Site icon Thumbsup

เข้าใจระบบ Membership ของ Youtube ที่ไม่ใช่แค่การเซอร์วิส แต่เป็นการดึงความมีส่วนร่วมกับผู้ชม

คนทำแชนแนลบน YouTube อาจจะต้องการที่จะเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงฐานแฟนหรือสร้างรายได้เพื่อการพัฒนาหรือสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่ดีขึ้น ระบบสมาชิก (Memberships) ถือว่าเป็นอีกหนึ่งช่องทางการสร้างรายได้ใหม่ๆ ผ่านคอมมูนิตี้ ทั้งยังเป็นการสร้างคอนเนคชั่นที่แน่นแฟ้นด้วย แต่สิ่งที่ต้องรู้ก่อนตัดสินใจเปิดระบบนี้ คุณในฐานะคนสร้างคอนเทนต์อาจจะต้องเหนื่อยกว่าเดิม ใช้เวลาและการลงทุนเพิ่ม ต้องเสียพลังงานในการคิดคอนเทนต์ให้โดนใจผู้ชมมากขึ้น แต่ทางทีม YouTube ที่พัฒนาฟีเจอร์นี้ออกมาก็บอกว่าคุ้มค่ากับการลงทุนแน่นอน

ขั้นตอนการสมัครสมาชิก

การสมัครสมาชิกของผู้ชมนั้น ครีเอเตอร์จำเป็นต้องมีการอธิบายขั้นตอนการใช้งาน สิทธิประโยชน์ที่ผู้ชมจะได้รับ และขั้นตอนการจ่ายเงินให้ครบถ้วน สำหรับในประเทศไทยช่องทางการจ่ายเงินจะมีให้เลือก 3 แบบ คือ บัตรเครดิต-บัตรเดบิต, Paypal, ทรูมันนี่วอลเลต เมื่อผู้ชมสนใจท่ีจะสมัครเข้าไปรับชมคอนเทนต์สำหรับสมาชิกแล้วคุณก็ต้องรักษาคุณภาพการทำคอนเทนต์ให้ดีต่อเนื่อง

สำหรับเงื่อนไขของครีเอเตอร์ที่จะสร้างระบบสมาชิกได้นั้นคือจะต้องมีจำนวนผู้ติดตามไม่น้อยกว่า 30,000 คน อยู่ภายใต้ระบบ YPP หรือ YouTube Partner Program และสุดท้ายคือมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป เมื่อคุณเปิดระบบสมาชิกก็จะมีลิ้งสำหรับใส่เพิ่มในคอนเทนต์เพื่อให้ผู้ชมกด Join กับคุณได้เลย

อย่างไรก็ตาม ก่อนตัดสินใจจะทำระบบสมาชิกนั้น ครีเอเตอร์จะต้องศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับฐานผู้ชมของคุณให้ดีก่อน วิเคราะห์ฐานผู้ชม ช่วงเวลาการรับชม จำนวนคลิปที่เขากดชอบหรือไม่ชอบ พื้นที่ที่เปิดรับชม การกลับมารับชมซ้ำ หากมีฐานผู้ชมกลุ่มเดิมกลับมาดูซ้ำมากกว่า 40-50% ขึ้นก็มีโอกาสสูงที่คนกลุ่มนี้จะสนใจและกดสมัครระบบสมาชิกในช่องของคุณ ซึ่งคนที่เปิดระบบสมาชิกได้นั้น อาจจะไม่ต้องเป็นช่องใหญ่มีฐานผู้ติดตามเยอะมากก็ได้ แค่คุณมั่นใจว่าฐานผู้ชมของคุณเหนียวแน่นและกลับมาดูซ้ำบ่อยๆ ก็มีโอกาสที่พวกเขาพร้อมจะจ่าย

แต่ในขณะเดียวกัน ครีเอเตอร์ก็ต้องย้ำเรื่องการสมัครสมาชิกให้บ่อยด้วย เพื่อเป็นโอกาสโปรโมทและประชาสัมพันธ์ เช่น การพูดในท้ายคลิปหรือก่อนเปิดคลิป หรือนำคลิปไฮไลต์ที่คนนิยมกลับมาชมซ้ำเอามายำรวมกันสัก 30 วิและใส่ข้อมูลการสมัครสมาชิก ใส่ไว้ในหน้าแรกของลิสท์วีดีโอ หรือใส่ใน description ทุกคลิป เพื่อให้ผู้ชมที่สนใจได้ศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจ แม้ว่าต้องทำให้ผู้ชมเห็นบ่อยๆ แต่ก็ต้องระวังไม่ให้รบกวนการรับชมคอนเทนต์แบบเดิมมากเกินไป

