งคือ ผู้บริโภคเพิ่มความระมัดระวังในการซื้อสินค้ามากขึ้น และส่งผลโดยตรงต่อสถิติการเติบโตที่ถดถอยของตลาด FMCG มาอย่างต่อเนื่องตลอดทศวรรษ ซึ่งสามารถสังเกตได้จากยอดขายของกลุ่มสินค้า 3 กลุ่มหลักในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 จนถึง ไตรมาส 2 ของปี 2560 ประกอบไปด้วย กลุ่มสินค้าในครัวเรือน ในอัตรา 3.3 กลุ่มสินค้าของใช้ส่วนบุคคล 6.2 และกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มในอัตรา 0.6 ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 2 ของปี 2560 แล้ว อัตรายอดขายลดลงเหลือเพียง 4.1 1.5 และ 0.2 ตามลำดับกลุ่มสินค้า
เมื่อมองในแง่ของพฤติกรรมของผู้บริโภคโดยภาพรวมในช่วงปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคทำการ – ซื้อน้อยลง (Buy Less) และ จ่ายน้อยลง (Pay Less) ทั้งนี้ การซื้อน้อยลงประกอบไปด้วย ปริมาณสินค้าที่ซื้อน้อยลง กลุ่มสินค้าที่ถูกซื้อน้อยลง และลดความถี่ที่ออกไปจับจ่ายสินค้า
ส่วนการจ่ายเงินน้อยลงนั้น ประกอบไปด้วยการซื้อสินค้าในขนาดบรรจุที่เล็กลง การเลือกซื้อในช่วงมีโปรโมชั่น และที่อันตรายที่สุด คือ การเปลี่ยนช่องทางร้านค้าที่ซื้อสินค้าไปเลย และสถานการณ์ที่เหล่าผู้ค้าปลีกทั้งหลายต้องเผชิญอยู่นั้น เป็นการรับศึกหนักกับการที่ผู้บริโภคเพิ่มความระมัดระวังในการจับจ่ายมากยิ่งขึ้น
จากข้อมูลวิจัย แสดงให้เห็นถึงสถิติด้านความถี่ในการออกไปจับจ่ายจากปี 2555 ถึงปี 2560 ว่า จากสถิติความถี่การซื้อสินค้า 210 ลดลงเหลือเพียง 201 ครั้งต่อปี โดยที่ผู้บริโภคทำการซื้อสินค้าตามความจำเป็นมากยิ่งๆ ขึ้น ผู้บริโภคจะเลือกจับจ่ายเฉพาะกลุ่มสินค้าที่จำเป็นมากกว่าสินค้าที่ไม่จำเป็น นั่นคือจาก 44 กลุ่มสินค้า ถูกลดเหลือเพียง 42 กลุ่มสินค้าในหนึ่งปี และผู้บริโภคยังซื้อสินค้าที่อยู่ในช่วงโปรโมชั่นมากยิ่งขึ้น จาก 25% ที่ทำการซื้อตามโปรโมชั่นเพิ่มขึ้นเป็น 36% (ทั้งนี้นับเป็นสถิติในช่องทางไฮเปอร์มาร์เก็ตและซุปเปอร์มาร์เก็ต) โดยรวมการเติบโตของกลุ่มสินค้าที่ผู้บริโภคเลือกซื้อลดลง จากอัตรา 48% เหลือเพียง 37% เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม จากผลการวิจัยยังชี้ให้เห็นถึงว่า กลุ่มสินค้าที่มีแนวโน้มที่จะถูกบริโภคมากขึ้นนั้น จะเป็นกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาหาร หรือ สินค้า “Home Meal” ซึ่งมีอัตราการขยายตัวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น กะทิกล่องสำเร็จรูป (Coconut Milk), น้ำยาซักผ้า (LQD Detergent), ส่วนผสมและเครื่องปรุงอาหาร (Meal Maker), นมถั่วเหลืองสเตอริไลซ์ (Sterilized Soy Milk), ผลิตภัณฑ์ไล่แมลง (Insect Repellant), เครื่องดื่มชนิดผงชงดื่ม (RTD TFD), น้ำส้มสายชู (Vinegar), นมดื่มสเตอริไลซ์ (Sterilized LQD Milk), ขนมแปรรูปจากปลาหมึก (Cuttle Fish Snack), นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม (UHT DKY), และข้าว (Rice)
สำหรับช่องทางจัดจำหน่าย ผลจากการวิจัยพบว่า ตลาดออฟไลน์รูปแบบร้านสะดวกซื้อและซุปเปอร์มาร์เก็ตที่เป็นเชนนั้นมีการขยายตัว ในขณะที่ช่องทางออนไลน์กำลังเป็นช่วงขาขึ้น การตอบรับทางช่องทางออนไลน์มีสถิติเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่ายังมีสัดส่วนที่ยังไม่ใหญ่นักก็ตาม
สรุปแนวโน้มพฤติกรรมเหล่านักช็อปในประเทศไทย
- นักช็อปยังคงประหยัดการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่องและไม่ซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็น
- ประโยชน์ที่ได้รับจากสินค้าเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจซื้อสินค้า
- เงื่อนไขด้านขนาดบรรจุ ราคา และช่องทางจัดจำหน่าย มีความแตกต่างอย่างยิ่งต่อพฤติกรรมการบริโภคระหว่าง นักช็อปที่เป็นคนเมืองและผู้บริโภคตามเขตชนบท
- ร้านค้าขนาดเล็กผ่านการค้าทางอี–คอมเมิร์ช (e-commerce) จะมีแนวโน้มยอดขายเพิ่มขึ้นใน อนาคต
สำหรับข้อคิดเห็นจากรายงานวิจัยชุดนี้ พฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้ไม่ค่อยมีความภักดีต่อแบรนด์มากนัก พวกเขาบริโภคหลายๆแบรนด์ หากผู้ค้าปลีกหรือแบรนด์ใดมีกลยุทธ์ที่ดีและบริการถูกใจ ลูกค้าก็จะให้ความภักดีต่อแบรนด์นั้นๆ แต่แบรนด์ใดที่ไม่ได้สร้างความประทับใจต่อสินค้าและบริการต่อลูกค้าเหล่านั้น พวกเขาพร้อมที่จะเปลี่ยนแบรนด์และสถานที่จับจ่ายสินค้าทันที