สิ่งที่นักเล่นเหรียญกังวลกันมากในช่วงนี้ คงหนีไม่พ้นเรื่องของการที่สรรพากรออกประกาศเกี่ยวกับการเก็บภาษีกำไรจากการลงทุนในตลาดคริปโตเคอร์เรนซี่ใช่ไหมคะ ทั้งที่มูลค่าของเหรียญยังมีความสวิงให้ลุ้นทุกวัน แต่การออกมาประกาศชัดว่ามีรายได้ต้องยื่นภาษีนั้น ย่อมทำให้เริ่มกังวลกันแล้วว่าจะมีโทษหรือค่าปรับตามกฏหมายอย่างไรบ้าง วันนี้เรานำข้อมูลมาบอกต่อกันค่ะ
เนื้อหาของกฏหมายระบุชัด จ่าย 15%
สำหรับหลักกฏหมายที่สรรพากรนำมาใช้ในการเก็บภาษีคริปโตครั้งนี้ มีรายละเอียดคือ
พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 ซึ่งกำหนดให้ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนคริปโต เฉพาะในส่วนที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินลงทุน ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร
และกำหนดให้ ‘ผู้จ่ายเงินได้’ พึงประเมินดังกล่าว มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% ของเงินได้ตามมาตรา 50 (2) (ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นการเก็บภาษี Capital Gain จากการลงทุนในคริปโต
นอกจากนี้ ผู้ขายเหรียญคริปโตต้องนำประโยชน์ที่ได้จากการขายมาหักกับต้นทุน หากมีกำไรจะถือเป็นผลประโยชน์จากการโอน ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุนถือว่าเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ฌ) ที่ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
แต่หากขาดทุนก็ไม่ต้องเสียภาษี เพราะไม่ถือว่ามีเงินได้พึงประเมิน และเนื่องจากคริปโตเป็นเงินได้พึงประเมินประเภททรัพย์สิน จึงต้องตีราคาทรัพย์สินเป็นเงิน โดยถือราคาหรือค่าอันพึงมีในวันที่ได้รับคริปโตตามมาตรา 9 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ขายถูกผู้ซื้อหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว ยังต้องนำกำไรจากการโอนคริปโตไปยื่นแบบแสดงรายการ เพื่อเสียภาษีเงินได้ประจำปีตามแบบ ภ.ง.ด.90 เพราะภาษีหัก ณ ที่จ่ายดังกล่าว ไม่ถือเป็น Final Withholding Tax แต่ถือว่าผู้ขายได้เสียภาษีไว้ล่วงหน้า จึงสามารถนำภาษีที่ถูกหักไว้แล้วไปเป็นเครดิตภาษี คือนำไปหักภาษีที่ต้องเสียในปีภาษีนั้นได้ตามมาตรา 60 แห่งประมวลรัษฎากร
ส่วนผู้ซื้อถือเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมิน จึงมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% ของกำไรดังกล่าวด้วย ไม่ว่าจะจ่ายมากน้อยเพียงใดตามมาตรา 50 (2) (ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร และแม้ผู้ขายไม่ได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย ก็ต้องหักในอัตรา 15% เช่นกัน ตามมาตรา 50 (2) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร
นอกจากนี้ ผู้ซื้อยังมีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้แก่ผู้ขาย ตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร กับต้องนำส่งภาษีที่ได้หักไว้ภายใน 7 วันนับตั้งแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้ต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในท้องที่ที่ผู้ซื้อมีสำนักงานตั้งอยู่ตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 3 อัฎฐ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากรและประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย การนำส่งภาษีเงินได้ การนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม และการยื่นรายการ ลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2544
ทั้งนี้ Exchange เป็นเพียงตัวกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนคริปโตเท่านั้น ไม่ใช่ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินให้แก่ผู้ขาย Exchange จึงไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ออกหนังสือรับรองการหักภาษี และนำส่งภาษีแต่อย่างใด
ร้านค้าที่รับคริปโต ก็มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายจากผู้ซื้อส่งสรรพากร
หากมีการนำคริปโตไปชำระค่าสินค้าหรือบริการ โดยขณะชำระราคาคริปโตมีมูลค่ามากกว่าตอนที่ได้มา คริปโตซึ่งถือเป็นทรัพย์สินไปชำระค่าสินค้าและบริการในทางภาษีเงินได้จะถือเป็นการโอนคริปโต จึงต้องพิจารณามูลค่าของสินค้าหรือบริการที่ใช้คริปโตในการจ่าย เมื่อหักกับต้นทุนการได้มาพบว่าคริปโตมีมูลค่ามากกว่า จะถือว่ามีกำไรจากการโอนคริปโตและเป็นผลประโยชน์จากการโอน ซึ่งตีเป็น Capital Gain อันถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ฌ) ที่ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ตามมาตรา 50 (2) (ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องถือว่าผู้ขายสินค้าหรือให้บริการเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินดังกล่าวให้แก่ผู้ชำระค่าสินค้าหรือบริการ จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตรา 15% ด้วย ทั้งยังมีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้ตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร กับต้องนำส่งภาษีที่ได้หักไว้ภายใน 7 วันนับตั้งแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้ ต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา
