เทคโนโลยีได้ผูกติดถาวรกับการออกเดทและการค้นหาความรัก ตั้งแต่หุ่นยนต์ที่เป็นเพื่อนคู่หูไปจนถึง AI ในการเลือกคู่หูที่สมบูรณ์แบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการล็อกดาวน์นานหนึ่งปีครึ่งที่ทำให้การเชื่อมต่อทางดิจิทัลเป็นสิ่งเดียวที่ทำได้ นักวิจัยของแคสเปอร์สกี้ได้ศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับแอปหาคู่ยอดนิยม 9 แอปเพื่อประเมินความปลอดภัยและทำความเข้าใจกับแนวโน้มนี้
สิ่งที่พบคือ เมื่อเทียบกับการวิจัยครั้งก่อนในปี 2020 แอปหาคู่นั้นปลอดภัยมากขึ้นจากมุมมองทางเทคนิค โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพูดถึงการถ่ายโอนข้อมูล อย่างไรก็ตาม แอปเหล่านี้ยังคงมีความเสี่ยงอย่างมากเมื่อต้องเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้มากเกินไป ทำให้เสี่ยงต่อภัยคุกคาม เช่น การสะกดรอยตามทางอินเทอร์เน็ต (Cyberstalking) และการเปิดเผยข้อมูลเพื่อกลั่นแกล้ง (Doxing)
การได้พบรักแท้ในงานปาร์ตี้ดูเหมือนจะเป็นเพียงอดีต เมื่อการเดทออนไลน์ประสบกับความเฟื่องฟูครั้งใหญ่ช่วงการระบาดของโควิด แอป Tinder กวาดสถิติการเลื่อนดูหรือ swipe 3 พันล้านครั้งในวันเดียวในเดือนมีนาคม 2020 ในขณะที่แอป OkCupid มีตัวเลขการเดทเพิ่มขึ้นมากถึง 700% ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมในปีเดียวกัน ท่ามกลางความนิยมที่เพิ่มขึ้นนี้ แคสเปอร์สกี้ตัดสินใจที่จะทำการวิจัยในปี 2017 ซ้ำเรื่องแอปหาคู่ เพื่อดูว่ามีอะไรปรับปรุงขึ้นบ้างและสิ่งใดบ้างที่ไม่ปลอดภัย
แคสเปอร์สกี้ได้วิเคราะห์แอปหาคู่ที่ได้รับความนิยมและมีคะแนนสูงจำนวน 9 แอปที่มีผู้ใช้ทั่วโลก ได้แก่ Tinder, Bumble, OkCupid, Mamba, Pure, Feeld, Her, Happn และ Badoo สิ่งที่นักวิจัยพบก็คือ เมื่อเทียบกับปี 2017 แล้วแอปหาคู่ในปัจจุบันนั้นปลอดภัยกว่าจากมุมมองทางเทคนิค แต่ความเสี่ยงด้านความเป็นส่วนตัวที่สำคัญยังมีอยู่
ในปี 2017 พบแอปจำนวน 4 รายการที่สามารถถูกดักสกัดข้อมูลที่ส่งมาจากแอปได้ และมีแอปหลายรายการที่ใช้โปรโตคอล HTTP ที่ไม่ได้เข้ารหัส อย่างไรก็ตาม ในปี 2021 สถานการณ์ด้านความปลอดภัยของแอปนั้นดีขึ้นอย่างมาก ไม่มีแอปใดใช้ HTTP และไม่มีการส่งข้อมูลหากโปรโตคอลไม่ปลอดภัย
ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่ายังมีประเด็นข้อกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวที่สำคัญสำหรับแอปหาคู่ แอปหาคู่ส่วนใหญ่อนุญาตให้ผู้ใช้ลงทะเบียนบัญชีของตนกับเว็บไซต์โซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างใดอย่างหนึ่ง (เช่น Instagram, Facebook, Spotify ฯลฯ) หากผู้ใช้เลือกที่จะทำเช่นนี้ โปรไฟล์ของผู้ใช้จะถูกเติมโดยอัตโนมัติด้วยข้อมูลจากเว็บไซต์โซเชียลเน็ตเวิร์กนั้น เช่น ภาพถ่ายและข้อมูลโปรไฟล์
ผู้ใช้ยังได้รับเชิญให้แบ่งปันข้อมูล เช่น สถานที่ทำงานหรือมหาวิทยาลัย ข้อมูลต่างๆ นี้ทำให้การค้นหาบัญชีโซเชียลมีเดียของผู้ใช้แอปหาคู่นั้นง่ายขึ้น ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ในบัญชีโซเชียลมีเดียซึ่งเป็นที่เก็บข้อมูลส่วนบุคคล
นอกจากนี้ แอปอย่าง Happn, Her, Bumble และ Tinder บังคับให้ผู้ใช้ต้องแชร์ตำแหน่งของตน แอปบางตัว เช่น Mamba แชร์ระยะห่างของผู้ใช้ไปยังมิเตอร์ที่ใกล้ที่สุด แอป Happn มีฟังก์ชันเพิ่มเติมที่ช่วยให้ผู้ใช้เห็นว่าคู่ที่ถูกจับให้นั้นเคยเจอกันกี่ครั้งและเจอกันที่ใดบ้าง
