Site icon Thumbsup

Kbank จับมือ Facebook หวังเพิ่มยอดใช้จ่ายผ่านระบบ K Plus

หลังจากเปิดบริการเกี่ยวกับอีคอมเมิร์ซใน Facebook มาตั้งแต่ช่วงตุลาคมปีที่แล้ว แม้จะยังไม่ครบปีแต่การตอบรับจากผู้ใช้งานก็เป็นไปได้ดี และความร่วมมือกับทาง Kbank ถือว่าเป็นครั้งแรกในการเป็น Payment Gateway ให้แก่ผู้ใช้งานได้สะดวกข้ึน

การเดินหน้าของกสิกรไทยนั้น ถือว่าเป็นความพยายามในการเจาะตลาด SME ที่มีอยู่กว่า 2 ล้านรายที่มีการจดทะเบียนบริษัท ยังไม่นับรวมการซื้อขายแบบโซเชียลคอมเมิร์ซที่มีเม็ดเงินหมุนเวียนรวมในระบบกว่าแสนล้านบาท แต่ยังไม่มีใครสามารถนับจำนวนร้านค้าได้เพราะธุรกิจเหล่านี้ไม่ได้ขายผ่านระบบเป็นงานประจำ

คาดหวังลูกค้าเพิ่ม

พัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า รายงานผลการสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย ปี 2560 ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ระบุว่า การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของโซเชียล คอมเมิร์ซ ที่มีมูลค่ากว่า 137,000 ล้านบาท ซึ่งมีการใช้บริการ K Plus กว่าครึ่งหนึ่ง ซึ่งธนาคารก็หวังว่าการร่วมมือครั้งนี้จะช่วยให้ลูกค้าใช้งานผ่านระบบของ Kbank มากขึ้น รวมทั้งตั้งเป้าหมายมีมูลค่าธุรกรรมผ่านบริการ Pay with K PLUS รวมกว่า 30,000 ล้านบาท ภายใน 1 ปี

“ปัจจุบัน ธนาคารมีลูกค้าที่เป็นกลุ่มผู้ซื้อและใช้แอป K PLUS รวมกว่า 8.4 ล้านราย มีจำนวนธุรกรรมการโอนเงินเพิ่มขึ้นสูงถึง 88% ภายหลังประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียม รวมถึงจำนวนร้านค้าที่ใช้แอป K PLUS SHOP อีก  1.4 ล้านร้านค้าซึ่งมีมูลค่าธุรกรรมการรับชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ด (QR Code) รวมกว่า 4,000 ล้านบาท ถือเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการขยายช่องทางการขายบนเฟซบุ๊ก จากฐานลูกค้าและนวัตกรรมการให้บริการชำระเงินล่าสุดนี้จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับบริการชำระเงิน Pay with K PLUS

ครบและจบในแอปเดียว

ธนาคารเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมชำระเงินดิจิทัลเพย์เม้นต์ (Digital Payment) ให้การชำระเงินง่าย สะดวก รวดเร็ว อีกทั้งการหนุนบริการ K-plus ยังช่วยเสริมศักยภาพการแข่งขันในธุรกิจซื้อขายออนไลน์ให้กับลูกค้ารายย่อยและเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจขนาดเล็กที่นิยมใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียเป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารตั้งแต่การแนะนำสินค้าไปจนถึงการชำระเงิน

โดยธนาคารถือว่าเป็นธนาคารแรกในประเทศไทย ที่เปิดบริการชำระเงิน Pay with K PLUS บนแพลทฟอร์ม Facebook Messenger เพื่อสร้างประสบการณ์ชำระเงินแบบไร้รอยต่อให้กับนักช้อปออนไลน์ และผู้ซื้อ สามารถจ่ายเงินได้ง่าย สะดวก และปลอดภัย เพียงกดปุ่ม Pay with K PLUS ไม่ต้องสลับหน้าจอเพื่อเปิดแอปในการชำระเงินไปมา ทำให้การชำระค่าสินค้าทำได้อย่างรวดเร็ว