โอนระหว่างพ่อ-แม่-บุตร ไม่เกิน 20 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี
หากมีผู้โอนคริปโตให้แก่ผู้รับไม่ต้องทำงานตอบแทน เช่น ได้รับจากการแจกเหรียญ (Airdop) ได้รับรางวัลจากการชิงโชคหรือการให้โดยเสน่หาจากคนรู้จัก ถือว่าผู้ได้รับคริปโตเป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) โดยผู้ได้รับต้องนำราคาของคริปโตไปยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้ประจำปีตามแบบ ภ.ง.ด.90
หากได้รับคริปโตในครึ่งปีแรกคือ เดือนมกราคม-มิถุนายน ต้องนำมายื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้ครึ่งปีตามแบบ ภ.ง.ด.94 เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาภายในวันที่ 30 กันยายน หรือ 8 ตุลาคม ของปีนั้น
แต่การได้รับคริปโตอาจได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในบางกรณี เช่น กรณีที่พ่อแม่ให้คริปโตกับลูก กรณีที่ลูกให้คริปโตกับพ่อแม่ หรือกรณีคู่สมรสฝ่ายหนึ่งให้คริปโตอีกฝ่าย โดยจำกัดเฉพาะมูลค่าของคริปโตที่ได้รับไม่เกิน 20 ล้านบาทตลอดปีภาษีนั้น
กรณีได้รับคริปโตมูลค่าตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไปเป็นรางวัลชิงโชค ผู้จ่ายรางวัลจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตรา 5% เมื่อผู้ได้รางวัลถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว จะต้องนำมูลค่าของคริปโตในวันที่ได้รับไปยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีตามแบบ ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.94 เพราะภาษีหัก ณ ที่จ่ายดังกล่าว ไม่ได้เป็น Final Withholding Tax แต่ถือว่าผู้ได้รางวัลได้เสียภาษีไว้ล่วงหน้า จึงสามารถนำภาษีที่ถูกหักไว้แล้วไปเป็นเครดิตภาษีได้ และหากผู้ได้รับคริปโตขายคริปโตที่ได้รับแล้วมีกำไร ก็ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% เช่นกัน
สำหรับผู้ได้รับคริปโตจากการทำงาน มีหน้าที่ต้องนำราคาของคริปโตไปยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้ประจำปีตามแบบ ภ.ง.ด.90 หากเป็นการได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (5)-(8) ในครึ่งปีแรกคือ เดือนมกราคม-มิถุนายน ก็ต้องนำมูลค่าของคริปโตมายื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีตามแบบ ภ.ง.ด.94 ด้วย
สายขุดก็ต้องนำไปยื่นแบบภาษี ภ.ง.ด.90
ส่วนการขุดเหรียญคริปโต (Mining) ถือเป็นผู้มีเงินได้จากการทำงานอิสระ เพราะไม่ได้เป็นลูกจ้างหรือผู้รับจ้างของใคร จึงถือว่ามูลค่าของคริปโตที่ได้รับจากการขุดเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) โดยผู้ได้รับต้องนำมูลค่าของคริปโต ณ วันที่ได้รับ ไปยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้ประจำปีตามแบบ ภ.ง.ด.90
หากได้รับคริปโตดังกล่าวในครึ่งปีแรก ต้องนำมายื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้ครึ่งปีตามแบบ ภ.ง.ด.94 ด้วย หากมีค่าใช้จ่ายใดๆ ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการขุด ก็สามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายได้ตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย กล่าวคือ
- เป็นค่าใช้จ่ายตามปกติ มีความเกี่ยวข้องและจำเป็นต่อการประกอบธุรกิจแต่ละประเภทหรือต่อเงินได้แต่ละชนิด
- เป็นจำนวนที่สมควรและเหมาะสมแก่กิจการ
- ไม่เป็นรายจ่ายที่กฎหมายห้ามมิให้หักเป็นรายจ่าย
- ผู้มีเงินได้ต้องมีหลักฐานการหักค่าใช้จ่ายพร้อมที่จะให้พนักงานตรวจสอบได้
ข้อพึงระวัง หากค่าใช้จ่ายใดมีลักษณะเป็นการลงทุน หมายถึงค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์ต่อกิจการการขุดเหรียญเป็นระยะเวลานานเกินกว่า 1 ปี เช่น คอมพิวเตอร์ การ์ดจอ หรือเครื่องขุด ฯลฯ ผู้ขุดจะไม่สามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายได้ภายในปีที่ซื้อทั้งจำนวน เพราะกฎหมายห้ามมิให้หักเป็นรายจ่าย แต่ต้องทยอยหักต้นทุนในรูปแบบค่าเสื่อมราคา ซึ่งทั่วไปมักหัก 20% ต่อปีภาษี แต่ค่าใช้จ่ายอื่นซึ่งไม่มีลักษณะเป็นการลงทุน เช่น ค่าไฟฟ้าหรือค่าอินเตอร์เน็ต ก็สามารถหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดได้ในปีที่จ่าย
ในกรณีที่ผู้ขุดหากขายคริปโตได้แล้วมีกำไร ก็จะถือว่ามีรายได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ฌ) ซึ่งต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ด้วยเช่นกัน
การลงทุนทุกอย่างมีความเสี่ยง แม้แต่การเล่นเหรียญของคนรุ่นใหม่เช่นกัน ดังนั้นก่อนลงทุนหรือตัดสินใจอะไร ศึกษาข้อมูลให้ละเอียดด้วยนะคะ
ที่มา : Standard