การเข้าถึงข้อมูล เช่น ตำแหน่งของผู้ใช้ สถานที่ทำงาน ชื่อ ข้อมูลติดต่อ ฯลฯ ทำให้ผู้ใช้เสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางอินเทอร์เน็ตหรือกระทั่งการสะกดรอยตาม รวมถึงปล่อยข้อมูลเพื่อกลั่นแกล้งในชีวิตจริงหรือ doxing (การที่ข้อมูลส่วนตัวถูกเปิดเผยต่อสาธารณะเพื่อสร้างความอับอายหรือเป็นอันตรายต่อเหยื่อ) ยิ่งไปกว่านั้น Mamba เป็นแอปพลิเคชั่นเดียวที่อนุญาตให้ผู้ใช้เบลอรูปภาพได้ฟรี และ Pure เป็นแอปเดียวที่ห้ามไม่ให้ผู้ใช้บันทึกภาพหน้าจอของแชท ซึ่งป้องกันไม่ให้ผู้ใช้แชร์แชทและรูปภาพโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งอาจใช้เพื่อจุดประสงค์ในการแบล็กเมล์หรือ doxing ก็ได้
อย่างไรก็ตาม แอปจำนวนมากได้เพิ่มเวอร์ชันที่ต้องชำระเงินเพื่อตัวเลือกเพิ่มเติม ซึ่งมักจะเป็นตัวเลือกที่สามารถเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ใช้ ตัวอย่างเช่น ในเวอร์ชันชำระเงินของ Tindr และ Bumble ผู้ใช้สามารถเลือกตำแหน่งที่อยู่ของตัวเองไปที่ภูมิภาคที่ต้องการได้ การระบุตำแหน่งที่แน่นอนของผู้ใช้จึงยากกว่ามาก และแอปแบบชำระเงินบางเวอร์ชัน เช่น Happn มี “โหมดไม่ระบุตัวตน” แก่ผู้ใช้ โดยผู้ใช้สามารถซ่อนโปรไฟล์ของตัวเองจากผู้ที่ไม่ได้เลื่อนดู (swipe) และคนแปลกหน้าได้
นางสาวแทตยาน่า ชิชโคว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัย บริษัทแคสเปอร์สกี้ กล่าวว่า “การหาจุดสมดุลระหว่างการสร้างตัวตนทางดิจิทัลและการรักษาความเป็นส่วนตัวทางออนไลน์เป็นความท้าทายมาตลอด การเปลี่ยนไปหาคู่ทางออนไลน์ได้สร้างพื้นที่อื่นที่ผู้ใช้ต้องกำหนดวิธีที่ดีที่สุดในการเชื่อมต่อระหว่างกัน พร้อมๆ กับการปกป้องความปลอดภัยของตัวเอง โชคดีที่สิ่งที่เราเห็นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาคือแอปหาคู่กำลังดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้อง ทำให้ผู้ใช้เชื่อมต่อได้อย่างปลอดภัยยิ่งขึ้น ผู้พัฒนาแอปกำลังดำเนินการรักษาข้อมูลให้ปลอดภัย และในเวอร์ชันที่ต้องชำระเงินของแอปจำนวนมาก
ผู้ใช้สามารถทำสิ่งต่างๆ เพิ่มได้ เช่น ระบุตำแหน่งด้วยตนเองหรือเบลอรูปภาพ เราหวังว่าในอนาคต ตัวเลือกเหล่านี้จะพร้อมใช้งานในทุกแอปเวอร์ชันฟรี สิ่งที่ดีที่สุดที่ผู้ใช้สามารถทำได้เพื่อความปลอดภัย คือระมัดระวังเรื่องข้อมูลที่กำลังแชร์ออกไป ทั้งในโปรไฟล์การออกเดทและในการสนทนา”
เมื่อพูดถึงอนาคตของแอปหาคู่ แคสเปอร์สกี้คาดการณ์และมุ่งหวังเรื่องความปลอดภัยโดยเฉพาะ เช่น การใช้ AI เพื่อปกป้องผู้ใช้จากการฉ้อโกง และการสร้างบัญชีที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว ผู้สนใจสามารถอ่านการคาดการณ์เรื่องอนาคตของการออกเดทและความรัก รวมทั้งส่งความเห็นของคุณเองได้ที่โครงการ Earth 2050
รายงานเพิ่มเติมเกี่ยวกับความปลอดภัยของแอปหาคู่ใน Securelist ผู้เชี่ยวชาญของแคสเปอร์สกี้ขอแนะนำสิ่งต่อไปนี้เพื่อความปลอดภัยเมื่อใช้แอปหาคู่
- อย่าเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลมากเกินไป (นามสกุล นายจ้าง ภาพถ่ายกับเพื่อน มุมมองทางการเมือง ฯลฯ) ในโปรไฟล์ของคุณ
- อย่าผูกบัญชีโซเชียลมีเดียอื่นๆ กับโปรไฟล์ของคุณ
- ถ้าเป็นไปได้ ให้เลือกตำแหน่งของคุณด้วยตนเอง
- ถ้าเป็นไปได้ ใช้การตรวจสอบสิทธิ์แบบสองปัจจัย (two-factor authentication)
- ลบหรือซ่อนโปรไฟล์หากคุณไม่ได้ใช้แอปอีกต่อไป
- ใช้ Messenger ในตัวในแอปหาคู่ดีกว่าที่จะย้ายไปหา Messenger อื่น เว้นแต่จะไว้ใจคู่ของคุณ หากคุณตัดสินใจทำเช่นนั้น ให้ตั้งค่าการแชทเพื่อให้ข้อมูลส่วนตัวของคุณปลอดภัย
- ใช้โซลูชันการรักษาความปลอดภัยที่เชื่อถือได้บนอุปกรณ์ของคุณ เช่น Kaspersky Security Cloud ซึ่งจะช่วยให้คุณตรวจจับกิจกรรมที่เป็นอันตรายหรือน่าสงสัยในอุปกรณ์ของคุณ รวมทั้งตรวจสอบความปลอดภัยของ URL ที่กำลังเข้าใช้งาน