ในยุคที่ธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้นเพราะความก้าวหน้าในการพัฒนาแผนธุรกิจ, การจัดการ, การลงทุน รวมถึงความร่วมมือที่มีความซับซ้อนมากขึ้นระหว่างบริษัทและนักลงทุนต่างๆ คนธรรมดาๆ ทั่วไปที่ไม่มีเม็ดเงินมากมายแต่มีแนวคิดที่ดีก็สามารถที่จะเริ่มธุรกิจของตัวเองได้โดยไม่ต้องเสี่ยงกับความล้มเหลวมากเหมือนสมัยก่อนอีกต่อไป
thumbsup.in.th ในฐานะที่เป็นสื่อที่บุกเบิกและชัดเจนในการสนับสนุนธุรกิจใหม่ๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่เรียกว่า startup ก็อยากจะช่วยผลักดันให้คนที่มีความคิดดีๆ สามารถที่จะผันความคิดให้กลายเป็นธุรกิจที่มีความสามารถในการแข่งขันให้ได้ วันนี้เราลองมาดูอีกรูปแบบของการหาเงินทุนกันครับ แนวคิดนี้เรียกว่า Crowd Funding หรือ Social Funding และตัวอย่างที่น่าทำความรู้จักก็คือแพลทฟอร์มการระดมเงินทุนที่เรียกว่า Kickstarter
Crowd Funding หรือ Social Funding มีลักษณะที่ค่อนข้างตรงตามชื่อ นั่นก็คือการระดมเงินทุนจากคนหมู่มากหรือจากสังคมของคนที่สนใจจะลงทุนในไอเดียใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนให้ไอเดียดีๆ ได้กลายมาเป็นธุรกิจจริงๆ ซึ่ง Crowd Funding แตกต่างจากการหาเงินทุนแบบ Peer-to-peer Microlending ซึ่งเป็นการระดมเงินทุนแบบคนต่อคน นั่นคือผู้ที่สนใจจะลงทุนจะให้ยืมเงินโดยตรงต่อเจ้าของไอเดีย เช่น แพลทฟอร์มที่เรียกว่า Kiva ซึ่งในกรณีของ P2P Microlending นั้นจะมีการตกลงในเรื่องของการคืนเงินและผลประโยชน์ตอบแทน แต่กรณีของ Crowd Funding นั้นเป็นลักษณะของการให้เงินโดยที่ผู้รับเงินหรือเจ้าของไอเดียไม่ต้องคืนเงินลงทุนนี้และไม่ต้องให้ผลประโยชน์ตอบแทนใดๆ ต่อเจ้าของเงินลงทุนทั้งหลาย
กระบวนการของ Crowd Funding นั้นไม่ซับซ้อน เพียงแค่คุณมีไอเดียที่ดีก็สามารถเข้ามาสมัครใช้บริการของเว็บต่างๆ ที่เป็นศูนย์กลาง Crowd Funding ได้ ตัวอย่างเว็บดังๆ ก็ได้แก่ Kickstarter, Pledge Music, Spot.Us Invested.in ซึ่งแต่ละเว็บก็จะเน้นไปยังอุตสาหกรรมที่แตกต่างกันและมีจุดประสงค์ในการสนับสนุนไอเดียใหม่ๆ ?ที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งเมื่อทำการสมัครบริการแล้ว คุณก็สามารถกรอกรายละเอียดของโครงการที่ต้องการจะทำ เช่น เป้าหมายของโครงการ และขอบเขตความร่วมมือที่ผู้สนใจสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้
การลงทุนนั้นส่วนใหญ่จะเกิดจากการที่ผู้ที่สนใจเกิดความชอบในแนวคิดและต้องการให้เกิดทางเลือกในตลาดหรือเกิดบริการใหม่ๆ เพื่อมาตอบสนองความต้องการที่ยังไม่มีผู้ให้บริการใดทำได้ ซึ่งเงินลงทุนอาจจะมีตั้งแต่หลักไม่กี่ร้อยบาทต่อคนไปจนถึงหลักแสนบาทเลยทีเดียว และยิ่งไอเดียของคุณน่าสนใจแค่ไหน แนวโน้นที่คนจะเข้ามาร่วมลงทุนก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น
รูปแบบของ Crowd Funding น่าสนใจตรงที่การเสนอความคิดเพื่อขอเงินก็ถือเป็นการทดสอบตลาดในรูปแบบหนึ่ง หากโครงการได้รับการตอบรับที่ดี แสดงว่ามันน่าจะมีแนวโน้มที่สามารถจะเกิดเป็นธุรกิจที่มีคนในใจได้ และในทางตรงกันข้าม หากไอเดียไม่สามารถระดมเงินทุนได้ เจ้าของโครงการก็จะได้รู้ตัวและนำไอเดียไปพัฒนาต่อซึ่งถือเป็นการลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจจริงไปได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนั้นเงินที่ได้มาหากไม่สามารถสร้างธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้ ผู้ระดมเงินทุนก็ไม่จำเป็นต้องแบกรับภาระในการคืนเงินให้กับเจ้าของเงิน ซึ่งถือเป็นการลดความเสี่ยงให้กับธุรกิจใหม่ๆ ได้อย่างดี
แต่… Crowd Funding ก็ใช่ว่าจะช่วยให้ทุกโครงการประสบความสำเร็จเสมอไป เราลองมาดูกันดีกว่าว่าในกรณีของ Kickstarter ซึ่งเป็นแพลทฟอร์มชื่อดังของการระดมเงินทุนแบบ Crowd Funding มีสถิติการระดมเงินทุนเป็นอย่างไรบ้าง
จาก Infographic นี้จะเห็นว่าบน Kickstarter มีคนเข้ามาเสนอไอเดียเพื่อระดมเงินทุนกว่า 45,000 โครงการแล้วและเม็ดเงินที่ขอรวมกันทั้งหมดมียอดกว่า 215 ล้านเหรียญ และมีผู้เข้ามาร่วมลงทุนเกือบ 3 ล้านคน ซึ่งโครงการทั่วไปที่ประสบความสำเร็จนั้นขอเงินทุนอยู่ที่ราว 5,500 เหรียญ หรือ 165,000 บาท ซึ่งถือเป็นเม็ดเงินที่ไม่สูงนัก แต่สถิติยังระบุอีกว่า 8.5% ของโครงการทั้งหมดที่ได้เงินสนับสนุนจะได้รับเงินลงทุนมากกว่า 2 เท่าของที่ขอไป
อย่างไรก็ดี จากโครงการทั้งหมดนั้นมีโครงการที่ไม่ประสบความสำเร็จถึง 41% หรือเกือบ 19,000 โครงการ ดังนั้นสำหรับผู้ที่สนใจจะระดมเงินทุนในรูปแบบดังกล่าวควรพิจารณาไอเดียให้เหมาะสม ศึกษารูปแบบของโครงการที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลวเพื่อนำมาปรับใช้ นอกจากนั้นควรระบุรายละเอียดให้ชัดเจนเพื่อให้ผู้ที่สนใจเข้าใจในรูปแบบของโครงการ
thumbsup ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่มีไอเดียดีๆ ได้ผันไอเดียเหล่านี้ให้กลายเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนให้ได้นะครับ
ที่มา:?Open Forum,?Kickstarter,?Mashable