Site icon Thumbsup

วิเคราะห์เศรษฐกิจไทยยังชะลอ วิจัยกรุงศรีชี้ต้องรอดูระยะยาว

แม้ว่าวิกฤตโควิด-19 จะมีทิศทางที่ดีขึ้นหลังจากพบวัคซีนที่เข้ามาช่วยเหลือเรื่องโรคภัยไข้เจ็บได้ แต่เรื่องของเศรษฐกิจนั้นดูเหมือนว่ายังไม่มีวัคซีนใดที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง เพราะผลกระทบที่ทุกคนในโลกต้องเจอนั้นไม่ใช่แค่ภายในประเทศ แต่เป็นทั่วโลกที่เจอทั้งปัญหาการว่างงาน การชะลอการลงทุน รวมไปถึงการไม่สานต่อเรื่องเงื่อนไขต่างๆ ทำให้ทั่วโลกต้องเจอปัญหากันแบบต่อเนื่องจนถึงปีหน้า

ทางด้านของประเทศไทยเอง ถ้าตัดเรื่องการเมืองออก เราก็ยังมีโอกาสที่จะฟื้นตัวจากการลงทุนและใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง และส่งออกก็น่าจะฟื้นตัวจากการสนับสนุนการผลิตในประเทศ แม้โอกาสการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะยังน้อยก็ตาม

วิเคราะห์ภาพรวมปีนี้และโอกาสปีหน้า

ดร. สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การปรับเพิ่มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2563 สะท้อนตัวเลข GDP ไตรมาส 3/2563 ที่ออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ไว้

ทั้งนี้ การใช้จ่ายของภาครัฐมีการเร่งตัวขึ้นและการส่งออกสินค้าดีกว่าคาด เมื่อมองไปข้างหน้า การเติบโตของเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะกลับมาเป็นบวกตั้งแต่ไตรมาส 2/2564 ด้วยปัจจัยหนุนจากฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า การเร่งใช้จ่ายภาครัฐ และการฟื้นตัวตามวัฏจักรของอุปสงค์ภายนอกประเทศ

ทางทีมวิจัยกรุงศรี มองเห็นความท้าทายรออยู่ข้างหน้าท่ามกลางปัจจัยลบจากสถานการณ์ในประเทศ ขณะที่การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวจะช้ากว่าปัจจัยขับเคลื่อนอื่น ทำให้เกิดกำลังการผลิตส่วนเกินจำนวนมากในภาคบริการ ภาวะการว่างงานยังคงส่งผลกระทบต่อรายได้และการใช้จ่ายของผู้บริโภค

ขณะที่สถานการณ์การเมืองในประเทศอาจฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจและสร้างความกังวลในเรื่องความต่อเนื่องของนโยบายเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม การส่งออกจะเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโต โดยการลงทุนภาคเอกชนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกจะค่อยๆ ฟื้นตัว นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสเติบโตจากแนวโน้มการพึ่งพากันภายในภูมิภาคมากขึ้น (Regionalization) ซึ่งจะช่วยสนับสนุนภาคส่งออกและภาคการผลิตของประเทศในระยะปานกลาง 

“ในปีหน้าภาพรวมเศรษฐกิจก็ยังคงมีความไม่แน่นอน แต่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานยังคงเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน ขณะเดียวกันก็ควรมีกฏหมายออกมาควบคุมให้เหมาะสม”

นอกจากนี้ ถ้าไม่นับเรื่องการเมือง ด้านความเชื่อมั่นของนักลงทุนยังคงมองไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความน่าลงทุนเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน แต่สิ่งที่จะทำให้เขาอยากมาลงทุนคือเรามีเงื่อนไขภายใต้การลงทุนดึงดูดพอหรือไม่ ต้องผลักดันความสามารถของประเทศให้มากเพื่อประโยชน์ของประเทศ รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้คนในประเทศให้มากขึ้น

