YouTube Shorts กลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางการสร้างคอนเทนต์สำหรับครีเอเตอร์สายวีดีโอที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อกันยายน 2020 จากนั้นก็ปล่อยให้มีการใช้งานในไทยเมื่อกค. 2021 วัตถุประสงค์ก็แน่นอนเพิ่งปรับตัวตามยุคสมัยของคนเสพคอนเทนต์วีดีโอที่ตั้งใจดูคลิปสั้นลง
ซึ่งหลังจากเปิดให้มีการใช้งาน Shorts แล้ว ก็ต้องยอมรับว่ายังมีครีเอเตอร์ระดับแถวหน้ามาใช้งานไม่เยอะมาก อาจเพราะยังไม่ได้วางแผนเข้ามาสู่ฟีเจอร์ใหม่นี้เต็มที่ทำให้เราเห็นแต่จะเป็นคนที่คุ้นเคยกับการถ่ายและตัดต่อด้วยมือถือ หรือมีทีมงานพร้อมสำหรับใช้ฟีเจอร์นี้
แต่เรากลับเห็นครีเอเตอร์หน้าใหม่ หรือครีเอเตอร์ที่เราคุ้นเคยใน TikTok เพิ่มโอกาสเข้าถึงผู้ชมด้วยการเข้ามาใช้งานใน Shorts มากขึ้น ทำให้ผู้ชมมีโอกาสเห็นคอนเทนต์ของพวกเขามากขึ้น เพราะใน TikTok เริ่มมีจำนวนของผู้สร้างคอนเทนต์ใหม่เยอะมาก และฟีดที่แสดงผลขึ้นมาก็อาจจะขึ้นมาจากการติดตามหรือความพึงพอใจของเรา
ในขณะที่ Shorts ยังอยู่ในช่วงเรียนรู้พฤติกรรมของผู้ใช้งานหรือเรียนรู้ความนิยมในการรับชมคอนเทนต์วีดีโอแบบสั้น ทำให้ผู้ชมมีโอกาสเห็นคอนเทนต์ที่หลากหลายกว่าแต่ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นเชิงละครหรือคอนเทนต์ที่สร้างสรรค์ด้วยครีเอเตอร์ที่อาจจะไม่ได้ชื่อดังมากนัก
วิสัยทัศน์และฟีเจอร์ที่น่าสนใจของ Shorts
อย่างไรก็ตาม วิสัยทัศน์ในการสร้างสรรค์ฟีเจอร์ใหม่อย่าง Shorts ขึ้นมานั้น เป็นเพราะ YouTube ต้องการที่จะเพิ่มโอกาสให้แก่เหล่าครีเอเตอร์ได้สร้างสรรค์พร้อมกับส่งเสริมให้เหล่าครีเอเตอร์รุ่นใหม่ สะดวกในการสร้างคอนเทนต์แนวใหม่ๆ ผ่านอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่อย่างสมาร์ทโฟนให้ถ่ายและตัดต่อได้ไวขึ้น
วิธีการสร้างคอนเทนต์ก็ง่ายมากๆ เพียงแค่กด Create a Short ซึ่งช่วงแรกจะมีให้เริ่มต้นทำคอนเทนต์ความยาวไม่เกิน 15 วินาทีไปจนถึงไม่เกิน 60 วินาที และมีเครื่องมือง่ายๆ ให้ใช้งาน เช่น ใส่เพลง ตัดความยาวคลิป ใส่ตัวอักษร ปรับฟิลเตอร์ให้สวยงาม เพิ่มความเร็วของคลิป นับเวลา หรือใส่ green screen เพื่อทำเนื้อหาสนุกๆ ก็ได้
อย่างไรก็ตาม เพลงที่เปิดให้ใส่ฟรีในคลิปเพื่อเผยแพร่ในช่องทางของ Shorts นั้นจะไม่สามารถดาวน์โหลดไปใช้ในช่องทางอื่นๆ ได้ เพราะเป็นเรื่องของลิขสิทธิ์ แต่สามารถใส่เล่นใน Shorts เพียงช่องทางเดียวแม้แต่ใน YouTube แบบปกติก็ตาม