วางแผนก่อนเปิดระบบสมาชิกจะได้ไม่สติแตก

หลังจากที่ครีเอเตอร์วางแผนและเตรียมทีมเรียบร้อยสำหรับการทำคอนเทนต์เพื่อระบบสมาชิกแล้ว ก็ควรเริ่มทำตารางแผนงานให้ชัดเจนและต้องทราบข้อมูลก่อนทำคลิปแต่ละครั้งว่าผู้ชมต้องการที่จะรับชมสิ่งใด เพราะการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในระบบสมาชิก ผู้ชมย่อมต้องการทราบว่าคอนเทนต์ที่เขาจะได้รับหลังจากจ่ายเงินนั้นคืออะไร ความถี่ในการอัปเดตคลิปและเนื้อหาที่จะนำเสนอก็ควรมีระดับความน่าสนใจที่แตกต่างกัน

ยกตัวอย่างเช่น กลุ่ม Fan Driven จะเป็นกลุ่มแฟนที่ต้องการความใกล้ชิดอาจจะไม่ได้อยากได้ความพิเศษแค่อยากเป็นส่วนหนึ่งกับครีเอเตอร์ อาจจะไม่ต้องถึงขั้นให้ของขวัญขอบคุณ แต่พวกเขาควรได้รับการตอบแทน เช่น กล่าวขอบคุณพวกเขาในคลิปหรือตอบข้อสงสัยในเรื่องที่พวกเขาอยากรู้ ทำให้พวกเขารู้สึกใกล้ชิดกับครีเอเตอร์อีกหนึ่งระดับ อย่างที่เห็นกันบ่อยก็เช่นการทำ Q-A สิ่งที่คุณอยากรู้เกี่ยวกับครีเอเตอร์และมีการตอบกันสดๆ และเอ่ยชื่อคนถามออกมาหรือเปิดไมค์แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ก็เพิ่มความสนุกสนานและใกล้ชิดได้เช่นกัน หรือทำคลิป Behind the Scene น่ารักๆ หรือนำเสนอในแง่มุมที่ไม่เคยมีใครเห็นมาก่อนเป็นการขอบคุณที่ติดตาม

นอกจากนี้ การทำโพลคุยสอบถามคนดูบ้างว่าพวกเขาต้องการคอนเทนต์แบบไหน หรืออยากให้มีกิจกรรมอะไร หรือจะแจกของรางวัลสุดพิเศษก็ได้ ด้วยระบบสมาชิกเปิดให้มีระดับความพิเศษถึง 5 ระดับ ราคาก็จะแตกต่างกันไป หากมีการจัดระดับเมมเบอร์เป็นขั้นบันไดแบบนี้ ก็จำเป็นต้องวางแผนด้วยว่าแต่ละระดับจะได้สิทธิประโยชน์อะไร ซึ่งแน่นอนคนที่จ่ายค่าสมาชิกสูงก็ควรจะได้รับสิทธิประโยชน์มากกว่า

ทั้งนี้ ครีเอเตอร์ต้องวางแผนให้ดีก่อนจะทำระดับเมมเบอร์ให้แตกต่างกัน เพราะการเปลี่ยนแปลงราคาใหม่ทุกครั้งคือการล้างคนในระดับราคาเดิมออกทั้งหมด จึงต้องคิดให้ดีออกแพคเกจใดๆ หากอยากแบ่งเป็นระดับก็ควรเริ่มไม่เกิน 3 ระดับก่อน และควรคิดถึงพลังของตัวเองก่อนว่าจะสร้างสรรค์ชิ้นงานไหวแค่ไหนเพราะการทำระดับขั้นก็คืองานหนักขึ้นแน่นอน

เทคนิคการคิดราคา

  1. ต้นทุนสำหรับตนเอง
  2. คุณค่าสำหรับคนดู

สองสิ่งนี้ คือแกนหลักในการคิดราคาแพคเกจของระบบสมาชิก หากให้ขยายความก็คือ ในการสร้างสรรค์ชิ้นงานแต่ละครั้งต้นทุนผลิตงานของเราควรจะอยู่ในแกนต่ำแต่ผลลัพท์ด้านคุณค่าของคนดูต้องสูง นั้นหมายความว่าคุณต้องตั้งใจในการสร้างสรรค์งานทุกครั้ง เพียงแต่ใช้งบประมาณในการผลิตต้องไม่สูงจนกลายเป็นภาระของครีเอเตอร์เกินไป

ดังนั้น ครีเอเตอร์ควรทำตารางแบบด้านล่างนี้ (จริงๆ ทำเป็นสองแกนก็พอนะคะ อันนี้เป็นตัวอย่างของตารางคอนเทนต์ของบิวตี้บล็อกเกอร์ ก็คือพอเขียนตารางชิ้นงานว่าจะทำอะไรแล้ว ก็ควรใส่รายละเอียด ขั้นตอนการทำงาน กระบวนการผลิตและคำนวณต้นทุนทั้งหมดว่าอะไรเพิ่มหรือลดได้บ้าง)

 

สุดท้ายแนวทางที่ต้องทำก่อนเปิดระบบสมาชิกก็คือ

เมื่อคิดแกนทุกอย่างเหล่านี้เรียบร้อยแล้วก็สามารถเข้าไปที่ระบบหลังบ้าน เมนู Monitization และเปิดระบบใช้งานได้เลย!!