ภาพของ Katie Jones พยายามสะท้อนว่าเธอเป็นผู้หญิงผมสีน้ำตาลแดง เข้ากับตาสีน้ำตาลเข้มและริมฝีปากสีชมพูดูดี แต่จากการสืบสวนพบว่าเธอไม่มีตัวตนบนโลกใบนี้ แถมยังเป็นตัวอย่างที่เตือนให้โลกตื่นตัวกับภัย “deepfake” ซึ่งนักต้มตุ๋นหยิบ AI มาเป็นเครื่องมือเพื่อล่าเหยื่อบนเครือข่ายสังคมมืออาชีพอย่าง LinkedIn จนทำให้ LinkedIn ถูกมองเป็นเขตแดนใหม่สำหรับเหล่าสายลับยุคดิจิทัล
จุดเด่นของ Katie Jones ที่โลกควรรู้คือการเป็นโปรไฟล์ที่สร้างจากระบบ AI แบบเบ็ดเสร็จ ไล่ตั้งแต่ภาพที่หยิบรูปดิจิทัลหลากหลายที่มาผสมกันจนได้ภาพนางฟ้าจำแลงขึ้นมา ยังมีตำแหน่งหน้าที่การงานที่จะช่วยให้การล่อเหยื่อทำได้ง่ายขึ้น รวมถึงอีกหลายข้อมูลที่นักต้มตุ๋นพยายามตบตาเหยื่อให้ได้แนบเนียนที่สุด
สิ่งที่ “Katie Jones” ทำ คือการใช้ LinkedIn เชื่อมต่อกับผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายและสถิติของรัฐบาลในวอชิงตัน รวมถึงผู้ช่วยวุฒิสมาชิก รองผู้ช่วยเลขานุการของรัฐ ทั้งหมดนี้ทำได้เพราะ Jones ขอการเชื่อมต่อและทั้งหมดก็ยอมรับเพราะความเป็น LinkedIn
พิมพ์นิยมสาวผิวขาว
บางคนอาจใช้ LinkedIn เพื่อแสดงความยินดีกับเพื่อนในวันครบรอบการทำงาน แต่เหล่าสายลับวันนี้กำลังใช้ LinkedIn เพื่อค้นหาข้อมูลได้อย่างมีศักยภาพ การสอบสวนพบว่าเหล่าสายลับอาจใช้โปรไฟล์ที่สร้างโดย AI เพื่อช่วยให้การสอดแนมทำได้แนบเนียน ซึ่งกรณีของ Katie Jones พบว่า AI สามารถสร้างภาพที่ค่อนข้างตรงตามมาตรฐานสำหรับ LinkedIn และยังเป็นไปตามค่านิยมส่วนใหญ่ที่มองว่าผู้หญิงผิวขาวดูน่าเชื่อถือ
รายงานจากสำนักข่าว FastCompany ขนานนามว่ารูปโปรไฟล์ปลอมของ Katie Jones งดงามเหมือน “LinkedIn Mona Lisa” หรือภาพโมนาลิซ่าเวอร์ชัน LinkedIn เพราะความลงตัวทุกอย่างที่ผสมผสานกันจนดูดีและน่าสนใจ อย่างไรก็ตาม AP มีหลักฐานมากมายว่าภาพ Katie Jones นี้เป็นภาพที่ AI สร้างขึ้นมาจากเทคนิคการเรียนรู้ด้วยเครื่อง แม้จะมีร่องรอยที่บอบบาง แต่ก็ชัดเจนว่า Katie Jones มีใบหน้าที่ไม่สมมาตรเล็กน้อย มีต่างหูที่ดูเหมือนว่าจะละลายไปกับพื้นหลัง ยังมีเส้นแบ่งที่ไม่ชัดเจนระหว่างผม หู และดวงตา ซึ่งไม่มีทางเกิดขึ้นได้ไม่ว่าเธอจะร้องไห้ในห้องน้ำที่ทำงานมาก่อนก็ตาม
ความน่าสนใจของ Katie Jones คือการบอกได้ชัดเจนว่าทำไมทุกคนถึงต้องกังวลกับการใช้เทคนิคการเรียนรู้ด้วยเครื่องจักรเพื่อสร้างรูปโปรไฟล์ที่ส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้หญิงผิวขาว นั่นคือเพราะการล่อลวงนี้ใช้งานดีและได้ผลมาก จากข้อมูลของ AP ชี้ว่า Katie Jones ใช้ LinkedIn เพื่อเชื่อมต่อกับผู้เชี่ยวชาญคนสำคัญของรัฐบาลและอีกหลายส่วนในระบบเศรษฐกิจสำคัญได้สำเร็จ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะชาว LinkedIn หลายคนที่เปิดกว้าง ยอมรับทุกคำขอเป็นเพื่อนที่ได้รับมาแบบไม่ได้ไตร่ตรองเป็นพิเศษ
ทำไมต้อง LinkedIn?
William Evanina ผู้อำนวยการศูนย์ข่าวกรองและความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ให้อธิบายกับ AP ว่าแทนที่จะส่งสายลับไปยังโรงจอดรถเพื่อสอดแนมเป้าหมาย ทางเลือกที่มีประสิทธิภาพมากกว่าคือการนั่งอยู่หลังคอมพิวเตอร์ในเซี่ยงไฮ้ และส่งคำขอเป็นเพื่อนออกไปถึงเหยื่อ การส่งคำขอนี้สามารถทำแบบหว่านแหเป็นหมื่น เป้าหมายในรอบเดียว
ชื่อของ Katie Jones จึงเป็นเพียง 1 ในหลายตัวอย่างของการเตือนชาว LinkedIn ว่าอย่ายอมรับคำขอเป็นเพื่อน แล้วติดต่อกับสาวผมบลอนด์ดูสวยง่ายดายนัก แม้ว่าหลายคนจะเถียงว่าไม่มีอะไรให้สอดแนม แต่อย่างน้อยก็สามารถเลี่ยงไม่ให้เกิดกรณีเผลอคลิก “แสดงความยินดีกับโปรไฟล์ที่เกิดจาก AI” ในวันครบรอบการทำงานแบบไม่ระแคะระคายใจ.
Last month I my attention was drawn to something suspicious: A fake LinkedIn profile connecting to Washington think tank types and senior US officials.
Even weirder: Her face itself appeared to be fake. https://t.co/yvZbK8RoQt pic.twitter.com/CY85RRznk8
— Raphael Satter (@razhael) June 13, 2019
ที่มา: : Fastcompany