ความพิเศษของ Shorts ก็คือตอนนี้เป็นช่วง Beta จึงเป็นโอกาสดีมากๆ สำหรับครีเอเตอร์หน้าใหม่ที่อยากสร้างตัวตน เพราะแทบทุกคนที่เปิดเข้ามาจะมีโอกาสเจอคุณ เพราะตอนนี้เหมือน YouTube เปิดกว้างให้คอนเทนต์ของทุกคนเข้าถึงฟีดของคุณง่ายขึ้น เพราะระบบของ YouTube Shorts จะแสดงผลในหน้าแรกของ YouTube (ตามภาพด้านบน) ทำให้ผู้ชมที่เปิดแอป YouTube ขึ้นมาก็จะเห็นในแถบเครื่องมือ Shorts Beta หรือเข้าที่ฟีเจอร์ Shorts ก็ได้
แนวทางปฏิบัติสำหรับ Shorts
สำหรับครีเอเตอร์หน้าใหม่ที่อยากทำ YouTube Shorts ก็จำเป็นต้องกำหนดแนวทางของช่องก่อน คือ ต้องรู้ว่าคนดูของเราเป็นใคร ชอบคอนเทนต์แบบไหน ช่วงอายุเท่าไหร่ มีข้อมูลอะไรที่ควรนำมาใช้ในการกำหนดเป็นแนวทางการทำคอนเทนต์บ้าง หากเป็นครีเอเตอร์หน้าเก่าสามารถแยกช่องใหม่ออกมาเพื่อจับกลุ่มดูฐานใหม่ๆ ก็ได้
นอกจากนี้ ควรมีแผนงานเกี่ยวกับความถี่ในการอัปโหลดว่าจะมีจำนวนเท่าไหร่ต่อสัปดาห์ และเนื้อหาจะเป็นแนวไหน แบบต่อเนื่องหรือจบในตอน จะอัพเดททุกวัน วันเว้นวัน หรือสัปดาห์ละครั้ง ก็ต้องวางแผนงานและโปรดักชั่นที่คิดให้ดีเพื่อให้การทำคอนเทนต์เป็นไปอย่างสม่ำเสมอ และผู้ชมก็สามารถเห็นคอนเทนต์ของคุณอย่างต่อเนื่องไม่ลืมช่องของคุณด้วย
ทั้งนี้ อารมณ์หรือเส้นเรื่องของการสร้างคลิปควรปรับให้เหมาะกับเหตุการณ์ไม่ใช่เนื้อเรื่องไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน เช่น ถ้าทำละครสั้นก็ควรทำเรื่องราวให้ต่อเนื่องและจริงจังจนจบ ไม่ใช่ปล่อยยาวจนน่าเบื่อหรือพูดวนจนไม่น่าสนใจ เพราะการสร้างคอนเทนต์บน Shorts ที่ดีคือต้องดึงดูดความสนใจผู้ชมได้ตั้งแต่ใน 2-3 วินาทีแรกเพราะจะเป็นตัวตัดสินว่าผู้ชมจะดูจนจบหรือเลื่อนผ่าน
เมื่อคุณทำคอนเทนต์มาระยะหนึ่งแล้วก็ควรที่จะตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับคลิปของคุณบ้าง ว่างานชิ้นไหนของคุณได้รับความนิยม ผู้ชมที่ชมจนจบคือใครและมีความคิดเห็นอย่างไร ช่วงเวลาในการเข้าชมนานแค่ไหน เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างคอนเทนต์ครั้งต่อๆ ไป
สุดท้ายคือไม่ต้องเล่าบริบทเยอะ ถึงแม้ว่าผู้ชมจะไม่รู้จักคุณมาก่อน แต่ถ้าคอนเทนต์ของเขาตรงจริต พวกเขาก็จะเลือกกดติดตามคุณและกลับมาดูซ้ำบ่อยๆ แต่ถ้าเนื้อเรื่องของคุณไม่น่าสนใจถึงจะขึ้นในหน้าแสดงผลผู้ชมก็จะเลื่อนผ่านอย่างไวเช่นกัน ดังนั้นควรทำคอนเทนต์หลายๆ แบบเพื่อเป็นแนวทางว่าคอนเทนต์แบบไหนของคุณที่สามารถดึดดูดใจผู้ชมจนกลายมาเป็นฐานแฟนในอนาคตได้