นอกจากนี้ การที่นักลงทุนย้ายไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านนั้นก็เป็นอีกเรื่องที่ดี เพราะบางธุรกิจอาจจะไม่เหมาะผลิตในไทย การกระจายก็ช่วยส่งเสริมให้ประเทศเพื่อนบ้านมีโอกาสขยับตัวเช่นกัน สิ่งที่ภาครัฐและเอกชนควรทำคือ สร้างจุดเด่นของประเทศไทยให้มากขึ้น มองให้ออกว่าจุดเด่นของเราคืออะไร

“บางทีเราอาจยังไม่รู้ว่าไทยและยังผลักดันไม่ถูกจุด ต่างชาติจะมองว่าไทยเรามีความโดดเด่นมากเรื่องเฮลท์แคร์ สินค้าอิเลคทรอนิคส์ การเกษตร อาหาร แต่เรามองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติทำให้ไม่สนใจและไม่ยกระดับสิ่งเหล่านี้ แต่ไปให้ความสนใจที่ปลายทาง”

รวมไปถึงการผลักดันธุรกิจสายพันธุ์ใหม่หรือสตาร์ทอัพไทย ก็ยังต้องรอเวลาในเรื่องของการเข้าสู่ตลาดว่าสตาร์ทอัพไทยได้รับการผลักดันและมีความสามารถพอหรือยัง รวมทั้งธุรกิจเหล่านี้มีกำลังในการระดมทุนได้แค่ไหน ถ้าสตาร์ทอัพไทยสามารถยืนหยัดได้ด้วยสองเรื่องนี้ก็มีโอกาสช่วยไดร์ฟเศรษฐกิจให้โตขึ้นเช่นกัน

นักท่องเที่ยวยังติดลบ

ทั้งนี้ ในปี 2564 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม (งบประมาณพิเศษของรัฐบาลวงเงิน 2 แสนล้านบาท) และกำลังซื้อจากกลุ่มชั้นกลางและกลุ่มที่มีรายได้สูง จะเป็นปัจจัยหนุนการบริโภคภาคเอกชนเติบโตต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี แนวโน้มการเติบโตจะถูกจำกัดจากปัจจัยบวกที่หายไปของอุปสงค์ที่อั้นไว้จากช่วงก่อน การสิ้นสุดของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และผลกระทบจากวิกฤตโควิดโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาการว่างงานและหนี้ 

ด้านองค์การการค้าโลก (WTO) คาดการณ์ว่าการเติบโตของยอดส่งออกโลกจะกระเตื้องขึ้นเป็นบวก 7.2% ในปี 2564 จากคาดการณ์ที่ -9.2% ในปี 2563 นอกจากนี้ ยังมีโอกาสการเติบโตในระยะปานกลางจากภูมิภาคอาเซียนที่กำลังขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและแนวโน้มการพึ่งพากันภายในภูมิภาคมากขึ้น (Regionalization)  

อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังไม่เปลี่ยนแปลง

แม้มีการปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจ วิจัยกรุงศรี มองว่าผลบวกจากการฟื้นตัวตามวัฏจักรเศรษฐกิจจะถูกจำกัด เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีการพึ่งพาการท่องเที่ยวสูงมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจ การจ้างงานและรายได้ ความเสียหายจากวิกฤตโควิด-19 อาจรุนแรงมากขึ้นจากมาตรการจำกัดการเดินทาง การตอบสนองด้านนโยบายที่ไม่เพียงพอ และความตึงเครียดทางการเมืองที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เปราะบาง อัตราเงินเฟ้อที่ยังต่ำ และนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษของธนาคารกลางหลักๆ ทั่วโลกบ่งชี้ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยจะยังคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ตลอดปี 2564

นอกจากนี้ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันในภาคธุรกิจต่างๆ ทำให้การใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินมีแนวโน้มเป็นแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น และอาจมีการออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นมาตรการช่วยเหลือเพื่อให้ธุรกิจดำเนินอยู่ได้ ไปจนถึงมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาด้านสภาพคล่องในลักษณะวงจรขาลง