ในช่วงการเปิดตัวบริการชำระเงิน Pay with K PLUS ธนาคารจัดโปรโมชันสำหรับลูกค้าที่ชำระเงินผ่าน Pay with K  PLUS เป็นครั้งแรก และมีมูลค่าครบ 300 บาท/รายการ รับเงินคืน 100 บาท ตั้งแต่วันนี้ – 25 กันยายน 2561 สำหรับร้านค้าที่ผูกบัญชีธนาคารกสิกรไทยเพื่อรับชำระเงินผ่านบริการ Pay with K PLUS สามารถรับโบนัสสูงสุด 5,000 บาท เมื่อมีจำนวนรายการรับชำระสำเร็จตามที่กำหนด ตั้งแต่วันนี้-31 กรกฎาคม 2561

มีแผนปล่อยสินเชื่อ

นอกจากนี้ ธนาคารกสิกรไทย ได้นำเสนอสินเชื่อ SME ให้กับลูกค้าผ่านแอปฯ K PLUS เมื่อลูกค้าได้รับการแจ้งเตือนบนเมนู Life PLUS ลูกค้าสามารถกดเข้าไปเลือกวงเงินที่ต้องการกู้ ระบบจะแสดงวงเงินกู้สูงสุดที่ลูกค้าสามารถกู้ได้ เมื่อผ่านการพิจารณาและลูกค้ากดรับสินเชื่อ เงินกู้จะเข้าบัญชีทันที

“ต้องยอมรับว่าไม่ว่าเราพยายามส่งสารให้ลูกค้าว่ามีระบบสินเชื่อมากแค่ไหน ก็มีน้อยมากที่ลูกค้าจะเข้าไปอ่านข้อความแจ้งเตือน ทำให้เราต้องพยายามสื่อสารกับลูกค้าให้มากขึ้น ซึ่งถ้าเราเห็น Transaction ของร้านค้าใน Facebook ก็น่าจะปล่อยสินเชื่อง่ายขึ้น”

คาดว่าจะมีลูกค้า SME เริ่มที่ 500 รายก่อน และคิดดอกเบี้ยประมาณ 10% ของวงเงิน ซึ่งไม่ต้องมีหลักประกัน เพราะธนาคารดูที่ transaction ในการซื้อขายเป็นหลักและไม่มีจำกัดเงินกู้ขั้นต่ำ

การร่วมมือกับทาง Facebook วันนี้ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่เป็นครั้งแรกที่โซเชียลมีเดียเจ้าดังเปิดรับความร่วมมือกับภาคธนาคาร ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อระบบหลังบ้านในการซื้อขาย เพื่อให้ลูกค้าหันมาใช้งานแบงค์มากขึ้น ก่อนหน้านี้ก็มีการคุยกันหลายครั้งว่าจะร่วมมือกันอย่างไร และก็มาสรุปที่การเป็น Gateway ในการจ่ายเงินรูปแบบนี้

หวังเข้าถึง SME

SME ในประเทศไทย จำนวนมากที่ทำธุรกิจในรูปแบบ Conversational Commerce เน้นการพูดคุยและสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าผ่าน Facebook และ Messenger ประเทศไทยเองเป็นประเทศที่มีคนส่งข้อความถึงธุรกิจต่างๆ ผ่านทางเมสเสนเจอร์เยอะที่สุดในเอเชียแปซิฟิค และเป็น 1ใน 5 อันดับสูงสุดของโลก

นางสาวณัฐภาศ์ พฤฒิสราญพงศ์ Product Marketing Manager, APAC Business Platform and Messaging ของเฟซบุ๊ก กล่าวว่า Facebook มีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนให้ธุรกิจ SME ให้ประสบความสำเร็จในการขายออนไลน์ สามารถขยายธุรกิจให้เติบโตและเข้าถึงลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น